Food Waste เป็นปัญหาต่อโลก และเราจะลด Food Waste ได้อย่างไร
ในสมัยเด็ก ๆ เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงเคยได้ร่ำเรียนมาว่าภูมิประเทศของประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นชัยภูมิแห่ง “อู่ข้าวอู่น้ำ” เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ชนิดที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เรามีวัตถุดิบมากมายให้เลือกสรรในการทำอาหารอย่างพิถีพิถัน ทำให้ประเทศไทยมักจะโปรโมตตัวเองในฐานะ “ครัวโลก” มาโดยตลอด แต่ในอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ค่อยจะมีคนตระหนักกันเท่าไรนักในบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกินที่ดีที่สุด ก็คือเรื่องของ “ขยะอาหาร” หรือ Food Waste เพราะคำว่า “อดยาก” ดูจะไกลตัวสำหรับใครหลาย ๆ คน ส่งผลให้เรามีอาหารเหลือทิ้งมากมายในแต่ละมื้อ แต่ละวัน
ปัญหา Food Waste คือ อาหารที่ถูกทิ้งด้วยหลาย ๆ เหตุผล ในภาคครัวเรือน อาจเป็นเศษเหลือจากมื้ออาหารที่กินไม่หมด ไม่กิน อาหารกระป๋องที่หมดอายุ เศษผักผลไม้ตกแต่งจาน รวมไปถึงอาหารเน่าเสีย และหมดอายุ ในภาคอุตสาหกรรม อาจเป็นอาหารที่ถูกทิ้งเพราะหน้าตาอาหารไม่สวยงามตามเกณฑ์ รูปร่างที่ไม่ได้สัดส่วน หรือจำหน่ายไม่หมดจนเน่าเสียไปตามเวลา บางส่วนเสียหายจากการขนส่ง การกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า เมื่อไม่ได้มาตรฐานก็นำมาจำหน่ายไม่ได้จึงต้องทิ้งไป ทั้งหมดนี้จะถูกทิ้งรวมกันลงถังขยะและนำไปฝังกลบ ทั้งที่อาหารบางส่วนยังสามารถกินได้ แต่ถูกทิ้งเป็นขยะ ถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์
เพราะข้อจำกัดของอาหาร คือเวลา เมื่อเวลาผ่านไป คุณภาพและความสดใหม่ของอาหารจะลดลงเรื่อย ๆ จนเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของอายุอาหาร มันก็จะเน่าเสียในที่สุด เมื่อมันเน่าเสีย กินไม่ได้ เราก็ต้องทิ้งมันเป็นขยะ ขยะอาหารจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นจากจุดนี้ อีกส่วนได้มาจากกระบวนการผลิตอาหารที่ไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด จึงเกิดเป็นการสูญเสียอาหาร และอีกส่วนก็คือพฤติกรรมการกินของคนเรา ที่กินไม่หมด ไม่กิน เลือกกิน สุดท้ายก็เหลือทิ้ง
ดังนั้น สาเหตุหลักของการเกิด Food Waste หรือขยะอาหารทั่วโลก ก็คือ การสูญเสียอาหาร เนื่องจากอาหารหลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตเพราะไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ในขั้นตอนของการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป รวมถึงระหว่างการขนส่ง การจัดการที่ขาดประสิทธิภาพของร้านค้าปลีกในด้านการผลิต เก็บรักษา และการขนส่ง รวมถึงพฤติกรรมฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค โดยมีความเกี่ยวโยงถึงการวางแผนจัดเตรียมอาหารและสินค้าที่ไม่เหมาะสม การทิ้งอาหารที่ยังกินได้ และการซื้ออาหารเกินความต้องการ หรือขาดความเข้าใจหรือสับสนต่อวันหมดอายุบนฉลากสินค้า แม้ว่าจะมีส่วนที่ยังกินได้อยู่ แต่ก็ถูกทิ้งรวมกับเศษอาหารที่ไม่สามารถกินต่อได้อยู่ดี มันจึงกลายเป็น Food Waste ในที่สุด
Food Waste เป็นปัญหามากกว่าที่คิด
รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรม “การกิน” ของมนุษย์เรานี่แหละที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำลายโลกทีละนิด ๆ ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ที่มนุษย์เราสามารถสัมผัสกันได้ถ้วนหน้าก็คือ “ภาวะโลกร้อน” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้ออกมาระบุว่ายุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะมันก้าวข้ามไปสู่ภาวะโลกเดือดแล้วต่างหาก ซึ่งในทุก ๆ ปีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าจะหยุดนี้ หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็เกิดมาจาก “การกิน” ของเรานี่เอง
พฤติกรรมการกินอาหารไม่หมดจนก่อให้เกิดขยะเศษอาหาร เป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม หรือมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า เนื่องจากวิธีการทำลายขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการฝังกลบ โดยขยะเศษอาหารผลิตก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนไปยังแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ดังนั้น ขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นจากจานข้าวของเราในทุก ๆ วัน ล้วนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมโดยรวม ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น เพื่อขยายพื้นที่ในการฝังกลบอีกด้วย
หรือในอีกแง่มุมที่อาจจะดูไกลตัวเกินไปสำหรับใครหลาย ๆ คน ก็คือ “ภาวะอดอยาก” ทำให้การตระหนักรู้ในเรื่องของอาหารเหลือทิ้งกลายเป็นเรื่องสุดท้ายที่ใครหลายคนจะนึกถึง ด้วยทุกวันนี้ยังมีข้าวให้กิน สามารถเข้าถึงอาหารดี ๆ ได้ทุกมื้อ แต่กลับไม่เห็นคุณค่าของอาหาร เมนูอาหารหลายจานที่ถูกกินทิ้งกินขว้าง ข้าวปลาที่กินไม่หมด หรืออาหารมีมากเกินกว่าที่จะกินได้หมด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรสำหรับคนที่มีอันจะกิน มื้อนี้กินเหลือแล้วทิ้ง มื้อหน้าก็ยังมีกินอยู่ดี แต่ในทางกลับกัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากและหิวโหย อย่าว่าแต่อาหารดี ๆ แค่อาหารที่พอจะประทังชีวิตให้อิ่มท้อง คนเหล่านี้ก็เข้าไม่ถึง!
ข้อมูลจาก Food Wastage Footprint: Impacts on Natural Resources โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ระบุว่ามีขยะจากอาหารถูกทิ้งราว ๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี และอาหารเหล่านี้ถูกทิ้งทั้งที่ยังกินได้ นั่นหมายความว่าในขณะที่เราได้กินข้าวกันอิ่มท้องดี ก็มีอาหารเหลือที่เรากินกันไม่หมด จึงต้องทิ้งอาหารที่ยังกินได้เหล่านั้นให้กลายเป็นขยะ เป็นอาหารที่สูญเปล่าไปเฉย ๆ แทนที่จะถูกนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่ขาดแคลน เพราะมีประชากรทั่วโลกอีกกว่า 87,000,000 คน ที่ต้องเผชิญกับความหิวโหย ในขณะที่เรามีกินกันอย่างอิ่มหมีพีมัน
นอกจากนี้ ยังมีในแง่ของความสิ้นเปลืองของทรัพยากรในกระบวนการผลิตอาหารด้วย มีสัตว์จำนวนมากทั้งในและนอกระบบปศุสัตว์ถูกนำมาทำเป็นอาหาร ให้เราได้กินทิ้งกินขว้างกันอย่างเสียเปล่า ก็เท่ากับเราทิ้งขว้างทรัพยากรมากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารด้วย เนื่องจากมีทรัพยากรและพลังงานจากธรรมชาติจำนวนมากที่ถูกนำมาเป็นต้นทุนการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า จากการถากถางพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร ความเสื่อมโทรมของดินในการปลูกพืชบางชนิด การใช้ทรัพยากรน้ำในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การปนเปื้อนของสารเคมีอย่างปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ในดิน แหล่งน้ำ และอากาศ
และยังมีอีกส่วนที่เราลืมนึกถึง ก็คือกระบวนการจัดเก็บและแปรสภาพของขยะเศษอาหาร อาหารบูดเน่าว่าแย่แล้ว แต่เวลาที่มันกลายเป็นขยะกองมหึมานี่ยิ่งแย่กว่า สร้างมลภาวะทางอากาศด้วยการส่งกลิ่นไม่พึ่งประสงค์เน่าเหม็นคละคลุ้ง เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เป็นแหล่งอาหารของสัตว์พาหะนำโรคทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหนู นก แมลงสาบ หากจัดการไม่ดีก็อาจมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ แหล่งการเกษตร แหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นการบั่นทอนสุขภาพทางอ้อม
แล้วเราจะจัดการกับปัญหา Food Waste ได้อย่างไร
เนื่องจากเรื่องกิน เป็นเรื่องปากท้องในชีวิตประจำวันของเราทุกคนที่เราสามารถจัดการกันได้เอง ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จึงเริ่มต้นได้จาก “จานข้าวของเราเอง” เพราะวิธีการลดปริมาณขยะเศษอาหารที่ดีที่สุด คือการกินอาหารให้หมด และพยายามจัดการไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออาหารถูกกินจนหมดในทุกมื้อ หรือพยายามจัดการด้วยวิธีการใดก็ได้ไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้งขว้างไปอย่างไร้ประโยชน์ จะสามารถช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการสะสมของเชื้อโรคตั้งแต่ถังขยะไปจนถึงบ่อพักขยะ หรือแม้แต่สามารถช่วยให้ใครอีกคนหนึ่งได้อิ่มท้อง โดยเราทุกคนสามารถช่วยลดขยะอาหารได้ ดังนี้
1. วางแผนการซื้ออาหาร
เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครหลายคนไม่ค่อยอยากจะออกไปจับจ่ายซื้อของเข้าบ้านบ่อย ๆ โดยเฉพาะอาหาร พวกวัตถุดิบและของสดบ่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะวางแผนไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตกันประมาณสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น ซึ่งการซื้อทีละมาก ๆ แบบนี้ มีแนวโน้มว่าจะทำกินกันไม่ทันแล้วของสดที่ซื้อมาก็จะเน่าเสีย กลายเป็น food waste ไปเสียก่อน ถ้าที่ผ่านมาไม่เคยมีของเหลือค้างตู้เย็นจนต้องเก็บทิ้งก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเคยมีขยะสดเหลือจนเน่าเสียให้เก็บทิ้งเป็นประจำ เราอาจต้องมาวางแผนการซื้ออาหารเข้าบ้านกันใหม่
ส่วนวิธีวางแผนก็สามารถจัดการได้ง่าย ๆ โดยอาจใช้วิธีซื้อให้น้อยลงแล้วเน้นไปจ่ายตลาดให้บ่อยขึ้น จากที่เคยไปสัปดาห์ละครั้งก็เป็นสัปดาห์ละสองครั้ง หรืออาจจะวางแผนซื้อเท่าที่จะทำกินหมดโดยที่อาหารจะไม่เน่าไปเสียก่อนก็ได้ ทำกินหมดเกลี้ยงแล้วค่อยไปซื้อใหม่ และอย่าลืมจดรายการสินค้าที่ต้องการจะซื้อติดมือไปด้วย เพราะเงื่อนไขสำคัญก็คืออย่าซื้ออะไรที่นอกเหนือจากรายการที่จดไป (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ) ต่อให้ไปเจอของลดราคาแค่ไหนก็พยายามอย่าซื้อตุน ถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำกินหมดก่อนเน่า ไม่เช่นนั้น อาหารที่เราซื้อมาเกินจำเป็นอาจไปจบที่ถังขยะไม่ใช่ในท้องเรา นอกจากจะเกิด food waste แล้ว ยังเสียเงินซื้อไปฟรี ๆ อีกต่างหาก เพราะไม่ได้กินเลย
2. เก็บอาหารอย่างถูกวิธี
หลังจากที่ซื้ออาหารเข้าบ้านแล้ว อย่าเพิ่งโยนทุกสิ่งอย่างเข้าตู้เย็น เพราะอาหารแต่ละชนิดมีวิธีเก็บที่แตกต่างกัน หลัก ๆ ก็คือ ให้พยายามหาวิธีเก็บรักษาไว้ให้ได้นานที่สุด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ หากต้องการให้ระยะเวลาในการเก็บยาวนานขึ้น อาจนำเข้าช่องแช่แข็งไว้ก่อน ผักผลไม้บางชนิดไม่ควรเก็บไว้ด้วยกัน เนื่องจากระหว่างที่เริ่มสุก มันจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมา หากก๊าซนี้ไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับผักผลไม้อีกกลุ่มหนึ่งที่มีอายุเก็บได้นานกว่า จะพลอยทำให้เน่าเสียตามกันไปหมด จึงต้องเก็บแยกกัน นอกจากนี้ ผักผลไม้บางอย่างก็ไม่ควรเก็บในตู้เย็นด้วย เพื่อยืดอายุของอาหารให้นานขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วก็ต้องเก็บอย่างถูกวิธีเช่นกัน อย่านำอาหารปรุงสุกที่ร้อนจัดเข้าตู้เย็น เพราะอาจทำให้อาหารเป็นพิษได้ (แน่นอนว่ากินไม่ได้ก็ต้องทิ้ง) เมื่ออาหารเย็นแล้วนำเข้าตู้เย็น สามารถเก็บไว้กินในมื้อถัดไปได้ แต่ถ้าอาหารปรุงสุกเยอะมากเกินไป กินไม่หมดใน 2-3 มื้อ ให้แบ่งใส่ถุงไปเข้าช่องแช่แข็ง จะได้นำกลับมาอุ่นกินได้ในมื้อต่อ ๆ ไปได้ ส่วนพวกอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อไม่ให้อาหารเสื่อมคุณภาพและหมดอายุก่อนวันที่ระบุบนฉลาก
3. การดูแลและจัดระเบียบตู้เย็น
ดูแลยางที่ขอบประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพดี หมั่นเช็กอุณหภูมิในตู้เย็นให้เหมาะสม อาหารต้องการการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 1-5 องศาเซลเซียส เพื่อคงความสดและอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน หมั่นจัดระเบียบตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ จะได้เห็นว่ามีอะไรที่ค้างอยู่ในตู้เย็นบ้าง จะได้เอาออกมาทำกินก่อนที่มันจะเน่าเสีย อาหารที่ซื้อมาใหม่ ควรลำดับเอาไปไว้ด้านใน เมื่อเปิดตู้เย็นเพื่อหยิบใช้ จะได้กำจัดอาหารที่ใกล้หมดอายุออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ตู้เย็นทำงานหนักเกินไป และหมั่นทำความสะอาดตู้เย็นด้วย อย่าปล่อยให้ตู้เย็นรกและสกปรกเกินไป จะทำให้เปลืองไฟและตู้เย็นทำงานหนัก ความเย็นไม่ทั่วถึง หรือตู้เย็นความเย็นไม่พอ อาหารที่แช่ไว้ก็จะอายุสั้นลง
4. ใช้กล่องเก็บอาหารแบบใส
หากมีอาหารเหลือในแต่ละมื้อ แนะนำให้เก็บใส่ตู้เย็นด้วยภาชนะที่เป็นแก้วหรือเป็นกล่องใส เพราะจะทำให้เราเห็นว่ามีอาหารอะไรที่เหลืออยู่บ้าง ตอนที่เปิดตู้เย็นเพื่อที่จะหาวัตถุดิบทำมื้อต่อไป จะได้เอาออกมาจัดการอุ่นกินก่อนที่มันจะเน่าเสีย จะได้ไม่ต้องทำใหม่ และไม่เกิด food waste ในที่สุด
5. อย่าทิ้งขว้างอาหาร
เป็นการเริ่มต้นจัดการที่จานข้าวของตนเอง จะทำอย่างไรให้ไม่มีอาหารเหลือให้ทิ้งขว้าง การปรุงอาหาร จะดีที่สุดหากปรุงในปริมาณที่สามารถกินหมดได้ใน 1 มื้อ แต่ถ้าทำเยอะ ในการตักเสิร์ฟอาหาร ไม่ควรตักมาพูน ๆ ในรอบเดียว แต่ควรตักแต่พอกินก่อน ตักในปริมาณน้อย ไม่พอหรือไม่อิ่มค่อยกลับไปตักเพิ่มได้ หรืออาหารที่กินไม่หมด เหลือนิด ๆ หน่อย ๆ ก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นส่วนประกอบของอาหารมื้อต่อไปได้ ผักที่เริ่มเหี่ยว ไม่สวย ก็นำไปทำซุป ทำยำ ผลไม้ที่เริ่มนิ่มก็สามารถนำไปทำน้ำผลไม้ปั่น นำไปเป็นส่วนประกอบในขนม เป็นต้น
6. รู้จักวิธีถนอมอาหาร
อาหารบางอย่างที่ซื้อมามากเกินความต้องการ และไม่สามารถจัดการให้หมดได้ก่อนที่อาหารจะเน่าเสีย เมื่อเห็นอาหารเริ่มเสื่อมสภาพ ควรหาวิธีการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารที่เหมาะสมกับอาหารประเภทนั้น ๆ เพื่อให้สามารถยังเก็บไว้กินได้นานขึ้น ลดการเน่าเสีย อย่างการนำผลไม้บางอย่างมากวน เชื่อม หมัก ดอง รมควัน อบแห้ง แช่อิ่ม จะช่วยยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานกว่าของสด ลดการซื้ออาหารบางอย่างเข้าบ้านด้วย พวกขนมต่าง ๆ เพราะมีของแปรรูปเหล่านี้เป็นของกินเล่นแทนแล้ว
7. อาหารมีตำหนิก็กินได้นะ เป็นไปได้อย่าทิ้งเลย
เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าใคร ๆ ก็อยากได้อาหารหน้าตาดี ๆ มาไว้ในครอบครอง เวลาเลือกซื้อผักหรือผลไม้ หลายคนจึงเลือกแล้วเลือกอีก คัดแล้วคัดอีกว่าจะต้องมีรูปร่างหน้าตาสวย ๆ พวกร้านรวงต่าง ๆ ก็เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคดี จึงพยายามคัดแต่ผักผลไม้สวย ๆ มาขาย ส่วนที่มีตำหนิก็ต้องทิ้งไปเมื่อมันเริ่มหมดอายุ มันจึงกลายเป็น food waste เพียงเพราะมันไม่สวยและไม่มีโอกาสจะถูกเลือกขึ้นชั้นวางจำหน่ายเท่านั้นเอง คำแนะนำก็คือ ถ้าผักผลไม้ไม่ได้มีตำหนิจนเกินไป ลองเลือกซื้อแบบที่หน้าตาไม่สวยดูบ้างก็ได้ ดีไม่ดีอาจได้ซื้อในราคาที่ถูกลงด้วย
8. ควรทำความรู้จักกับ “Best Before=ควรบริโภคก่อน” กับ “Expiration Date=วันหมดอายุ”
อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง ที่ฉลากระบุไว้ว่า “Best Before หรือควรบริโภคก่อน…” เป็นอาหารที่ยังสามารถกินได้อยู่เมื่อผ่านวันนั้นไปแล้ว เพียงแต่คุณภาพอาจลดลงเท่านั้นเอง เพราะอาหารเหล่านี้จะมีรสชาติและคุณภาพตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หากบริโภคก่อนวันที่ระบุไว้ (แต่ก็ไม่ควรกินเมื่อเกินวันที่กำหนดนานเกินไป) แต่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่ากินไม่ได้แล้ว จึงมักจะทิ้งไปก่อนที่จะถึงวันหมดอายุจริง
ส่วน “Expiration Date หรือ Expired นี่คือ “วันหมดอายุ” คือวันที่ส่วนผสมบางอย่างหมดอายุและไม่ควรกินอีกแล้ว หากกินเข้าไปอาจอันตราย อย่างไรก็ตาม การที่อาหารจะหมดอายุจริง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาของเราด้วย และแน่นอนว่ารสชาติอาจไม่ดีเท่าของสดใหม่
9. ขยะเศษอาหารกับการทำปุ๋ย
อย่าเข้าใจผิดว่า food waste เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย มันย่อยสลายได้เองเพราะเป็นขยะอินทรีย์ก็จริง แต่ในความเป็นจริง เวลาเราทิ้งขยะเศษอาหารจะถูกเจือปนไปกับขยะชนิดอื่น ๆ และเกิดการเน่าเสียทับถมกัน เมื่อนำขยะอาหารจำนวนมากทับถมกันแล้วฝังกลบด้วยดิน มันจะใช้เวลานานกว่าปกติในการย่อยสลาย เพราะในดินไม่มีออกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการย่อยสลายทางชีวภาพ แถมยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค สร้างกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อีกต่างหาก
เพื่อไม่ให้ขยะเศษอาหารเหล่านี้ถูกทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ เราสามารถนำมาเพิ่มประโยชน์ให้กับมันด้วยแยกขยะเหล่านี้ออกจากขยะประเภทอื่นแล้วนำไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ อย่างพวกเปลือกผักและผลไม้ เศษเนื้อเศษปลา นำไปหมักรวมกับจุลินทรีย์ ก็จะได้เป็นปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้นั่นเอง