ว้าวุ่นเลย! จ้างหมอดู ซินแส สะเดาะเคราะห์ แต่ชีวิตไม่ดีขึ้น แจ้งความเอาผิดได้
เรียกว่าเป็นสิ่งเล็กๆ ที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามและไม่รู้เลยก็ว่าได้ สำหรับ กลโกงที่เหล่ามิจฉาชีพ ที่หากินกับความเชื่อคน แล้วฉวยโอกาสหาผลประโยชน์และทรัพย์สินจากจุดนี้ จนบางคนเสียเงินหลักล้านแต่ไม่ได้อะไรกลับมา
แต่รู้กันรึเปล่าว่า ถ้าเรา จ้างหมอดู ซินแส หรือ ร่างทรงมาสะเดาะเคราะห์ แต่ชีวิตไม่ดีขึ้น เราสามารถแจ้งความได้ จาก ความผิดฉ้อโกงประชาชน นะ
ทางแฟนเพจ ทนายใกล้ตัว ได้มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการฉ้อโกง ของ จ้างหมอดู ซินแส และ ร่างทรง โดยทางแฟนเพจได้ระบุว่า
จ้างหมอดูมาสะเดาะเคราะห์แต่ชีวิตไม่ดีขึ้น “ผิดฉ้อโกงประชาชน” แจ้งความดำเนินคดีกับหมอดูได้!
แม้ว่าความเชื่อในเรื่องโชคลางและพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยยังมีมิจฉาชีพจำนวนหนึ่ง ที่อาศัยความเชื่อ และความไม่รู้ หากินโดยวิธีทุจริต หลอกลวงผู้เสียหายจนร่ำรวย มีทั้งทรัพย์สินเงินทองและคนบูชา
กรณีดังกล่าวนี้ หากบุคคลที่อ้างตนเองว่ามีความรู้ความสามารถพิเศษ ไม่ได้มีความสามารถเสริมดวง เปลี่ยนแปลงโชคชะตาดังกล่าว แต่กับอวดอ้างความสามารถตัวเอง เพื่อเรียกรับเอาเงินจากผู้เสียหาย ก็ย่อมเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และหากบุคคลดังกล่าว ได้หลอกลวงบุคคลทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกลุ่มบุคคลใดเป็นพิเศษ ก็ยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอีกด้วย บรรดาผู้ถูกหลอกลวงที่ต้องสูญเงินไปเพราะมิจฉาชีพดังกล่าวก็ย่อมสามารถแจ้งความ หรือฟ้องดำเนินคดีกับชินแสหรือหมอดูได้ ตามแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549
จำเลยได้พูดบอกผู้เสียหายแต่ละคนว่าจำเลยสามารถทำพิธีสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหายทั้งแปดเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีปัญหาเรื่องเงินหรือหนี้สินสามารถปลดหนี้สินและขายที่ดินหรือตึกได้ ส่วนผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยปวดที่ขาและปวดเมื่อยที่เข่าจำเลยก็สามารถทำให้หายปวดหายเมื่อยได้ ทั้งที่ความจริงจำเลยไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 หลงเชื่อจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำเงินไปซื้อแพะมาทำพิธีบวงสรวง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย เมื่อการหลอกลวงดังกล่าวได้กระทำต่อผู้เสียหายทั้งแปด นายสมศักดิ์รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่บ้านของนาง ม. บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2530
จำเลยทั้งสองทำน้ำมันมนต์ให้แก่ประชาชนโดยอ้างว่ารักษาโรคได้และเก็บเงินจากประชาชนที่มารับน้ำมนต์ไปคนละ 12 บาทเป็นค่าครู ซึ่งจำเลยทั้งสองก็รู้ว่าน้ำมนต์นั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่จำเลยทั้งสองกลับอวดอ้างว่าเด็กชาย ว. บุตรของจำเลยทั้งสองเป็นอาจารย์น้อย เป็นคนมีบุญ เทพให้มาเกิดทำนองว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมนต์นั้นศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้อันเป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน