ทำความเข้าใจใหม่ หยุดความเชื่อผิดๆ สิ่งที่ห้ามทำเวลาถูกงูกัด
ถูกงูกัด ต้องเอาเชือกรัด ต้องทำขันชะเนาะ เอาปากดูดพิษออกมา หากคุณยังมีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวหรือถูกสอนมาแบบนี้ หยุดคิดแบบนี้เลยนะทุกคน เพราะถ้าคิดแล้วทำแบบนั้นไปจะต้องเกิดอันตรายมากๆต่อตัวผู้ถูกกัดและตัวคุณเอง ว่าแต่วิธีที่ถูกต้องนั้นจะต้องทำอย่างไร วันนี้ทีม INN ได้หาคำตอบมาให้แล้ว เตรียมตัวไว้ เข้าใจถูกต้อง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ไปอ่านกันได้เลย
ความเชื่อผิดๆ
- ปรับพื้นฐานกันสักนิด งูนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือมีพิษกับไม่มีพิษ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแบบเราๆ ไม่ว่าจะถูกงูชนิดไหนกัด ก็ควรที่จะรับการรักษาเหมือนกันเพื่อความปลอดภัยมากที่สุด
- ความเชื่อที่เราได้ยินกันมานั้นคือให้ทำการเอาเชือกรัดเหนือแผลที่ถูกงูกัดหรือขันชะเนาะ หลังจากนั้นดูดพิษออกเพื่อกันพิษแล่นสู่หัวใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการรัดนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว หากรัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้
- ส่วนการดูดพิษออกก็เป็นอันตรายต่อผู้ที่ดูดอาจจะได้รับพิษ ส่วนผู้ที่ถูกดูดอาจจะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
ควรทำอย่างไร
ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแนะนำว่า
- เมื่อถูกงูกัดให้ตั้งสติ
- สังเกตลักษณะของงู หรือถ่ายรูปงูถ้าทำได้
- ขอความช่วยเหลือ
- ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (เพิ่มเติมข้อมูล ใช้น้ำสะอาดล้างบริเวณที่ถูกกัด)
- รีบพาไปที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อย (เพิ่มเติมข้อมูล อาจจะใช้วิธีดามเพื่อลดการขยับ) เพื่อลดการดูดซึมของพิษงู
- หากงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
สรุปถ้าหากถูกงูกัดนั้นต้องห้ามขันชะเนาะหรือเอาปากดูดพิษ สิ่งแรกที่ต้องทำคือให้ตั้งสติ สังเกตงู ถ่ายรูปงู ล้างน้ำแผลด้วยน้ำสะอาด และส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และสุดท้ายในช่วงที่ฝนตกแบบนี้ก็ขอให้ระวังเพราะงูมักจะมาหลบตามบ้านเรือน