3 ท่านอนยอดฮิต หลับสบายกายแข็งแรง
คนเราควรใช้เวลานอนในแต่ละวันอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งการพักผ่อนให้เพียงพอก็ถือเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่การนอนในท่าทางที่ถูกต้องก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะ หากนอนในท่าที่ผิดก็อาจทำให้กระดูกหรือเส้นประสาทบาดเจ็บ มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรังตามมาได้ วันนี้เราจึงมีข้อดี-ข้อเสียของท่านอนแต่ละท่า และการเลือกท่านอนให้เหมาะกับสรีระร่างกาย มาฝากกันครับ
นอนตะแคง-นอนขดตัว
เป็นท่าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ผู้ชายมักจะชอบนอนตะแคงมากกว่าผู้หญิง และเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คนเรามักจะมีแนวโน้มที่จะนอนตะแคงสูงขึ้น เนื่องจากกระดูกและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนรู้สึกสบายกว่าหากได้นอนในท่าตะแคงนั้นเอง
- ข้อดี
- เป็นท่าที่ดีต่อกระดูกสันหลัง และลดความเสี่ยงอาการปวดหลังมากที่สุด
- ลดอาการนอนกรนและกรดไหลย้อน
- ท่านี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์
ข้อเสีย
- หากนอนในระยะเวลานานอาจทำให้มีอาการไหล่ตึง ปวดไหล่ ควรจะสลับท่านอนบ้างเป็นครั้งคราว และควรเลือกหมอนที่รองรับสรีระได้ดีความสูงระดับที่นอนแล้วไหล่และสะโพกอยู่ต่ำกว่ากระดูกสันหลังส่วนกลางขณะนอน
- อาจทำให้หน้ามีริ้วรอยมากขึ้น เนื่องจากใบหน้าและหมอนกดทับกันตลอดเวลา
- หากนอนไม่สมมาตรอาจทำให้ปวดเมื่อยเมื่อตอนตื่นนอน ควรใช้หมอนข้างเพื่อคงให้ร่างกายอยู่ในสรีระที่ถูกต้องตลอดเวลา
นอนหงาย
ท่านอนที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 เนื่องจากการนอนหงายทำให้น้ำหนักตัวกระจายลงไปตามส่วนต่างๆ ของแผ่นหลัง อีกทั้งกระดูกสันหลังก็อยู่ในแนวตรง ไม่มีการโค้งผิดรูป และหากมีหมอนรองใต้เข่าขณะนอนหงายก็จะทำให้นอนได้สบายยิ่งขึ้น
ข้อดี
- ท่าที่ง่ายที่สุดที่ตรึงกระดูกสันหลังอย่างถูกต้อง ไม่ต้องห่วงเรื่องอาการปวดเมื่อย เพราะ น้ำหนักของร่างกายถูกแผ่ไปยังจุดต่างๆ อย่างสมดุล ไม่มีการกดทับ
- ลดอาการจมูกตันหรือแน่นของผู้ที่เป็นภูมิแพ้
- ไม่ต้องกังวลเรื่องริ้วรอยบนใบหน้าเหมือนท่าตะแคง
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่นอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะ นอนหงายทำให้ทางเดินหายใจหดแคบ ส่งผลให้มีอาการแย่ลง
- หากที่นอนแข็งจนทำให้เวลานอนมีช่องว่างระหว่างหลังล่างกับที่นอน ควรใช้หมอนรองใต้เข่าเพื่อลดการกด และทำให้เข้ากับสรีระร่างกายตามธรรมชาติมากขึ้น
- ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงท่านี้ เพราะ มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าเดิม
- ผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ หรือผู้สูงอายุ อาจหายใจไม่สะดวกเมื่อนอนหงาย เพราะจะมีแรงกดต่อร่างกายมากกว่านอนตะแคง
- การนอนหงายอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคปวดหลัง มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือนอนกรนเป็นประจำ เป็นต้น
นอนคว่ำ
เป็นท่าที่คนนิยมน้อยที่สุดใน 3 ท่านี้ เนื่องจากการนอนคว่ำมีผลเสียมากกว่าผลดี โดยมีงานวิจัยชี้ว่าในแต่ละคืนเราจะนอนท่านี้ไม่เกิน 10% และยังเป็นท่านอนที่แพทย์ส่วนใหญ่ไม่แนะนำ
ข้อดี
- ช่วยลดการนอนกรน เนื่องจากทางเดินหายใจจะเปิดออกเมื่อนอนท่านี้ แต่ก็ต้องใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่เท่าควร
ข้อเสีย
- การนอนคว่ำน้ำหนักจะเทไปที่หน้าท้องและกระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักได้น้อย แต่จะได้รับแรงกดเพิ่มขึ้นต่อกระดูกสันหลัง ทำให้อาจปวดหลังเมื่อตื่นนอน
- ขณะที่นอนต้องมีการบิดคอไปทางซ้ายหรือทางขวารวมถึงมีการแอ่นไปข้างหลังอีกด้วย อาจก่อให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อคอ เกิดอาการปวดคอ ปวดหลังได้
- ไม่เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์
- เกิดรอยย่นบนใบหน้า เนื่องจากใบหน้าต้องแนบกับหมอนตลอดเวลา
แม้ท่านอนที่ถูกต้องจะดีต่อสุขภาพการนอนเรามากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความสบายและความชอบของแต่ละคนเป็นหลักด้วย หากท่าทางที่เรานอนแล้วรู้สึกสบาย หลับสนิทตลอดทั้งคืนไม่ปวดไม่เมื่อยอะไรยามเช้าก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หากต้องการเปลี่ยนไปนอนท่าที่ถูกต้องและสบายกว่าก็เริ่มต้นได้ ค่อยๆปรับทำซ้ำๆจนปรับตัวเคยชินกับท่านอนใหม่ได้ในที่สุด แต่ถ้าหากมีปัญหาเรื่องของสุขภาพการนอนหลับ ก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะ ปัญหาการนอนหลับก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม