เรียนสายไหนก็สอบหมอได้ กสพท เปลี่ยนหลักเกณฑ์ปี 67
ช่วงมัธยมปลาย เป็นช่วงที่เด็ก ๆ หลายคนต้องเลือก “แผนการเรียน” ว่าจะเรียนอะไรดีระหว่าง “สายวิทย์” หรือ “สายศิลป์” ซึ่งในช่วงของการเลือกแผนการเรียนและช่วงของการใช้เวลาอยู่ในแผนการเรียนที่เลือกเป็นเวลา 3 ปีนี้ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการตัดสินอนาคตของพวกเขาว่าจะได้เดินตามความฝันของตัวเองหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นอนาคตของเด็ก ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านมักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการเรียนของลูก ๆ ด้วย และบางท่านอาจหนักถึงขั้นตัดสินใจให้เองเลยว่าลูกควรเรียนสายใด
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ปกครองมักจะเลือกหรือเกลี้ยกล่อมให้เด็กเลือกเข้าเรียนแผนการเรียน “วิทย์-คณิต” เป็นลำดับแรก เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าจบม.ปลายสายวิทย์ จะมีโอกาสในการเลือกเรียนคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้มากกว่าเรียนจบสายศิลป์ พูดง่าย ๆ ก็คือ สามารถปูทางไปสู่อนาคตที่ดีได้เนื่องจากมีตัวเลือกเยอะ จะเข้าคณะสายวิทย์แบบที่เรียนเน้นมาตั้งแต่ม.ปลายก็ได้ หรือจะฉีกไปเรียนคณะสายศิลป์ก็ได้ ในคณะที่เด็กที่เรียนจบม.ปลายสายศิลป์มาจะมีตัวเลือกน้อยกว่าในการเลือกคณะในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะที่เป็นสายวิทย์วิชาชีพโดยตรง ที่มักจะไม่เปิดรับเด็กที่จบสายศิลป์ เนื่องจากพื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ไม่เข้มข้นมากพอ ที่เห็นชัดที่สุดคือ หลักสูตรแพทยศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ข้อจำกัดดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนแล้ว สำหรับปีการศึกษา 2567 กสพท ได้เปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกสายสามารถสมัครสอบกลุ่มคณะแพทย์รอบ กสพท ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเด็กที่เรียนจบสายวิทย์-คณิตเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เด็กม.ปลายที่เรียนสายศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นศิลป์-คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา แต่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นหมอ หมอฟัน หมอสัตว์ หรือหมอยา ได้มีโอกาสที่จะเริ่มต้นเดินตามความฝันของตัวเองที่เคยเลือนหายไปเมื่อครั้งที่ไม่ได้เข้าเรียนสายวิทย์อีกครั้งหนึ่ง
โอกาสใหม่ที่ทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ใหม่นี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับใครหลายคนที่เคยพับความฝันที่จะเป็นหมอเก็บไปแล้วเมื่อตอนที่ไม่สามารถเข้าเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตได้ (ตอนม.ต้นอาจจะเกรดไม่ถึง) หรือตัดสินใจผิดที่จะไม่เรียนวิทย์-คณิต สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งกับการเตรียมสอบเข้าคณะกลุ่มแพทย์ ที่จะไม่ใช้แผนการเรียนของเด็กมาเป็นเกณฑ์อีกต่อไป ข้อเท็จจริงคือมีเด็กสายศิลป์จำนวนไม่น้อยที่หัวดี เรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่ได้เลือกเรียนสายวิทย์ กับอีกกลุ่มที่อยากเรียนสายวิทย์ แต่คะแนนตอนม.ต้นทำให้ไม่สามารถไปต่อในสายการเรียนนี้ได้ จึงต้องเบนมาเรียนสายศิลป์แทน
นับว่าเป็นการทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ ของเด็กที่มีใจอยากเรียนคณะกลุ่มแพทย์ แต่ติดที่คุณสมบัติเรื่องแผนการเรียนม.ปลาย ที่ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ ที่แม้แต่จะลองสมัครสอบดูยังเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งที่หัวของเด็กหลาย ๆ คนบวกกับความพยายามและความตั้งใจที่มี อาจทำให้พวกเขาไปไหวจนสามารถเรียนจบออกมาได้ในที่สุด ดังนั้น เกณฑ์ใหม่ในปีการศึกษา 2567 ที่การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรงของ กสพท จะสู้กันที่คะแนนในการสอบ ซึ่งคะแนนก็มาจากวิชาเฉพาะ กสพท (TPAT1) 30% และ A-Level 70%
นั่นหมายความว่า ถ้าเด็กสายศิลป์คนใดที่สามารถทำคะแนนสอบได้ดี ถึงเกณฑ์ที่สามารถติดอันดับร่วมกับเด็กสายวิทย์ได้ ก็จะมีโอกาสที่จะได้เข้าเรียนคณะกลุ่มแพทย์ตามที่ปรารถนา แผนการเรียนตอนม.ปลาย จะไม่ใช่ข้อจำกัดในการกีดกันเด็กสายศิลป์ให้ไม่มีโอกาสจะเรียนคณะกลุ่มแพทย์แล้ว เพราะจะสู้กันที่คะแนนในการสอบ กสพท เท่านั้น ถึงอย่างนั้น การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวกลับมีเสียงจากเด็กสายวิทย์จำนวนหนึ่งที่มองว่าการเปิดโอกาสให้เด็กทุกแผนการเรียนสามารถสมัครสอบคณะกลุ่มแพทย์ได้นั้นไม่ค่อยยุติธรรมกับเด็กสายวิทย์เท่าไร
นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องดราม่าขนาดย่อม ๆ หลังจากที่ กสพท เปิดโอกาสให้เด็กจากทุกสายการเรียนสามารถสอบ กสพท เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรกลุ่มแพทย์ได้ เด็กสายวิทย์บางคนที่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา มีคำอธิบายในเชิงที่ว่าตอนม.ปลาย เด็กสายศิลป์จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แค่พื้นฐานเท่านั้น แตกต่างจากเด็กสายวิทย์ที่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์เข้มข้นมาก ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ เด็กสายศิลป์-คำนวณ จะได้เรียนคณิตศาสตร์เข้มข้นแบบเดียวกับที่เด็กสายวิทย์เรียน ในขณะที่เด็กสายศิลป์-ภาษา จะเรียนแค่วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐานทั้ง 2 วิชา
สิ่งที่เด็กสายวิทย์บางคนรู้สึกไม่ยุติธรรมก็คือ เด็กสายศิลป์ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (เด็กศิลป์-คำนวณ) และวิชาคณิตศาสตร์ (เด็กศิลป์-ภาษา) ง่ายกว่าพวกเขา จึงมีโอกาสที่จะเก็บเกรดเฉลี่ย (GPAX) ของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ง่ายกว่า เมื่อนำไปใช้คิดคะแนนในระบบ TCAS จะทำให้เด็กสายศิลป์มีโอกาสได้คะแนนสูงกว่า จึงมีโอกาสที่จะสอบติดคณะที่เลือกได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี การสอบในรอบ กสพท เป็นรอบสอบตรงที่ไม่ได้ใช้คะแนนจากเกรดเฉลี่ยเข้ามาเป็นเกณฑ์ แต่จะใช้เพียงคะแนน วิชาเฉพาะ กสพท (TPAT1) ในสัดส่วน 30% และคะแนน A-Level ในสัดส่วน 70%
คะแนนวิชา TPAT1 (การทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ ได้แก่ ความสามารถในการจับใจความ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ เชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กับการประเมินแนวคิดทางจริยธรรม) สัดส่วนคะแนน 30%
คะแนน A-Level 7 วิชาหลัก สัดส่วนคะแนน 70% (มีขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มวิชา = 30%) แบ่งเป็น
- วิทยาศาสตร์ (คิดคะแนนรวมฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) สัดส่วนคะแนน 40%
- คณิตศาสตร์ 1 สัดส่วนคะแนน 20%
- ภาษาอังกฤษ สัดส่วนคะแนน 20%
- ภาษาไทย สัดส่วนคะแนน 10%
- สังคมศึกษา สัดส่วนคะแนน 10%
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการสอบตรงรอบ กสพท ต้องไม่ลืมว่าเด็กวิทย์ที่เรียนวิทยาศาสตร์มาเข้มข้นกว่าย่อมได้เปรียบกว่าเด็กศิลป์อยู่แล้ว เพราะได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาเข้มข้นกว่าเด็กสายศิลป์นั่นเอง ซึ่งถ้าเด็กสายศิลป์อยากจะสอบให้ติดทั้งที่ได้เรียนมาแค่วิทยาศาสตร์ (และ) คณิตศาสตร์พื้นฐาน พวกเขาก็ต้องดิ้นรนเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ ต้องจัดหนักวิชาหนัก ๆ เข้าหัวให้ทันก่อนที่จะเข้าห้องสอบ และที่สำคัญ การสอบรอบ กสพท ไม่ได้ใช้เกรดตอนเรียนม.ปลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือก ที่มองว่าเด็กสายศิลป์เก็บเกรดวิชาต่าง ๆ ตอนเรียนม.ปลายง่ายกว่า ทำให้อาจมีคะแนนสูงกว่าจึงใช้ไม่ได้
ถึงจะสอบเข้าได้ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก
แต่ไหนแต่ไรมา ดูเหมือนว่าสังคมบ้านเราจะให้ค่ากับเด็กเรียนสายวิทย์-คณิตมากกว่าสายศิลป์ ไม่ว่าจะศิลป์-ภาษา สายศิลป์-คำนวณ หรือสายอื่น ๆ เนื่องจากมีความคิดและความเชื่อว่าเด็กสายวิทย์-คณิตนั้นเก่งกว่า เรียนหนักกว่า มีโอกาสเข้าเรียนในคณะต่าง ๆ มากกว่า จนกระทั่งไปถึงได้อาชีพที่มั่นคงมากกว่า ทำให้เด็กจำนวนมากจำเป็นต้องเลือกเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตตอนม.ปลาย เพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสที่ว่าตอนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้ปกครองหลาย ๆ คนก็ถึงขั้นมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการเรียนของลูกว่าลูกต้องเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น ไม่ว่าลูกจะชอบหรือไม่ชอบ และไม่ว่าลูกจะเรียนไหวหรือไม่ไหวก็ตาม แค่เป็นวิทย์-คณิตไว้ก่อน อนาคตจะสบาย
ทว่าหลัง ๆ มา ผู้ปกครองรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น และให้โอกาสลูก ๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ก้าวไปสู่อาชีพเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ เด็ก ๆ จึงไม่ได้ถูกบังคับมากเหมือนแต่ก่อน ทำให้พวกเขาเทใจไปเรียนสายศิลป์กันมากขึ้น ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนมากขึ้น ขณะที่บางคนรู้ตัวว่าหากเรียนสายวิทย์ก็คงไปไม่รอด เพราะเรียนหนักกว่าและยากกว่า จึงเลือกมาทางสายศิลป์แทน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความชอบส่วนตัว
แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน และความฝันก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เด็กหลายคนที่เลือกเรียนสายศิลป์ในวันนั้นด้วยความชอบและความสนใจ อาจจะเปลี่ยนใจอยากที่จะเข้าเรียนคณะของสายวิทย์ตอนมหาวิทยาลัยก็เป็นได้ เพราะเด็กส่วนหนึ่งเรียนสายศิลป์ด้วยความสนใจ ไม่เกี่ยวกับว่าพวกเขาเรียนไม่ไหวแต่อย่างใด พวกเขาจึงคิดที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่พวกเขาก็มาเจอกับข้อจำกัดที่ว่าคณะของสายวิทย์ส่วนใหญ่ไม่รับเด็กสายศิลป์เข้าศึกษา เนื่องจากพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่มากพอจะเรียนไม่ทันเพื่อน หรืออาจจะเรียนไม่ไหวในอนาคต มันก็จะเป็นอุปสรรคต่อตัวเด็กเอง
การที่เด็กสายศิลป์มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสายการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้ทั้งความพยายาม ความขยัน ความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่มากกว่าเดิม พวกเขาต้องวางแผนชีวิตใหม่ทั้งหมด ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับการปรับพื้นฐานตัวเองที่มีพื้นฐานสายวิทย์น้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้น เพื่อให้ตัวเองเรียนไหว เพื่อให้เรียนทันเพื่อนคนอื่น ๆ และเพื่อที่จะได้ไม่ล้มเหลวไปก่อนที่จะทำตามความฝันให้ประสบความสำเร็จ ช่วงระหว่างการเรียนในหลักสูตรกลุ่มการแพทย์จำนวน 6 ปี ยังมีอีกหลายสิ่งที่พวกเขาต้องพิสูจน์ความสามารถตัวเอง
เพราะการที่พวกเขาสามารถสอบติดคณะกลุ่มแพทย์ได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเรียนได้จนจบ (ไม่ใช่แค่เด็กสายศิลป์ที่สอบติด เด็กวิทย์ก็เช่นกัน) ระหว่างทางยังมีอุปสรรคอะไรอีกหลายอย่างที่พวกเขาต้องฝ่าฟันไปให้ได้ และต้องไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน ยิ่งกับคนที่รู้ตัวดีว่าพื้นฐานของตนเองไม่เหมือนกับคนอื่นก็ยิ่งต้องมุ่งมั่นและมีความพยายามมากกว่าเดิม เด็กสายศิลป์สอบติดหมออาจจะเก่งก็จริง แต่จะแน่กว่าคือต้องเรียนจนจบได้และพาตัวเองเข้าสู่สายวิชาชีพแพทย์ได้ในอนาคต เพราะกว่าจะจบหมอไม่ได้จบกันได้ง่าย ๆ แค่ไม่ปิดโอกาสเด็กที่เรียนสายการเรียนอื่นมาก็พอ
การที่ กสพท เปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครสอบนักศึกษากลุ่มคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ถือเป็น “โอกาส” ให้กับเด็กนักเรียนทุกสายการเรียนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าเรียนคณะกลุ่มแพทย์ ได้เดินตามความฝันของตัวเองอีกครั้ง ความฝันที่อาจจะไม่ได้มีแรงผลักดันในช่วงเลือกแผนการเรียนม.ปลาย ความฝันที่ยังไม่ฉายชัดเพราะยังตามหาตัวเองไม่เจอ โดยเฉพาะเด็กสายศิลป์และเด็กสายการเรียนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นเรียนวิทยาศาสตร์มา จบแผนการเรียนอะไรมาก็ไม่สำคัญ เพราะความมุ่งมั่นและความตั้งใจต่างหากที่สำคัญกว่า มันคือแรงผลักดันที่จะทำให้เราพยายามจนถึงที่สุดไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม หากคิดที่จะทำตามความฝันของตนเองให้สำเร็จ