“Generative AI” อนาคตการศึกษาไทยยุค EdTech
ในช่วงปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในหลายๆ มิติ คือ “AI หรือปัญญาประดิษฐ์” ที่วันนี้ไม่เพียงทำมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานในรูปแบบเครื่องจักรสมองกลเท่านั้น แต่ยังถูกพัฒนานำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ต่างจากมนุษย์เลยทีเดียว ที่สำคัญสามารถเข้าถึงและใช้งานง่ายมากขึ้น ไม่จำกัดแค่คนสาย Tech เท่านั้น
เทคโนโลยี AI ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ทั้งงานเขียน งานศิลปะ ตลอดจนสร้างคลิป VDO ภาพและเสียงได้เอง ราวกับมนุษย์เป็นผู้สร้างนี้ เราเรียกว่า Generative AI หรืออธิบายโดยสรุปอย่างเข้าใจง่ายคือ เป็นเทคโนโลยีที่สร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมาได้แบบอัตโนมัติ อาทิ ข้อความ ภาพนิ่ง วิดีโอ และสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้โดยอิงตามข้อมูล หรือ Keyword ที่มนุษย์ป้อน ซึ่งปัจจุบันนี้ หลากหลายวงการ ได้นำ Generative AI มาใช้งานในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ โดยใช้เวลาไม่นาน ประหยัดเวลา ทรัพยากร และสามารถปรับแก้เนื้อหาได้ตามต้องการกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ วงการ “การศึกษาไทย” ก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ด้วย
แม้ Generative AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน การทำงาน การเรียน การสอน และอีกหลาย ๆ กิจกรรม สะดวกขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส จนถึงความถูกต้องของเนื้อหาที่ผลิต อีกทั้ง ยังมีข้อกังวลด้วยว่าการมาของ Generative AI อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาไทยหรือไม่ และผู้สอน ผู้เรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ในวันนี้ควรเตรียมตัวอย่างไร
Generative AI นำมาใช้ในวงการ ‘การศึกษาไทย’ อย่างไร
เทคโนโลยี Generative AI ได้นำมาประยุกต์ใช้ในวงการการศึกษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มผู้สอน คุณครู อาจารย์ ที่ใช้ช่วยออกแบบแผนการสอน สื่อการสอน ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง แทนวิถีเดิมที่อาจจะต้องไปค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Google หรือหลาย ๆ แหล่งข้อมูล ทำให้ประหยัดเวลาขึ้น หรือกลุ่มผู้เรียน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งถือเป็นกลุ่ม Early Adopter หรือผู้เปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงชอบทดลองก่อนใคร ก็นำ Generative AI มาช่วยในการค้นหาข้อมูล ทำการบ้าน ทำวิดีโอ ทำสไลด์นำเสนองาน หรือแม้แต่นำมาช่วยระดมไอเดียต่อยอดสร้างเป็นผลงานส่งให้ผู้สอน ช่วยแก้ปัญหาการคิดไอเดียไม่ออก
ทั้งนี้เทคโนโลยีเริ่มที่ผู้สอน ต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เน้นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการคิด ประยุกต์ใช้ข้อมูล มากกว่าการตอบแบบคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ผู้เรียน ต้องใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ รู้เท่าทันข้อมูลที่ได้มามีทักษะการตรวจสอบความถูกต้อง และรู้จักค้นหาคีย์เวิร์ดด้วยคำที่เหมาะสม และผู้ปกครอง ต้องพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่และเรียนรู้ไปกับลูก ชี้แนะการใช้งานที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กรู้จักการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
แนวทางและการประเมินผลการเรียนยุค EdTech
การประเมินผลการเรียนยุค EdTech ของสถาบันการศึกษาต่อเด็กจึงควรเน้น Process มากกว่าเพียงแค่ Output คือ เน้นสนใจที่กระบวนการทำงาน การคิดของเด็กมากกว่าสนใจผลลัพธ์แบบเดิม ๆ ว่าพวกเขามีวิธีคิดในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างประโยชน์ ต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานต่อไปอย่างไร พร้อมสอนให้เด็กในฐานะผู้ใช้เครื่องมือต้องรู้จักรับผิดชอบต่องานที่ทำส่ง มีการวิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น ขณะที่ผู้สอนต้องช่วยติดตามสอดส่อง สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการนำความรู้จากการใช้เครื่องมือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โปร่งใส มีจริยธรรม เพราะเด็กยังด้อยความรู้และประสบการณ์ย่อมต้องการผู้รู้คอยแนะนำและชี้ทางไม่ต่างจากการเรียนการสอนรูปแบบเดิม
การใช้ Generative AI ให้เกิดประโยชน์ สู่การสร้างความสำเร็จ
การใช้เทคโนโลยี Generative AI ให้ประสบความสำเร็จมี Key Success หรือกุญแจสำคัญ ได้แก่
1. เสริมทักษะด้าน Soft Skill ควบคู่ทักษะทางดิจิทัล จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบ เนื่องจากเทคโนโลยี AI ยังไม่สามารถทำวิชาเกี่ยวกับทักษะทางสังคมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ ยกตัวอย่างเช่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในบางส่วน ด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
2. ต่อยอดทักษะการใช้ AI เป็น การมีทักษะการใช้ AI ที่ดี นอกจากจะช่วยลดเวลาทำงานได้แล้ว ยังทำให้ค้นพบอาชีพใหม่ได้ด้วย เช่น อาชีพ Prompt engineering ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบชุดคำสั่งที่กำลังมาแรงมาก ๆ ในขณะนี้
3. ใช้ Generative AI สร้างโอกาสทางการศึกษาได้ เนื่องจากศักยภาพและเป้าหมายของเด็กต่างกัน หากใช้ AI มาสร้างโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มได้ ก็จะช่วยสร้างมิติใหม่ให้การศึกษาไทย และยังช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ