ผลวิจัยชี้ คนไทยกตัญญูสูง สุจริตพอใช้ แต่ความพอเพียงต่ำ

ผลวิจัยชี้ คนไทยกตัญญูสูง สุจริตพอใช้ แต่ความพอเพียงต่ำ

ผลวิจัยชี้ คนไทยกตัญญูสูง สุจริตพอใช้ แต่ความพอเพียงต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำการสำรวจคนไทย ภายใต้สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 โดยแต่ละบุคคลเป็นผู้ประเมินพฤติกรรมตนเอง (Self reflection behavior) 5 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย, รับผิดชอบ, สุจริต, จิตสาธารณะ และกตัญญู ซึ่งดัชนีชี้วัดคุณธรรม สำรวจใน 6 ภูมิภาค ใน 3 ช่วงวัย คือ เด็ก และเยาวชน, วัยทำงานตอนต้น และวัยทำงาน ใน 6 กลุ่มอาชีพ คือ เกษตรกรรม, รับราชการ/พนักงานรัฐ, พนักงานเอกชน, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, รับจ้างทั่วไป และธุรกิจส่วนตัว/อิสระ

ทุนชีวิต เป็นการประเมินพลังบวกของระบบนิเวศที่อยู่รอบตัวมนุษย์ใน 5 พลัง คือ พลังตัวตน, พลังครอบครัว, พลังสร้างปัญญา/พลังองค์กร, พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน โดยทั้งดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดในระดับประเทศ การศึกษาวิจัย สำรวจกลุ่มประชากรไทยวัย 13-60 ปีทั่วประเทศ แบ่งเป็น 3 ช่วงวัย คือ วัยเด็ก และเยาวชน อายุ 13 – 24 ปี, วัยทำงาน อายุ 25-40 ปี และวัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

  • รวบรวมสถานการณ์สำคัญด้านคุณธรรมในปีที่ผ่านมา
  • ประเมินสถานการณ์คุณธรรม จากดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 มิติ
  • การสำรวจต้นทุนชีวิต 5 พลังหรือ 5 ด้าน

ผลการศึกษาทั้ง 3 ด้าน สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยและสังคมไทยที่มีต่อ “คุณธรรม” ในยุคปัจจุบัน ว่าภาพรวมคุณธรรมคนไทยมองตัวเองแค่พอใช้ ยังยึดมั่นกตัญญู วัยเกษียณลดความพอเพียง

ผลจากงานวิจัยยังพบว่า คนไทยทุกช่วงวัย ประเมินว่าตนเองมีคุณธรรมครบ 5 ด้าน แต่อยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น คนไทยยังมีความกตัญญูสูง แต่มีความสุจริตในระดับพอใช้ และความพอเพียงในระดับน้อย โดยมิติคุณธรรมด้านความกตัญญู กลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัย ประเมินตัวเองว่า มีความกตัญญููในระดับมาก สะท้อนให้เห็นว่าความกตัญญู ซึ่งเป็นคุณธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยยังคงได้รับความสำคัญจากคนยุคปัจจุบัน

ขณะที่คุณธรรมในด้านความสุจริต คนวัยเด็ก และวัยทำงาน ประเมินตัวเองอยู่ในระดับพอใช้ เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ควรมีการส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น

คุณธรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน คือ คุณธรรมในด้านความพอเพียง ซึ่งประชากรวัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป ประเมินว่าตนเองมีความพอเพียงในระดับน้อย โดยคณะนักวิจัยชี้แนะถึงสาเหตุว่าอาจเป็นเพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้คนวัยนี้ต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายก่อนเกษียณ มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ผลวิจัยในมิติคุณธรรมด้าน “ต้นทุนชีวิต 5 พลัง” ของคนไทย พบว่าแม้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีสำหรับทุกช่วงวัย แต่พลังชุมชนยังมีน้อยและควรมีการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ต้นทุนชีวิต 5 พลัง ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งประชากรกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัย ประเมินว่าตนเองมีพลังชุมชนน้อยกว่าพลังอื่น ๆ ข้อชี้แนะ คือ ควรเร่งส่งเสริม หรือออกแบบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังชุมชนให้กลับมาเข้มแข็ง เช่น กิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมของชุมชน เป็นต้น

สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน ยังสะท้อนถึงสภาวะที่น่ากังวลด้านคุณภาพชีวิตคนไทย เช่น สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี” สถานการณ์ “ผู้สูงวัยเผชิญภาวะอยู่ตามลำพัง” ขาดคนดูแล รวมถึงสัญญาณเตือนจากอันดับเชิงคุณภาพชีวิตในระดับโลก ในสถานการณ์วิกฤติคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยย่ำแย่

สถานการณ์อุบัติเหตุ ในปี 2565 พุ่งสูงขึ้น สาเหตุจากการขาดวินัยการขับขี่ สถานการณ์ที่เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ทั้งสารพัดเรื่องหลอกลวงในโลกออนไลน์และสื่อออนไลน์ กับภัยคุกคามเยาวชน และปัญหาครอบครัว ในขณะที่ ปรากฏการณ์จิตอาสา เมื่อคนดีต้องมีพื้นที่ยืน เป็นสถานการณ์คุณธรรมที่สะท้อนทัศนคติคนไทยทั้งเชิงบวก และลบ

โดยผลวิจัย ถืองานวิชาการที่จะเป็นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนทางสังคมในมิติคุณธรรม โดยอิงจากองค์ความรู้ และข้อมูลที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ศูนย์คุณธรรม มีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อให้เครือข่ายทางสังคม ได้นำองค์ความรู้ และนวัตกรรมไปใช้ขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรม ตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน และเป็นฐานองค์ความรู้ที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย และออกแบบกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในระดับปฏิบัติการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook