เมื่อมนุษย์เงินเดือนต้องรับมือเงินเฟ้อ

เมื่อมนุษย์เงินเดือนต้องรับมือเงินเฟ้อ

เมื่อมนุษย์เงินเดือนต้องรับมือเงินเฟ้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์เงินเฟ้อนับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อหลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับแรงกดดันในการฟื้นตัวกลับมาลุกยืนได้อีกครั้ง เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับปากท้องคนไทยกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจกับภาวะเงินเฟ้อ พร้อมตระหนักในปัญหาข้าวยากหมากแพงแต่ไม่ตระหนกเพื่อให้พร้อมต่อการรับมืออย่างมีสติและผ่านพ้นวิกฤติไปได้ด้วยดี

รู้อย่างไรว่าเรากำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ละภาคส่วนในประเทศสามารถรับรู้ได้ผ่านอำนาจเม็ดเงินที่เปลี่ยนแปลงไปแตกต่างกันคือ ภาวะเงินเฟ้อในระดับประชาชน มีผลให้อำนาจการซื้อของประชาชนที่น้อยลง แสดงให้เห็นผ่านราคาสิ่งของและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง รายได้ที่มีไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

ภาวะเงินเฟ้อในระดับผู้ประกอบการ มีผลให้ต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้นในขณะที่ยอดขายลดน้อยลง แสดงให้เห็นผ่านการชะลอการผลิต การปิดสาขาหรือยกเลิกบางประเภทสินค้าเพื่อลดต้นทุน ไปจนถึงการเลย์ออฟพนักงานเพื่อให้บริษัทยังไปต่อได้ ส่งผลให้คนตกงานมากขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อในระดับประเทศ มีผลโดยตรงต่อศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวที่ชะลอลงเนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงและการซบเซาของภาคธุรกิจที่ขายไม่ออก ทำให้การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าชะงัก

คนกลุ่มไหนได้รับผลกระทบบ้าง

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาที่สุด คือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพราะได้รับผลกระทบหลายทาง อย่างแรกเลยคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ในหมวดนี้ถึง 45% จึงต้องแบกรับกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยนี้ทำงานในธุรกิจที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิม เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว หรือ อาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดคือ ภาระหนี้สินที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นทวีคูณกับหนี้สินที่มีอยู่แล้วทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยต้องรับมือกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรอบทิศทาง

กลุ่มสินค้าใดบ้างที่มีราคาพุ่งแรง

เมื่อราคาพลังงานโลกมีราคาขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ ส่งผลสถานการณ์เงินเฟ้อโดยตรงด้วยต้นทุนราคาวัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม สินค้ากลุ่มโลหะ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีที่ยังคงมีราคาสูงขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ในขณะเดียวกันปัจจัยด้านอุปทานในประเทศอันเป็นผลจากอุทกภัยและโรคระบาดก็ส่งผลให้อาหารสดอย่างผักสดและเนื้อหมูมีราคาที่สูงขึ้น

มนุษย์เงินเดือนควรปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดสภาวะเงินเฟ้อ

  • สิ่งที่ผู้คนธรรมดาสัมผัสได้จากภาวะเงินเฟ้อ คือค่าครองชีพที่สูงขึ้นเมื่อสินค้าเดิมที่เคยใช้จ่ายมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งภาวะเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือกับแรงกดดันทั้งฝั่งบริโภคและฝั่งผลิต สิ่งที่ประชาชนทั่วไปพอจะรับมือได้คือการลำดับความสำคัญทางการเงินเพื่อรักษาสมดุล เช่น
  • ตั้งงบประมาณไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกการใช้จ่ายอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และอยู่ในสายตาเสมอ เพื่อป้องกันรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  • จ่ายหนี้ระยะสั้นที่ค้างไว้ เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อกู้ยืม คือสิ่งสำคัญที่ควรจัดการรองลงมาจากค่าครองชีพ
  • สำรองเงินฉุกเฉินก่อนจะลงทุน แม้ราคาที่ตกลงจะล่อตาล่อใจแต่เราควรแน่ใจก่อนว่าเรามีเงินสำรองไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินเพื่อในยามคับขันที่จำเป็นต้องใช้
  • ศึกษาตลาดตราสารหนี้ เมื่อแน่ใจแล้วว่าเราปลอดภัยดี ชีวิตปลอดหนี้และมีเงินเก็บสำรอง ตราสารหนี้เป็นอีกวิธีลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
  • เพิ่มรายได้ วิธีการที่จะรับมือกับเงินเฟ้อได้ดีอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มรายได้ ลองใช้เวลาว่างทบทวนว่าคุณมีความสามารถอะไรที่ใช้หารายได้เพิ่มได้บ้าง ต้องเป็นงานที่ไม่ใช้ทุนสูงหรือกินเวลาจากการงานประจำมากเกินไปนัก หรือหากมีงานอดิเรกอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็ลองดูว่าสามารถนำมาต่อยอดทำขายได้หรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook