โตมาแบบไหน ก็เป็นคนแบบนั้น มาดูกันว่าคุณเป็นคนแบบไหน
ประโยคที่ว่า “โตมาอย่างไร” ดูจะเป็นคำถามเชิงตำหนิพฤติกรรมที่ไม่น่าพิสมัย เพราะเป็นการสะท้อนว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านั้นเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของครอบครัว จนทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว และในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันว่ารูปแบบการเลี้ยงดูในวัยเด็ก สามารถบ่งบอกพฤติกรรมในปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง
1. ถูกเลี้ยงดูมาแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style)
การถูกเลี้ยงดูมาแบบเอาใจใส่ คือ การอบรมเลี้ยงดูที่บิดามารดาสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็ก โดยที่บิดามารดาจะอนุญาตให้เด็กมีอิสระตามควรแก่วุฒิภาวะ แต่ในขณะเดียวกันบิดามารดาจะกำหนดขอบเขตพฤติกรรมของเด็ก และกำหนดให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตามแนวทางที่บิดามารดากำหนดไว้อย่างมีเหตุผล ถึงแม้บิดามารดาจะมีการเรียกร้องสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรัก ความอบอุ่น และใส่ใจต่อเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง รับฟังเหตุผลจากเด็ก และสนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของครอบครัว
ด้วยการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ จะทำให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและความมั่นคงทางอารมณ์ มีเหตุผล มีความหนักแน่น สามารถควบคุมอารมณ์และปรับตัวได้ดี รวมไปถึงมีความฉลาดทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบอื่น และเด็กในกลุ่มนี้จะปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้ง่าย และให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าสิ่งอื่นใด
2. ถูกเลี้ยงดูแบบควบคุม (Authoritarian Parenting Style)
การถูกเลี้ยงดูแบบควบคุม คือ การอบรมเลี้ยงดูที่บิดามารดามีความเข้มงวดเรียกร้องสูง แต่ไม่ตอบสนองความต้องการของเด็กโดยสิ้นเชิง มีการจัดระบบการควบคุมและวางกฎเกณฑ์ให้เด็กปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด โดยมีการอธิบายน้อยมากหรือไม่มีเลย เด็กต้องยอมรับในคำพูดของบิดามารดาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ มีการใช้อำนาจควบคุมโดยวิธีบังคับ และลงโทษเมื่อเด็กไม่ทำตามความคาดหวังของบิดามารดา บิดามารดามักห่างเหินและปฏิเสธเด็ก
ซึ่งการเลี้ยงดูเด็กแบบควบคุมมากเกินไป ทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เคยทำความเข้าใจผู้อื่น ขณะเดียวกันมักจะหวาดระแวงและวิตกกังวลอยู่เสมอว่าตนเองนั้นทำได้ดีหรือยัง อันเป็นปมจากวัยเด็กที่ต้องตอบสนองการเรียกร้องจากพ่อแม่ และไม่เคยได้รับคำชมเชย
3. ถูกอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive Parenting Style)
การอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ คือ การที่บิดามารดาปล่อยให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ ตามการตัดสินใจของเด็กโดยไม่มีการกำหนดขอบเขต ใช้การลงโทษน้อย ไม่เรียกร้องหรือควบคุมพฤติกรรมเด็ก เด็กสามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึกและอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย บิดามารดาอาจให้คำปรึกษาหรือพยายามใช้เหตุผลกับเด็ก แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของเด็ก บิดามารดาจะให้ความรัก ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการของเด็กเสมอ การเลี้ยงดูแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่บิดามารดามีบุตรยาก หรือมีอายุมากแล้วเพิ่งจะมีบุตร
ซึ่งเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ไม่ฟังเสียงคนอื่น แม้จะรู้จักคุณค่าของตนเอง แต่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีวินัย และไม่มีความรับผิดชอบ
4. ถูกอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (Uninvolved Parenting Style)
การดูแลบุตรแบบทอดทิ้ง คือ การเลี้ยงดูที่บิดามารดาไม่ให้ความสนใจหรือตอบสนองความต้องการของเด็ก ให้การดูแลเอาใจใส่ต่อเด็กน้อยมาก บิดามารดากลุ่มนี้จะเพิกเฉยต่อเด็กพอ ๆ กับไม่เรียกร้องหรือวางมาตรฐานพฤติกรรมใด ๆ ให้เด็กปฏิบัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบิดามารดาปฏิเสธเด็กแต่แรก หรือหมกมุ่นอยู่กับปัญหาและความกดดันในชีวิตประจำวันจนไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่เด็ก ซึ่งการเลี้ยงดูแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในครอบครัววัยรุ่นที่ไม่พร้อมจะมีบุตร หรือ ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจรุมเร้า
เด็กที่โตมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจคนอื่น ขาดทักษะทางสังคม รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และมักจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองอยู่รอดโดยไม่สนว่าจะผิดหรือถูก