ถ้ามือถือของเรา “ถูกแฮก” จะมีอาการอย่างไร
ทุกวันนี้เราใช้ “โทรศัพท์มือถือ” เพื่อประโยชน์แทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนยันนอนหลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาอีกรอบวนเวียนเป็นวัฏจักร ยิ่งในยุคที่เป็น “สมาร์ตโฟน” โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ที่รวบรวมความสะดวกสบายทุกอย่างไว้ด้วยกันในที่เดียว ตั้งแต่ฟังก์ชันพื้นฐานอย่าง โทรออก-รับสาย, รับ-ส่งอีเมล, แชตคุยกับเพื่อน, เล่นโซเชียลมีเดีย, ถ่ายรูป, ฟังเพลง, ดูหนัง, เล่นเกม, สร้างการแจ้งเตือน, จ่ายบิลต่าง ๆ, ชอปปิง, สั่งอาหารเดลิเวอรี่, ทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ หรือแม้แต่ทำงาน เราสามารถทำทุกอย่างได้ทั้งหมดที่ว่ามาด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้สมาร์ตโฟนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องมีใช้กัน
เมื่อทุกอย่างถูกรวมไว้ในที่เดียว มันสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งานก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็กลายเป็นสิ่งเปราะบางและเป็นจุดอ่อนที่มักจะถูกจู่โจมได้ง่ายที่สุดด้วย สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การโจมตีเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นก็สามารถเข้าถึงทุกอย่างที่มือถือของเราทำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเมื่อมือถือของเราถูกแฮกแล้ว แฮกเกอร์จะสามารถเข้าถึงการใช้งานต่าง ๆ ในเครื่องของเราเพื่อก่อกวนสร้างความรำคาญ หลอกหลวง หรือร้ายแรงสุดก็คือขโมยข้อมูลสำคัญและเรียกค่าไถ่เลยทีเดียว
มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสังเกตความผิดปกติของโทรศัพท์มือถือของตัวเองว่าตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์แล้วหรือยัง จากสัญญาณต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่ามือถือเราโดนแฮก เพื่อที่จะได้ป้องกันมือถือของตัวเอง เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน และถ้าถูกแฮกขึ้นมาจริง ๆ จะได้แก้ไขได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดความเสียหายใด ๆ โดยเป็นคำแนะนำจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5 สัญญาณที่บ่งบอกว่ามือถือของเราอาจจะกำลังโดนแฮก
1. โทรศัพท์มือถือมีอาการแปลก ๆ ทำงานขัดข้องบ่อย ๆ
โทรศัพท์ที่ถูกแฮกมักจะโดนก่อกวนด้วยอาการที่น่ารำคาญ เช่น หน้าจอเปลี่ยนเป็นสีดำหรือขึ้นตัวเลขแปลก ๆ ใช้งานแอปฯ ใดแอปฯ หนึ่งอยู่ จู่ ๆ ก็เครื่องก็เด้งเปิดแอปฯ บางตัวขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้เป็นคนเปิด หรือบางทีอาจจะเด้งออกจากแอปฯ ที่เรากำลังใช้งานอยู่ เครื่องรีเซ็ตตัวเองบ่อย บันทึกการโทรมีการโทรออกไปหาเบอร์ที่เราไม่รู้จัก หรือมีการส่งข้อมูลบางอย่างในชื่อของเราไปหาทุกคนในรายชื่อติดต่อ เป็นต้น
2. มี Pop-ups หรือ Screen Saver แปลก ๆ เด้งขึ้นมา
เนื่องจากมีมัลแวร์จำนวนมากที่ส่งผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือผ่าน Pop-ups โฆษณาในโซเชียลมีเดีย ที่หลายคนอาจเผลอเข้าไปใช้งานเว็บไซต์แปลก ๆ หรือถูกติดตั้งมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ห้ามกดเข้าไปเด็ดขาด
3. เครื่องโทรศัพท์ช้า แบตเตอรี่หมดเร็ว รวมถึงมีการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตสูงผิดปกติ
เราเป็นคนใช้งานสมาร์ตโฟน เราจะรู้อยู่แล้วว่าวัน ๆ หนึ่งเราใช้งานอะไรมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเราเริ่มสังเกตเห็นว่าแบตฯ มันหมดไวกว่าปกติทั้งที่เราไม่ค่อยได้ใช้งาน ซึ่งถ้าเครื่องถูกแฮก มันจะมีแอปฯ ที่กินแบตฯ มากแสดงให้เห็น (อาการจะต่างจากแบตฯ เสื่อมตรงที่กราฟการใช้พลังงานทุกอย่างจะเฉลี่ย ๆ กันไปตามการใช้งานประจำวัน) แนะนำให้เข้าไปเช็กที่ Settings > Battery > Battery usage แล้วดูว่ากราฟลดลงมากผิดปกติหรือไม่ และแอปฯ ตัวไหนที่ใช้พลังงานแบตฯ มากที่สุด และอย่าลืมสังเกตการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตด้วยว่าสูงผิดปกติหรือไม่ หรืออินเทอร์เน็ตหมดไวเกินไปหรือเปล่า
4. มีแอปพลิเคชันหน้าตาไม่คุ้นที่ติดตั้งเองโดยที่เราไม่รู้ตัว
อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนใช้โทรศัพท์เครื่องนั้น ๆ อยู่ เราย่อมรู้ดีกว่าใครว่าเราทำอะไรกับโทรศัพท์บ้าง แอปฯ ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เราก็เป็นคนดาวน์โหลดมาเอง และแอปฯ ที่เราใช้อยู่เราก็จะรู้ว่ามันคือแอปฯ อะไร แต่ถ้าเราไปเจอแอปฯ บางแอปฯ ที่หน้าตาไม่คุ้นเคย ไม่รู้ว่าเป็นแอปฯ ทำอะไร และไม่รู้ว่าไปกดดาวน์โหลดมาใช้ตอนไหน ให้ลองตรวจสอบว่าเป็นแอปฯ ที่มาจากแบรนด์ผู้ผลิตมือถือหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องเราอาจโดนแฮกแล้ว เพราะปกติแล้วแฮกเกอร์จะโจมตีเครื่องของเราผ่านแอปฯ แปลก ๆ ที่จู่ ๆ ก็ถูกติดตั้งอยู่ในเครื่องโดยที่เจ้าของเครื่องอย่างเราก็ไม่รู้ตัว
5. เริ่มมี SMS เว็บการพนัน เกมออนไลน์ เงินกู้ และข้อความหลอกลวงต่าง ๆ เข้ามาถี่ยิบ
ห้ามกดรับ หรือยืนยัน หรือตกลง หรือกดเข้าไปในลิงก์ที่แนบมากับข้อความนั้นอย่างเด็ดขาด แต่ให้กดรายงานว่าเป็นสแปม หรือข้อความขยะ ทันที
วิธีแก้ไขเมื่อโทรศัพท์ของเราถูกแฮก
นอกจากคำแนะนำเรื่องสัญญาณที่บ่งบอกว่ามือถือของเราอาจจะกำลังโดนแฮกแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้แนะนำวิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่าโทรศัพท์ของเราอาจถูกแฮกหรือรีโมตระยะไกลด้วย โดย
ถอดซิมการ์ดของเครื่องโทรศัพท์ออกทันที
ปิดสัญญาณ WI-FI ทันที เช่น เราเตอร์หรือตัวปล่อยสัญญาณต่าง ๆ
ซึ่งนอกจากวิธีเบื้องต้นข้างต้น หากเรามั่นใจว่าเครื่องของเราถูกแฮกจริง ๆ ต้องรีบตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์ทันที แล้วรีบลบแอปพลิเคชันแปลก ๆ ที่ไม่เคยดาวน์โหลดออกไปให้หมด จากนั้นรีบตรวจสอบข้อมูลสำคัญว่ายังอยู่ครบดีหรือไม่ โดยเฉพาะแอปฯ ธนาคาร ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายแรกของพวกแฮกเกอร์ เช็กยอดเงินในบัญชี ตรวจสอบรายการเดินบัญชี แล้วเปลี่ยนรหัสผ่านแอปฯ สำคัญทุก ๆ แอปฯ ขั้นต่อมาคือทำการสแกนเครื่องหาไวรัสและสิ่งผิดปกติ หากพบให้กำจัดทิ้ง แล้วทำการสำรองข้อมูลสำคัญไว้ก่อนที่จะล้างเครื่อง โดยรีเซตเครื่องกลับคืนค่าเริ่มต้นจากโรงงาน จากนั้นแจ้งทุกคนที่เราบันทึกรายชื่อว่าอย่ากดลิงก์ใด ๆ ที่เราส่งไป หรือจะ ปิดมือถือ ก็สามารถช่วยได้ในเบื้องต้น