วันพระราชทานธงชาติไทย เปิดพัฒนาการธงชาติไทยทุกแบบที่เคยใช้
วันพระราชทานธงชาติไทย ตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย เป็นวันระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460
ธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติไทย มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 3 ส่วน ยาว 5 ส่วน แบ่งเป็นแถบสีตามลำดับจากบนลงล่าง ดังนี้
- แถบสีแดง หมายถึง ชาติ
- แถบสีขาว หมายถึง ศาสนา
- แถบสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
สีทั้งสามนี้ แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์
ในวันพระราชทานธงชาติไทย โดยทั่วไปจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่
- การประดับธงชาติไทยตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
- การเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติ
- การจัดกิจกรรมทางการศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับธงชาติไทย
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของธงชาติไทย และร่วมรักษาไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
พัฒนาการของธงชาติไทย
ย้อนไปในสมัยอยุธยา ได้มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกัน ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง เพื่อใช้สำหรับเรือหลวง นับเป็นครั้งแรกที่แยกธง สำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับ เรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรใช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาบมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 และใน พ.ศ. 2453 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง
พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นจากระยะไกล มีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการ และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่สง่างามเพียงพอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ให้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสาธง ใช้เป็นธงราชการ ต่อมาได้ยกเลิกใช้ ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้ใช้ธงชาติแบบสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว และในพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี 3 สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์ การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ
ระยะเวลาการใช้ สมัยอยุธยา - สมัยรัตนโกสินทร์
ระยะเวลาการใช้ สมัยรัชกาลที่ 1
ระยะเวลาการใช้ สมัยรัชกาลที่ 2
ระยะเวลาการใช้ ก่อน พ.ศ. 2380 - 2459
ระยะเวลาการใช้ พ.ศ. 2459 - 2460
ระยะเวลาการใช้ พ.ศ. 2459 - 2460