เมื่อผู้ปกครองเปิดกว้าง เด็กยุคใหม่จึงเมิน “สายวิทย์” ไปซบ “สายศิลป์”
ช่วงมัธยมปลายที่เด็ก ๆ หลายคนต้องเลือกว่าจะเรียนอะไรดีระหว่างสายวิทย์หรือสายศิลป์ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินอนาคตของพวกเขาเช่นกันว่าจะได้เดินตามความฝันของตัวเองหรือไม่ แม้จะเป็นอนาคตของเด็ก ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านมักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูก ๆ ด้วย และบางท่านอาจหนักถึงขั้นตัดสินใจให้เองเลยว่าลูกควรเรียนสายใด
ยิ่งถ้าลูกหัวดี เรียนหนังสือเก่ง ก็หนีไม่พ้นต้องไปทางสายวิทย์-คณิตก่อนเป็นลำดับแรก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่าสามารถปูทางไปสู่อนาคตที่ดี และมีโอกาสเลือกเรียนคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้มากกว่าการเรียนสายศิลป์
แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น และให้โอกาสลูก ๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ก้าวไปสู่อาชีพเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ
เมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้ถูกบังคับเหมือนแต่ก่อน ทำให้พวกเขาเทใจไปเรียนสายศิลป์กันมากขึ้น ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนมากขึ้น ขณะที่บางคนรู้ตัวว่าหากเรียนสายวิทย์ก็คงไปไม่รอด เพราะเรียนหนักกว่าและยากกว่า จึงเลือกมาทางสายศิลป์แทน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความชอบส่วนตัว
บ้างก็มองว่าอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในเวลานี้ อย่างการเป็น Blogger, YouTuber, Streamer หรือ Influencer ที่ได้ทั้งชื่อเสียงและเงินทองนั้น ล้วนเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ในเชิงวิชาการอย่างสายวิทย์แต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ฐานข้อมูลในระบบการสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) ประจำปี 2563 จึงพบว่ากลุ่มสาขาวิชาที่มีจำนวนการรับนิสิตนักศึกษาตามแผนมากที่สุด คือกลุ่มสาขาวิชาที่มาจากสายศิลป์อย่างมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ชี้ว่าการที่มหาวิทยาลัยรับเด็กสายสังคมเข้ามามากที่สุดนั้นเป็นความต้องการของผู้เรียนเอง
อย่างไรก็ตาม การเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์นั้น ล้วนมีวิชาที่เรียนเฉพาะด้านและใช้ความถนัดต่างกันไป อีกทั้งในปัจจุบันก็มีหลายอาชีพที่พบว่าเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนมาตรงสายตั้งแต่แรก แต่ไปต่อยอดจากความชอบความสนใจของตัวเองในภายหลัง อีกทั้งการแบ่งแยกสายในระดับมัธยมก็มักสร้างปมในใจให้กับเด็กสายศิลป์อยู่พอสมควร ด้วยค่านิยมที่ฝังหัวกันมานานว่าเด็กสายศิลป์คือเด็กที่หัวไม่ดี เรียนไม่เก่ง เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนสายวิทย์ได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเรียนสายศิลป์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาใหม่มาโดยตลอด เพราะไม่ต้องการให้มีการแบ่งสายวิทย์หรือสายศิลป์ในระดับมัธยมศึกษาอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการทปอ. ระบุว่าทปอ.ได้มีการหารือและเห็นว่าควรเรียนทั้งสายวิทย์และศิลป์ควบคู่กันไป และหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคตจะต้องไม่แยกเป็นสายวิทย์และสายศิลป์อีกต่อไป ยกเว้นผู้ที่ต้องการเรียนเฉพาะด้านจริง ๆ
ขณะที่มหาวิทยาลัยเองจะต้องมีการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนใหม่ ที่เน้นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์คู่กันด้วย เพราะมองว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องใช้ความรู้ทั้งด้านวิทย์และศิลป์ในการทำงานด้วยกันทั้งคู่ แต่จะได้เห็นแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงเมื่อไร คงต้องรอติดตามกันยาว ๆ ต่อไป