"ไอติม พริษฐ์" กับมุมมองประเทศไทยของคนรุ่นใหม่ใน 25 ปีข้างหน้า

"ไอติม พริษฐ์" กับมุมมองประเทศไทยของคนรุ่นใหม่ใน 25 ปีข้างหน้า

"ไอติม พริษฐ์" กับมุมมองประเทศไทยของคนรุ่นใหม่ใน 25 ปีข้างหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อกล่าวถึงชื่อของ ไอติม พริษฐ์ ถ้าเป็นช่วงเวลา ไม่กี่ปีก่อนหน้า เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะจดจำเขาภายใต้ชื่อของการเป็นทายาทของนักการเมืองดัง แต่ถ้าหันมามองในปัจจุบัน ต้องบอกเลยว่าเขามีดีและไปได้ไกลกว่าคำว่าทายาทนักการเมือง เพราะ ไอติม พริษฐ์ ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนักการเมืองไทย ที่มีเป้าหมายที่จะจัดการปัญหาและดูแลรวมไปยันการเข้าถึงประชาชนที่แท้จริง จนเรียกว่าเป็นนักการเมืองสายเลือดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

ซึ่งในครั้งนี้ Sanook Campus เราก็ได้มีโอกาสที่ได้พูดคุยถึงมุมมองและเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลกประเทศกับ ไอติม พริษฐ์ กันอย่างสุดเอ็กซ์คลูซีฟ จึงไม่รอช้าที่จะนำความคิดและเป้าหมายของเขามานำเสนอให้กับเพื่อนๆ ได้รู้จักผู้ชายที่ชื่อ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ให้มากขึ้นกันซักหน่อย

"ไอติม พริษฐ์" กับมุมมองประเทศไทยของคนรุ่นใหม่ใน 25 ปีข้างหน้า

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

แนะนำตัวกับชาว Sanook หน่อย ตอนนี้มีผลงานหรือกำลังทำโปรเจคอะไรอยู่?

สวัสดีครับผม ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ปัจจุบันเป็นผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคก้าวไกลครับ และตอนนี้ก็พยายามจะผลักดันชุดกฎหมายที่เราต้องการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นครับ

ในมุมมองของไอติม คิดว่า ไอติม พริษฐ์ คือใคร

การประเมินตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักนะครับ แต่ถ้าให้ประเมินตัวเองผมก็คิดว่าผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงนะครับ ตอนนี้ก็อายุ 30 ปีแล้วครับ ก็ถือว่าเป็นคนที่ยังมีไฟอยู่ ยังมีหลายอย่างที่อยากจะทำให้สำเร็จในช่วงชีวิตของตนเองครับ

ผมคิดว่าพอก้าวเข้าสู่วัย 30 เนี่ยมันก็มีความน่าตื่นเต้นใน สองมิติ มิติที่หนึ่ง คือ ความน่าตื่นเต้น ส่วนตัวเลยคือผมคิดว่าในช่วง 20 ถึง 30 เนี่ยเราก็ได้มีโอกาสทำงานหลายอาชีพจบมาก็เป็นพนักงานบริษัทเอกชนก่อน เคยได้มีโอกาสบริหารบริษัทที่พัฒนาแอปพลิเคชันในการศึกษาแล้วก็ตอนนี้ก็เข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัวครับ ได้รับความไว้วางใจให้เขามาเป็นผู้แทนราษฎรครับ

ถ้ามองช่วง 20-30 เป็นช่วงในการเพิ่มเติมเสริมประสบการณ์ในหลากหลายอาชีพนะครับ ก่อนที่จะลงเอยที่การทำงานการเมืองเต็มตัวครับ จากอายุ 30 เป็นต้นไป คิดว่าก็เป็นช่วงเวลาที่ผมอยากจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้จริง ผ่านบทบาทตัวเองใหม่สภาครับ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายในฉบับที่เราคิดว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นนะครับ เมื่อเราได้รับความวางใจจากประชาชนมาแล้วก็อยากจะขับเคลื่อนแล้วก็ใช้เวลา 4 ปีให้คุ้มค่าในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ในอีกมุมความน่าตื่นเต้นอีกมิติ อาจจะเป็นในมิติที่มันกว้างกว่าแค่ตัวเรา คือผมคิดว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญสำหรับการเมืองไทย สำหรับอนาคตประเทศไทย ผมมองว่าปัจจุบันมันเปลี่ยนเหมือนกับเกมชักเย่อนะ คือในมุมหนึ่งเรามีระบบหรือว่ากฎหมายที่มันมีความล้าหลังมีความถดถอย โดยเฉพาะในเชิงประชาธิปไตยพอสมควรครับ อย่างที่รูปธรรมที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือรัฐธรรมนูญบางตัว ที่เราเห็นว่ามีเนื้อหาหลายอย่างที่มันเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ มันทำให้ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการเข้ามาขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าขึ้น ให้มีการวิถีประชาธิปไตยมากขึ้นให้มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรมมากขึ้นเท่าทันโลกมากขึ้น ให้มีสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยลง ก็เลยคิดว่าในมุมนึงมันด้วยวัยวุฒิก็มีความน่าตื่นเต้นในเชิงของมิติส่วนตัวและกำลังก้าวสู่ช่วงที่น่าจะได้มีโอกาสขับเคลื่อนการเปลี่ยนไปเป็นอย่างเป็นรูปธรรม ที่อยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตประเทศไทยเช่นกันครับ

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

เมื่อนึกถึงไอติมหลายๆ คนจะคิดถึงเรื่องการศึกษาทั้งตำแหน่งที่เป็นผู้จัดการ การศึกษา/รณรงค์นโยบาย รวมไปถึงยังเป็นผู้ก่อตั้งแอปการศึกษา ทำไมไอติมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ?

ผมมีความสนใจเรื่องของการศึกษาก็เพราะว่าผมมีความเชื่อจริงๆ ว่าการศึกษาเนี่ยเป็นกลไกที่สำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ถ้าเราพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศเนี่ย ผมมักจะเปรียบเทียบประเทศเหมือนกับเค้กก้อนนึง รวมรายได้ของคนทุกคนในประเทศนั้นเข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน การจะทำให้เค้กดีขึ้นหรือการจะพัฒนาให้ประเทศดีขึ้นผมคิดว่ามันมี 3 เป้าหมายหลัก

  • เป้าหมายที่ หนึ่ง คือทำให้เค้กก้อนนี้มันโตขึ้น คือเป็นการทำให้เศรษฐกิจมันขยายตัว ทำให้เศรษฐกิจมันเจริญเติบโต รายได้ของทุกคนในประเทศรวมกันเนี่ยมันใหญ่และสูงขึ้น
  • เป้าหมายที่ สอง นอกจากจะเค้กจะโตแล้ว เค้กต้องถูกแบ่งอย่างเป็นธรรมด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าเค้กโตแต่ว่ามีแค่คนไม่กี่คนที่สามารถรับประทานเค้กก้อนนี้ได้ อันนี้ก็คือพูดถึงมิติในการพัฒนาประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้นทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
  • เป้าหมายที่ สาม นอกจากเค้กจะโตแล้ว เค้กจะแบ่งอย่างเป็นธรรมแล้ว เค้กก็ต้องอร่อยด้วยนะครับ ความอร่อยของเค้กทีนี้ผมก็ตีความว่าหมายถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนและโอบรับความหลากหลายนะครับ

เพราะฉะนั้นอันนี้คือ 3 เป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาประเทศจะทำให้เศรษฐกิจโต เค้กโตขึ้น ทำให้เราลดความเหลื่อมล้ำที่เค้กถูกแบ่งอย่างไม่เป็นธรรม แล้วก็ทำให้เค้กมันอร่อยหรือว่าอยู่ภายใต้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่หนึ่ง ที่มีความสำคัญในการฟูมฟักและก็เผยแพร่ข้อมูลด้านประชาธิปไตยก็คือห้องเรียนครับ ยิ่งเรามีห้องเรียนทั่วประเทศที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักเรียน และเปิดให้นักเรียนสามารถมีเสรีภาพในการแสดงออกได้นะ มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างได้ เป็นวัฒนธรรมในห้องเรียนที่เคารพสิทธิโอบรับความหลากหลาย เปิดให้นักเรียนแต่ละคนได้เป็นตัวของตัวเองครับ อันนี้ก็จะเรียกว่าเป็นการฟูมฟักค่านิยมประชาธิปไตยที่จะแพร่หลายออกไปสู่สังคมเช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าการศึกษาเนี่ยมันไปอยู่ในทุกจุด หรือว่าไปอยู่ในทุกๆ มิติของการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือว่าการส่งเสริมค่านิยมด้านประชาธิปไตยก็ตาม ผมก็เลยมองว่านะครับถ้าเราอยากจะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นเนี่ย มันหนีไม่พ้นการพัฒนาแก้ปัญหาที่มีอยู่เรื่องการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพก็ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ดีหรือว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังคงมีอยู่ในห้องเรียนในประเทศไทย

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

ปัญหาเรื่องการศึกษาของไทยเรื่องไหนที่ไอติมมองว่าควรเข้าไปแก้ไขเป็นอันดับแรก?

ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการศึกษาไทยเนี่ย ไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งมี แต่มันจะเป็นปัญหาที่เราพูดมายาวนานมากนะครับผมสรุปได้แต่ก็มี 3 อย่างปัญหาที่หนึ่ง ก็คือที่เรื่องคุณภาพ ที่ทำยังไงให้เรามีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักเรียนและบุคลากรของเราที่มันเท่าทันโลก ปัญหาที่สองคือเรื่องความเหลื่อมล้ำนะครับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน แล้วก็ปัญหาที่ 3 ก็คือเรื่องของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังคงมีอยู่ในโรงเรียนทำให้นักเรียนอาจจะยังรู้สึกไม่ปลอดภัยในการมาเรียนที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางร่างกายความปลอดภัยทางจิตใจหรือว่าความปลอดภัยจากการถูกละเมิดสิทธิ

ซึ่งในมุมมองของผมเนี่ยผมคิดว่าถ้าเราอยากจะแก้ไขปัญหาการศึกษาเหล่านี้เนี่ยเราต้องเติมเรียกว่าสอง E เข้าไปในระบบการศึกษา

  • E ที่หนึ่ง คือ Efficiency หรือประสิทธิภาพ
  • E ที่สอง คือ Empathy หรือว่าความเห็นอกเห็นใจเข้าอกเข้าใจผู้เรียน

E ที่หนึ่ง Efficiency ด้วยประสิทธิภาพ เราจะเห็นว่าที่ผ่านมา ระบบการศึกษาของเรามีหลายส่วนที่ยังไม่สามารถแปลงอินพุต หรือสิ่งเราใส่เข้าไปอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราปรารถนานะครับ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเนี่ยเด็กไทยถือว่าเรียนหนักเป็นหลักต้นๆ ของโลกจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีอยู่ที่ 1,200 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศทั่วโลกมากนัก แต่หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ สามารถแปลเวลาเหล่านั้นออกมาเป็นทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้

ถึงแม้ไทยจะเป็นประเทศที่เรียนหนักที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก แต่พอเราไปดูตารางที่มีการวัดทักษะของเด็กและเยาวชนในเรื่องทักษะที่เรียน จะเห็นว่ายังมีหลากหลายมิติที่เราตามหลังหลายประเทศอยู่นะครับ อันนี้คือชัดเจนความล้มเหลวของประสิทธิภาพของหลักสูตรในการแปลเวลานักเรียนออกมาเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อสำหรับนักเรียนในอนาคต

ที่เห็นได้ก็คือประสิทธิภาพในการแปลงงบประมาณนะครับ เรารู้ว่ากระทรวงศึกษาก็เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณระดับต้นๆ มาโดยตลอด แต่ว่าระบบการจัดสรรงบประมาณของเรามีการใช้งบประมาณที่ไม่สามารถแปลเม็ดเงินเหล่านั้นออกมาเป็นสิ่งที่รับประกันสิทธิให้เด็กนักเรียนทุกคน สามารถเรียนฟรีได้ ถึงจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่เราเห็นว่าการเรียนฟรีนั้นยังไม่มีอยู่จริง มันยังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษาอยู่ ซึ่งทำให้ครัวเรือนยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอยู่ เป็นผลทำให้การศึกษาฟรีนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงนะครับ

นอกจากนั้นเราก็เห็นว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีจำนวนครูที่น้อยนะครับ แต่ว่าเวลาทำงานของคุณครูเนี่ยถูกเสียไปกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเลยนะครับ โดย 40% ของเวลาคุณครูเนี่ยเคยมีการคำนวณมาว่าถูกใช้ไปกับสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการพัฒนาผู้เรียน เพราะฉะนั้นระบบก็ยังไม่มีประสิทธิภาพในการแปลงความขยันเวลาทำงานคุณครูออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เราจะเห็น หรือว่าสิ่งเราอยากให้คุณครูนั้นใช้เวลาทำงานในการเรียนการสอนเป็นหลัก

ส่วน E สอง Empathy หรือว่าการเห็นอกเห็นใจ การเข้าอกเข้าใจผู้เรียน ผมคิดว่าโดยพื้นฐานเนี่ยเราต้องเข้าใจว่านักเรียนแต่ละคนก็มีความแตกต่างหลากหลายนะครับ แต่ละคนมีความถนัดมีความชอบที่ไม่เหมือนกันครับ เพราะฉะนั้นเราออกแบบการศึกษาที่พยายามจะใช้ไม้บรรทัดแบบเดียวมาวัดเด็กทุกคนเนี่ย ผมคิดว่าเป็นการออกจากการศึกษาที่ไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายของผู้เรียนนะครับ จะทำยังไงให้เราคำนึงถึงความต้องการและความชอบที่แตกต่างกันของผู้เรียนได้ มันก็จะเป็นโจทย์เรื่องการทำยังไงให้โรงเรียนปลอดภัยไร้อำนาจนิยม ปลอดภัยทั้งร่างกาย ปลอดภัยทางสภาพจิตใจ เด็กไม่เจอระบบการศึกษาที่ทำให้เครียดกว่าเดิม ทำยังไงให้โรงเรียนนั้นไม่มีวัฒนธรรมด้านลบ ไม่มีการละเมิดสิทธินักเรียนครับ

นอกจากนั้นเราควรมีการศึกษาที่รับความหลากหลาย อาจจะต้องมีการกระจายอำนาจให้โรงเรียนมากขึ้น ในการให้โรงเรียนนั้นมีอำนาจในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะกับพื้นที่ หรือว่าเหมาะกับนักเรียนในบริบทโรงเรียนของตนเอง หรือว่าทำยังไงให้เรามีการคำนึงถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หลากหลายวัตถุประสงค์มากขึ้น คือเราก็ต้องมองว่าการศึกษาไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในศึกษาอย่างเดียวแต่ทำยังไงให้ นักเรียน เด็ก และเยาวชนสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ด้วยเช่นกันนะครับ รวมไปถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตแม้กระทั่งในวันที่อาจจะจบจากสถานศึกษามาแล้วนะครับ

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

ลองเล่าการใช้ชีวิตอยู่ที่ โรงเรียน หน่อย เราเข้าหาเพื่อนยังไง ปรับตัวยังไง ใช้อะไรที่ทำให้เราสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ได้บ้าง?

ผมไปเรียนที่อังกฤษตอนอายุ 13 ซึ่งมันทำให้เราอาจจะเริ่มมีการเปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยกับระบบการศึกษาที่อังกฤษ ผมคิดว่าความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดครับ

เราจะเห็นว่าวิธีการสอนแต่ละวิชาที่โรงเรียนที่อังกฤษ เขาพยายามจะส่งเสริมให้เด็กฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ตอนสมัยผมเรียนอยู่ที่ประเทศไทย เราจะคุ้นเคยกับวิชาที่เน้นการท่องจำ

ยกตัวอย่างสำหรับโรงเรียนมัธยมที่อังกฤษ แน่นอนว่าเบื้องต้นก็จะมีการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจะไม่เน้นในการท่องจำ แต่จะเป็นการเน้นตั้งคำถามให้ถกเถียงได้แลกเปลี่ยนความคิด เช่นเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง ก็จะไม่เน้นแค่การท่องจำว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็เอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีหลายมุมมองมาถกกัน ให้เด็กศึกษาจากหลากหลายหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ด้วยตนเอง ว่ามุมมองไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ดังนั้นคำตอบที่เด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่มีคำตอบถูกผิด เป็นการฝึกว่าเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายและสังเคราะห์ออกมาเป็นมุมมองเราอย่างไรบ้าง ผมว่าเป็นความแตกต่างที่เห็นชัดว่าเป้าหมายของการเรียนการสอนที่นี่ จะมีบทบาทสำคัญในการฟูมฟักทักษะการคิดวิเคราะห์ครับ

นอกจากนั้นยังมีคำนึงถึงความหลากหลายของผู้เรียน ผมจำได้เลยว่าประโยคแรกที่ได้ยินจากคุณครูที่ปรึกษาประจำหอพัก เขาจะพูดประมาณว่าอยากให้ใช้เวลา 5 ปีที่อยู่ที่โรงเรียนค้นให้เจอว่าคุณชอบอะไร เพราะว่าเค้ามองว่าการศึกษา เป็นพื้นที่ ที่แต่ละคนจะได้ค้นพบตัวเองว่าชอบไม่ชอบอะไร ไม่ได้เป็นเรื่องผิดที่คุณจะชอบบางอย่าง มากกว่าบางอย่าง และเมื่อคุณเริ่มค้นพบว่าชอบอะไรก็อยากจะให้พยายามจะเพิ่มทักษะความรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่ชอบเพิ่มเติมเข้าไป โดยใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการทำสิ่งนั้น ผมคิดว่ามันเป็นพื้นที่ ที่บ่มเพาะความชอบและความถนัดที่มันแตกต่างนะครับ ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่เราอยากจะเห็นในวงการศึกษาไทยเช่นกันครับ

นิสัยอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าใช้ชีวิตมา 30 ปีแล้วอยากจะเลิกซะที?

ความจริงอาจมีหลายอย่างอยู่นะครับแต่ถ้าพูดถึงเรื่องการทำงาน ผมคิดว่าอันนึงที่พอยิ่งเราอายุมากขึ้นเนี่ย เราค้นพบว่าเวลาเนี่ย เป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีจำกัดมากนะครับ คือย้อนไปวัยเรียนเนอะ ในวัยเรียนเนี่ยตารางเรียนในแต่ละวัน เรามักจะถูกกำหนดโดยคนอื่นใช่ไหมครับ แต่พอเราเรียนจบ เราก็ต้องเริ่มมาบริหารจัดการด้วยตัวเอง พอเรายิ่งอายุมากขึ้นมีสิ่งที่อยากทำมากขึ้น อย่างตอนนี้ผมก็ทำงานการเมือง มีหลายอย่างมากที่เราอยากจะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามีเวลาในรอบนี้ก็แค่ 4 ปี ก่อนที่เราต้องไปสมัครงานใหม่ ผ่านการเลือกตั้งกับประชาชนอีกครั้ง ก็อยากใช้เวลา 4 ปีคุ้มค่านะครับ

เพราะฉะนั้นเนี่ยสิ่งที่สำคัญคือเราจะบริหารจัดการเวลาอย่างไร อาจจะมีบางอย่างที่เราต้องยอมลดบางอย่างที่เราต้อง ห้ามลด ซึ่งทักษะในการบริหารจัดการเวลาก็จะเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้นครับ นิสัยที่ผมคิดว่าต้องจัดการสำหรับตัวผมเอง ผมว่าต้องเป็นต้องเป็นศิลปะในการยอมลดเวลากับบางอย่างเพื่อให้เรามีเวลาเพียงพอในการขับเคลื่อนสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ

ส่วนอีกอันหนึ่ง ที่อาจจะเป็นมุมส่วนตัวนะ พอเราก้าวเข้าสู่วัย 30 เนี่ยเรื่องสุขภาพก็เป็นสิ่งที่คนก็จะเตือนกันมากขึ้นครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินก็ดีนะครับ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นเวลานอนเวลาพักผ่อนที่เตรียมพร้อมก็ดีนะครับ ผมคิดว่าพอเนี่ยพอก้าวเข้าสู่วัย 30 เนี่ย ผมคิดว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่เราก็คงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นครับ

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

เด็กสมัยนี้ คือคำที่ผู้ใหญ่มักจะพูดในเชิงตำหนิเด็กที่มีความคิดเชิงนอกกรอบ สำหรับไอติม เด็กสมัยนี้ คือเด็กแบบไหน?

ครับคือผมก็ไม่อยากจะให้ผู้ใหญ่ใช้คำว่าเด็กสมัยนี้ลักษณะเชิงลบแบบนั้นเนอะ ผมคิดว่าต้นตอปัญหาส่วนหนึ่งมันก็คือปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างรุ่นกับ การที่คนรุ่นอาจมีความคิดค่านิยมความเชื่อที่แตกต่างออกไปนะครับ แต่ผมคิดว่าท้ายสุดแล้วเนี่ยประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ก็ต้องอาศัยจุดแข็งของคนทุกรุ่นมาร่วมมารวมกันขับเคลื่อนนะครับ เพราะงั้นก็ไม่อยากจะให้คนรุ่นก่อนมองมาที่คนรุ่นใหม่ด้วยความคิดถ้าเกิดว่าหากใช้วลีเด็กสมัยนี้เป็นเชิงลบเนี่ยก็ไม่อยากให้มองแบบนั้นครับ

คือผมก็อยากจะให้เห็นผู้ใหญ่พยายามทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้นนะครับ แล้วก็ตระหนักว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนแต่รุ่นนี้อาจจะคิดแตกต่างออกไปนะครับ จะเห็นว่าผมใช้คำว่า ความแตกต่างระหว่างรุ่น ไม่ใช่ว่าความแตกต่างระหว่างวัย เพราะผมคิดว่าเราไม่ควรจะอยู่ในกรอบ เพราะคิดว่าเด็กสมัยนี้จะต้องคิดเหมือนที่ที่เราเป็นเด็กด้วยซ้ำนะครับ เพราะความแตกต่างมันก็ลึกซึ้ง พอคนวัยรุ่นเติบโตมาในโลกมันแตกต่างกันเนี่ยมันเป็นเรื่องปกติที่ค่านิยมที่เขายึดถืออาจจะแตกต่างออกไป

ผมยกตัวอย่างที่หลายคนพูดถึงนะครับ เช่นคำว่าชาติเนี่ยเราก็จะเห็นว่าค่านิยมที่คนแต่ละรุ่นให้กับคำว่าชาติเนี่ยก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เขามีช่วงที่เขาเติบโตขึ้นมา อย่างคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปนะครับ อาจจะเติบโตมาในยุคที่อยู่ในช่วงสงครามเย็น ก็อาจจะมีความหวาดระแวงการที่ต่างชาติมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าทำไมถึงแม้เราอาจจะพ้นยุคสงครามเย็นมาแล้ว แต่ก็อาจจะมีความระแวงว่าความกังวลเรื่องนี้อยู่มาถึงทุกวันนี้นะครับ

แต่ในมุมกลับกัน พอเราไปคุยกับคนรุ่นใหม่ อายุ 20 ปีลงไปเนี่ย เขาเติบโตมาในโลกที่เส้นแบ่งระหว่างแต่ละประเทศแต่ละชาติ มันจางเพราะว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์พอสมควร โลกออนไลน์เป็นโลกที่มันไม่มีเส้นแบ่งพรมแดน สามารถพูดคุยกับคนจากประเทศอื่นได้อย่างสะดวกสบาย งานวิจัยหลายแห่งก็จะชี้ว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนก็อาจจะไม่ได้มองตัวเองเป็นคนของชาติใดชาติหนึ่งขนาดนั้น แต่มองตัวเองเป็นคนของโลก เป็นพลเมืองโลกมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าประสบการณ์ที่แต่ละรุ่นเติบโตมามันแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องปกติ ที่คำเดียวกันอย่างคำว่า ชาติ ก็จะถูกตีความ มีความรู้สึก มีค่านิยมเกี่ยวกับคำที่แตกต่างกันออกไป

อยากให้เรามองว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเนี่ยต้องอาศัยจุดแข็งและความร่วมมือของคนทุกรุ่นนะครับ โลกที่เราเติบโตขึ้นมามันแตกต่างกันเนี่ยคนแต่ละรุ่นก็จะมีจุดแข็ง ความถนัดที่แตกต่างออกไปนะครับ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนประเทศเนี่ยอยากให้เราดึงจุดแข็งของแต่ละรุ่นเนี่ยมาขับเคลื่อนร่วมกันนะครับ

แล้วก็ถ้าจะเป็นเช่นนั้นได้เนี่ยผมคิดว่ามันมี 3 ขั้นบันไดที่ที่เราต้องทำนะครับหรือว่าที่คนรุ่นก่อนอาจจะต้องพยายามทำเพื่อโอบรับให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทการขับเคลื่อนประเทศได้ด้วย

  1. ขั้นต่ำที่สุดคือการได้ยิน คือการพยายามจะได้ยินว่าสิ่งที่เขาต้องการเขาอยากเห็นสิ่งที่เขาเชื่อมันคืออะไรครับทำยังไงให้ทุกพื้นที่ในประเทศนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนทุกรุ่นคนรุ่นใหม่ สามารถมีเสรีภาพในการแสดงออกพูดถึงความฝันของเขาได้ พูดถึงความเชื่อของเขาได้
  2. แต่ได้ยินอย่างเดียวไม่พอเราต้องมาขั้นที่ สอง คือต้องฟังด้วยเพราะว่าถ้าได้ยินว่าเขาต้องการอะไรไม่ได้เอาความเห็นของเขามาประกอบการตัดสินใจประกอบการกระทำของเราเลยเนี่ยมันก็อาจจะสูญเปล่านั้นนอกจากได้ยินแล้วขั้นที่สองคือต้องฟังด้วยฟังว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็นำความคิดของเขามาประกอบการตัดสินใจนะครับ
  3. ขั้นตอนสุดท้ายคือไม่ใช่แค่ได้ยินแล้วฟัง แต่ว่าปฏิบัติกับเค้าและเปิดพื้นที่ให้กับเขาในฐานะคนเท่ากัน คือไม่ใช่รักษาความสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่ลงไปคุยกับเด็กและก็ฟังว่าเด็กต้องการอะไรแล้วก็เอามาคิดต่อ แต่คือเป็นการปฏิบัติเขาแล้วเปิดพื้นที่กับเขาในฐานะคนเท่ากันมี หนึ่งสิทธิ์หนึ่ง เสียงเท่ากัน เป็นหุ้นส่วนร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศนี้

ผมคิดว่าถ้าเราในฐานะผู้ใหญ่ปฏิบัติกับคนรุ่นใหม่ในลักษณะแบบนี้คือไม่ใช่แค่ได้ยิน ไม่ใช่แค่ฟัง แต่ว่าโอบรับเขาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเท่ากันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ มันก็จะเป็นวิธีการที่ทำให้แม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติของแต่ละรุ่น แต่มันจะเป็นการดึงจุดเด่นของคนทุกรุ่นมาแล้วก็เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาร่วมขับเคลื่อนประเทศนี้ไปด้วยกัน

อีก 25 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้น คิดว่าเราจะได้มีโอกาสเห็นชื่อของ ไอติม พริษฐ์ เป็นแคนดิเดตนายกมั้ย?

ผมคิดว่าข้อนี้ ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนครับ ตอนนี้โฟกัสหลักของผมในตอนนี้ก็คือการทำหน้าที่ฐานะผู้แทนราษฎรให้ดีที่สุดนะครับ 4 ปีที่เราได้รับความไว้วางใจนี่มันเป็นเวลาที่อาจจะยังไม่เยอะมาก ผมก็เลยอยากจะใช้เวลาทุกวินาทีให้คุ้มค่า และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด หลักประชาธิปไตยทุก 4 ปีก็มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าผมจะมาลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรอีกรอบหนึ่ง ผมก็ต้องเอาผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาให้ประชาชนตัดสินและก็ประเมินครับว่าจะให้โอกาสผมกลับเข้ามาทำงานให้ประชาชนรึเปล่าครับ

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

มองสังคมในอีก 25 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร?

ด้วยความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้น มันยากมากที่จะคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก 25 ปีข้างหน้าเนอะ แต่ผมคิดว่าเราก็เริ่มเห็นแนวโน้ม ที่มันมีความน่ากังวลอยู่นะครับ ที่เราคงต้องคิดแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้นะครับ หลักๆ 3 อย่างที่ผมว่ามีความน่ากังวลเนอะ

อย่างที่หนึ่ง คือปัญหาเรื่องสังคมสูงวัย คือเวลาเราพูดสังคมสูงวัยเนี่ยมันไม่ได้เป็นปัญหาที่กระทบแค่ผู้สูงอายุรุ่นนี้ แต่ความจริงมันกระทบคนวัยทำงานรุ่นเรานี่แหละที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้สูงอายุด้วยนะครับ เพราะมันหมายความว่า สัดส่วนคนวัยทำงานเมื่อเปรียบเทียบคนของแรงงานมันลดน้อยลงจากสมัยก่อน อาจจะมีคนวัยทำงานสี่คนทำงานกันแล้วก็อาจจะมีการจ่ายภาษีเข้าไปสู่รัฐเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุหนึ่งคนเป็นต้น เข้าใจว่า ณ ปัจจุบันเร็วๆ นี้เนี่ยอัตรานี้ก็จะลดเหลือ สอง ต่อ หนึ่งนะครับแล้วก็ถ้าไม่ทำอะไรเลยอีกหลาย 10 ปี ข้างหน้าอาจจะลดเหลือ หนึ่ง ต่อ หนึ่ง เพราะฉะนั้นเนี่ยอันนี้ก็เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายต่อเศรษฐกิจมากนัก ถ้าเราไม่ทำอะไรมันหมายความว่าโปรดักทิวิตี้หรือว่าผลิตภาพแรงงานมันต้องเพิ่มขึ้นอยากมหาศาล

อย่างที่สอง ที่น่ากังวลก็คือ มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเนี่ยมันก็มีข้อดีอยู่พอสมควรแต่ ข้อเสียที่อาจตามมาคือเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานในหลายสาขาอาชีพมากขึ้น มันเริ่มมีเทคโนโลยีที่มาทดแทนอาชีพที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดว่าสักวันหนึ่ง จะมีเทคโนโลยีแทนมนุษย์ได้น่ะครับอย่างเรา ในบางประเทศสามารถทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาได้นะครับ จากการวิเคราะห์คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยวิเคราะห์กฎหมายนะครับ เราเริ่มเห็นว่ามีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เข้ามาทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมาทำแทนมนุษย์ได้เพราะเราไม่รู้ว่า 25 ปี ข้างหน้าจะมีอาชีพอะไรบ้างที่อาจจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นคนก็อยู่ในสภาวะที่เปราะบางขึ้นมีโอกาสที่จะตกงานได้ง่ายขึ้น

อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ว่าทำไมทางก้าวไกลให้ความสำคัญกับเรื่องด้านสวัสดิการ เพราะเรามองว่าในอนาคตความจำเป็นเรื่องสวัสดิการควรจะมีมากขึ้น เพราะว่าชีวิตเราอาจจะจะมีความเปราะบางมากขึ้น จากการที่อาชีพอาจจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและแน่นอนในมุมหนึ่ง เราก็ต้องการให้คนสามารถมีการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา แต่เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะฉะนั้นการมีสวัสดิการเป็นเหมือนตาข่ายผมครับประคับประคองคนในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากด้านหนึ่ง ไปสู่อีกด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้น

อย่างที่สาม คือเรื่องของปัญหาโลกร้อน เราจะทำยังไงให้เราสามารถลดเรื่องของการผลิตก๊าซเรือนกระจก แล้วก็ปัญหาโรคร้อนที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนก็เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศ หนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายประเทศทั่วโลกวันนี้

ผมว่าเป็น 3 ระเบิดเวลาใหญ่ๆ นะครับที่เราเอามาเผชิญอยู่ คือเรื่อง สังคมสูงวัย, เรื่องความเหลื่อมล้ำ-ความเปราะบางที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เทคโนโลยีทดแทนแรงงานในหลายสาขาอาชีพ และก็เรื่องของปัญหาโรคร้อนนะครับ เพราะฉะนั้นผมว่ามันคือ 3 ปัญหา ที่ต้องคิดตั้งแต่วันนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหามันบานปลายในปีข้างหน้าแต่เราไม่รู้ว่า 25 ปี ข้างหน้าจะมีปัญหาอะไรที่เราต้องเจอกันอีก

ไอติม พริษฐ์ไอติม พริษฐ์

ถ้าย้อนกลับไปได้อยากบอกกับตัวเองในวัย 25 ปี ว่าอะไร?

ถ้าย้อนกลับไปบอกตัวเอง 5 ปีที่แล้วจะบอกอะไร ผมคิดว่าก็คงเตือนตัวเองเรื่องสุขภาพนะครับ พอเราก้าวเข้าสู่วัย 30 เนี่ยอันนี้เราเริ่มตระหนักขึ้นได้ ก็คือเรื่องสุขภาพที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นครับ

แต่ผมก็มีสิ่งที่เวลาโดนถามคำถามนี้ แต่ไม่ได้อยากบอกตัวเองนะ แต่อยากจะบอกจะคุยกับคนวัย 25 ปี หรือคนรุ่นใหม่ในวันนี้นะครับว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือปัญหาภาวะซึมเศร้า เราเห็นว่าเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนไทยมีแนวโน้มที่เป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น หนึ่งเหตุผลที่นักวิชาการวิเคราะห์ มาจากการใช้โซเชียลมีเดีย แน่นอนว่ามันมีข้อดีหลายอย่างในการเข้าถึงข้อมูล ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า จากภาวะที่เราเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เราเห็นในโซเชียล มันอาจจะทำให้เรารู้สึกเฟล เริ่ม รู้สึกว่าทำไมเราเป็นไม่สามารถทำตามสิ่งที่หวัง และอาจจะทำให้เยาวชนหลายคนอาจจะมีสภาวะซึมเศร้าได้

ถึงแม้มันเป็นความปกติของมนุษย์ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบคนอื่น แต่ต้องพยายามยับยั้งชั่งใจ เพราะว่าท้ายสุดแล้วเนี่ยการเอาชีวิตตัวเองเป็นเรื่องอื่นที่เราเห็นผ่านคนบนโลกโซเชียลมีเดีย มันเป็นการเปรียบเทียบที่ค่อนข้างใจร้ายกับตัวเอง และไม่ค่อยเป็นธรรมไปซักหน่อย เหมือนกับการเอาหนังทั้งเรื่อง มาเปรียบเทียบกับตัวอย่างหนัง ที่เขาตัดมาเฉพาะสิ่งที่น่าดึงดูด น่าสนใจ แต่ชีวิตของเราอาจจะเพิ่งถึงแค่ซีนแรกของหนังทั้งเรื่องก็ได้ มันไม่สามารถเอาหนังทั้งเรื่อง มาเปรียบเทียบกับตัวอย่างหนังได้จริงๆ ครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ครับ

Sanook สนาน แค่ไหนกับชีวิตในวัย 25 ปี?

ตอนอายุ 25 หลายคนอาจจะไม่เชื่อนะครับ ตอนช่วงผมอายุ 25 เนี่ย เป็นช่วงที่ผมทำงานที่แรก ตอนนั้นน่าจะทำงานมาแล้วประมาณ 2-3 ปี ทำงานบริษัทเอกชน ตำแหน่ง Management Consultant ช่วยวิเคราะห์ปัญหาเชิงกลยุทธ์ให้กับบริษัทเอกชนทั่วโลก งานของผมในช่วงนั้นเรียกว่าเป็นงานที่หนักมาก จันทร์ถึงศุกร์ เลิกงาน สี่ทุ่มบ้าง เที่ยงคืนบ้าง ตีสองก็มี ถึงมันจะเป็นงานหนัก แต่เหมือนมันจะเป็นตลกร้ายอย่างหนึ่ง เพราะช่วงที่ทำงานในอายุ 25 ปี แต่ว่าเป็นช่วงที่ผมมีไลฟ์บาลานซ์ที่ดีที่สุดเลยนะครับ เพราะว่าอย่างน้อยวันเสาร์-อาทิตย์ มันสามารถวางแผนได้ วันที่ทำงานหนักก็ให้ไปเลย 5 วันก็เต็มที่กับมัน แต่อย่างน้อยเราได้รู้แล้วว่าเราจะได้มีวันหยุดแบบจริงๆ 2 วัน

แต่พอมาทำงานด้านการเมืองเนี่ย มันไม่สามารถมีวันหยุดได้ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะนักการเมืองไม่สามารถมีวันหยุดได้ เพราะว่าปัญหาประชาชนไม่เคยหยุดนะครับ ดังนั้นการบริหารจัดการเวลาให้เรามีเวลาพักผ่อนได้เพียงพอก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ถ้าจะย้อนไปว่า 25 ปี เราสนุกมากมั้ยในตอนนั้น ก็ต้องตอบได้เลยครับว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมบริหารจัดการและมีเวลาพักผ่อนได้ดีที่สุดในช่วงนั้นครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook