“น้องข้าวหอม” ตัวแทนเยาวชนไทยในรายการ Asia Pacific Dance และตารางฝึกหนักเพื่อไปถึงชัยชนะ
CSTD Thailand Dance Grand Prix คือเวทีประกวดการเต้นที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดในประเทศไทย ที่มุ่งส่งเสริมและให้โอกาสเยาวชนไทยที่มีความสามารถด้านการเต้นได้พัฒนาทักษะการเต้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ซึ่งในแต่ละปีก็จะเฟ้นหานักเต้นที่ยยอดเยี่ยมที่สุด เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ ถือเป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 10 และ “ข้าวหอม - ปพิชญา นุ่มทอง” วัย 14 ปี ก็เป็นตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เหินฟ้าไปร่วมแข่งขันรายการระดับเอเชีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
Sanook ได้มีโอกาสนั่งคุยกับข้าวหอม ก่อนที่เธอจะเดินทางไปร่วมแข่งขันเวที Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 25 โดยพูดคุยถึงเรื่องตารางการซ้อมของแชมป์ประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงอนาคตของนักเต้นตัวน้อยแต่มากความสามารถคนนี้
บาร์บี้คือแรงบันดาลใจ
ข้าวหอมเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เธอได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ “การ์ตูนบาร์บี้” และประทับใจลีลาการเต้นที่สวยงามและสง่างามของตัวการ์ตูน จนกลายเป็น “ตัวจุดประกาย” ให้ข้าวหอมเริ่มต้นเส้นทางสายการเต้นของเธอ
“หนูเริ่มต้นเต้นตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยเริ่มจากการฝึกท่าทางง่าย ๆ ของการเต้นบัลเลต์ แล้วก็ขยับไปเป็นรูปแบบการเต้นแบบอื่น อย่างการเต้น contemporary หรือการเต้นร่วมสมัยที่สามารถทำอะไรกับร่างกายก็ได้ ออกนอกกรอบไปเลย”ข้าวหอมบอก
เสน่ห์ของการเต้นที่เอาชนะหัวใจของข้าวหอมได้อย่างอยู่หมัด คือความรู้สึกผ่อนคลายขณะที่ร่างกายได้ขยับเขยื้อนตามจังหวเพลงอย่างอิสระ เธอบอกว่ารู้สึกผ่อนคลายและสบายใจทุกครั้งที่ได้เต้น
“ไอดอลของหนูคือ Natalia Osipova เป็นนักบัลเล่ต์ชาวรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเขาเต้นอยู่ที่ The Royal Ballet ในประเทศอังกฤษ หนูชอบเขามาก ๆ เพราะเขาเป็นนักเต้นที่สวย แล้วหนูก็อยากไปให้ถึงจุดนั้นเหมือนกับเขา” ข้าวหอมชี้
การแข่งขันที่เข้มข้น
“มีช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยและอยากหยุดเต้นเหมือนกันนะคะ อย่างปีนี้เป็นปีที่หนูลงแข่งขันค่อนข้างเยอะ แต่เป้าหมายของหนูคืออยากได้รับถ้วยพระราชทาน ก็เลยตั้งเป้ากับตัวเองไว้ และพยายามทำให้ดีที่สุด”
พอมีเป้าหมายของตัวเอง ก็ทำให้ข้าวหอมทุ่มเทกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยเธอได้แบ่งปันตารางการซ้อมให้เราได้ฟัง ซึ่งมีการฝึกซ้อมแทบทุกวันจนถึงดึก เพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ
“วันจันทร์ก็จะมาเรียนตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงสองทุ่ม วันอังคารก็มาซ้อมตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงหนึ่งทุ่ม วันพุธก็มาเรียนตอนสามโมงถึงสองทุ่มครึ่ง ได้หยุดวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ แล้วก็มาที่สตูดิโอเต้นอีกครั้งช่วงวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปจนสามทุ่มครึ่ง” ข้าวหอมแจกแจงตารางการฝึกซ้อมของตัวเอง
แต่ถึงแม้จะฝึกซ้อมหนัก แต่ข้าวหอมก็ไม่ทิ้งการเรียน เธอยังคงจัดการตารางเวลาของตัวเองให้เหมาะสมกับการเต้นและการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนของเธอเสมอ
ความฝันที่คว้าได้
หลังจากได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเภทคะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Solo Cup) พร้อมกับคว้าตำแหน่งตัวแทนเยาวชนไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาติ (Asia Pacific Dance Competition) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 17 - 20 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ข้าวหอมก็ทำให้ชาวไทยได้ภูมิใจอีกครั้ง เมื่อเธอสามารถคว้ารางวัลมากมายกลับบ้านมาได้สำเร็จ
“ความรู้สึกของการได้เป็นตัวแทนประเทศ ก็ตื่นเต้นดีค่ะ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการเต้นด้วย อย่างการเต้นร่วมสมัยก็จะต้องมีความเป็นตัวเองที่สุด ต้องอยู่ในโลกของตัวเองและมีสมาธิมาก ๆ ซึ่งหนูเป็นคนที่มีแรงเยอะมหาศาลเลย ตอนเต้นจึงต้องควบคุมตัวเองให้ดีที่สุด” ข้าวหอมบอก
เมื่อถามถึงความฝันของนักเต้นตัวน้อย ข้าวหอมเล่าว่าเธอใฝ่ฝันอยากไปเต้นที่ The Royal Ballet School เนื่องจากมีซีนการเต้นที่ใหญ่กว่าในเมืองไทย และมีรูปแบบของการแสดงที่หลากหลายกว่า ซึ่งข่าวหอมอาจจะยึดเอาอาชีพนักเต้นเป็นอาชีพหลักของตัวเองเลยก็ได้ เพราะเธอบอกว่านักเต้นก็เป็นอาชีพที่ได้เงินเหมือนกัน แถมได้เงินดีเสียด้วย
“สำหรับหนูการเต้นให้อะไรมากกว่าแค่ความสนุกและความสวยงาม แต่ยังสอนให้มีระเบียบวินัยอีกด้วย” ข้าวหอมกล่าวปิดท้าย
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ