‘ครอบครัวล่มสลาย’ จะติดต่อกันไปถึง 3 รุ่น

‘ครอบครัวล่มสลาย’ จะติดต่อกันไปถึง 3 รุ่น

‘ครอบครัวล่มสลาย’ จะติดต่อกันไปถึง 3 รุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การล่มสลายของครอบครัวจะส่งผลกระทบโดยตรงไปที่ลูก ลูกอาจจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ไม่ว่าเป็นเรื่องของสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรมเชิงลบ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่มาจาก “ครอบครัวล่มสลาย” ที่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว แตกแยก หย่าร้าง ล้มหายตายจากการติดการพนัน ติดสารเสพติด ต้องกลายเป็นผู้ต้องขัง ไปจนถึงการมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรง และโรคติดเชื้อต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งพบร้อยละ 25 ในกลุ่มครอบครัวยากจน “สภาวะด้อยเศรษฐานะ” ซึ่งเกิดเช่นกันในต่างประเทศ

เมื่อได้ติดตามอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 3 รุ่น (Generation) ก็จะยังคงพบปัญหาที่เป็นไปในลักษณะวงจรเดียวกัน หากเด็กไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ ซึ่งรอคอยการหยิบยื่น “โอกาส” ที่จะเติบโตไปมีชีวิตที่ดีขึ้น เด็กที่มาจากครอบครัวล่มสลายจะเติบโตไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “ความเข้าใจ” และ “การยอมรับ” ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ติดเชื้อ HIV ที่ปัจจุบันสังคมเริ่มเกิดการยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า ระหว่างตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ผ่านทางรกเข้าสู่ตัวเด็กได้ถึงร้อยละ 96 และแม้เด็กจะติดเชื้อ HIV ระหว่างการตั้งครรภ์ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาเด็กหลังคลอดเพื่อไม่ให้พบการติดเชื้อในระยะยาว หรือถ้าหากพบการติดเชื้อแล้ว ก็ยังสามารถที่จะประคับประคองอาการให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ต่อไปได้ และเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนหรือสู่ที่สาธารณะ จะไม่มีการเรียกร้องให้ตรวจหาเชื้อ HIV หรือแสดงผลการตรวจเชื้อ HIV แต่อย่างใด ในเมื่อที่ผ่านมาสังคมเราได้เรียนรู้กันมามากพอแล้วว่าจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยที่ไม่ให้เกิดการติดต่อเชื้อ

สำหรับเด็กที่หลุดออกมาจากครอบครัวล่มสลายด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความต้องการ “ผู้ดูแลทดแทน” ในลำดับแรกให้พิจารณาจาก “ญาติ” ซึ่งจะต้องเข้าสู่ขั้นตอน “หาข้อตกลงร่วม” เพื่อทำความเข้าใจในการจัดการอยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับเด็ก โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวยืนยันว่า การ “มอบโอกาส” ให้เด็กได้เติบโตในสภาวะที่ทำให้รู้จัก “ความรัก” และ “ความผูกพัน” แบบ “ครอบครัว” ย่อมดีกว่าการให้เด็กจะต้องไปอยู่ใน “สถานสงเคราะห์” ซึ่งสมควรเป็นเพียงทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว พร้อมเป็นกำลังใจ และทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ มอบองค์ความรู้ หวัง “ตัดวงจร” ให้เด็กสามารถฟื้นจาก “สภาวะสิ้นหวัง” คืนสู่ “สังคมแห่งอนาคตที่ดีกว่า” พร้อมเป็น “พลัง” เพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook