เรียนจบปริญญาตรี = ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว?

เรียนจบปริญญาตรี = ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว?

เรียนจบปริญญาตรี = ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มหาลัย มหาหลอก เด็กชายบ้านนอก เด็กหญิงบ้านนา ร่ำเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทํา”

นี่คือท่อนเปิดติดหูของเพลง ‘มหาลัย’ โดยวงคาราบาวที่กลายเป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2527 และยังคงร่วมสมัยจวบจนปัจจุบัน เพราะแม้จะผ่านมาร่วม 3 ทศวรรษ คนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงกังขากับ ‘มูลค่าเพิ่ม’ ของการเรียนมหาวิทยาลัย ท่ามกลางปัญหาหนาหูเรื่องกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ตั้งเป้าหมายเพื่อ ‘ให้โอกาส ให้อนาคต’ แต่กลับกลายเป็นสร้างลูกหนี้ที่พัวพันคดีนับแสนราย โดยมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 64 คน จาก 100 คน

ผู้เขียนรวบรวมข้อสังเกตและสารพัดปัญหาในการออกแบบผลิตภัณฑ์หนี้ดังกล่าวไว้ในบทความที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนในสัปดาห์นี้ ผมจะขอชวนคุยกันต่อถึงประโยชน์ของการกระเสือกกระสนเรียนจนจบปริญญาตรี ว่าความจริงแล้วปริญญาดังกล่าวเป็นเพียงค่านิยม หรือเป็นใบผ่านทางสำคัญสู่การเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

หากย้อนกลับไปตอนสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 การตัดสินใจเรียนต่อคณะหรือมหาวิทยาลัยใดนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ต่างจากเดาสุ่ม ผมแทบไม่รู้เลยว่าจบไปจะมีงานทำไหม งานเป็นอย่างไร มีเงินเดือนมากพอที่จะเลี้ยงชีพหรือไม่ คนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากที่สุดก็คือพ่อแม่ที่แนะนำคณะซึ่งพวกท่านมองว่ามั่นคง แถมยังเป็นผู้สนับสนุนค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์

ผมนับเป็นคนจำนวนหยิบมือที่โชคดี แต่คนส่วนใหญ่คงไม่ได้โชคดีแบบผมเพราะต้องดิ้นรนไปขอกู้ยืมเงิน อีกทั้งคนใกล้ตัวก็อาจให้คำปรึกษาได้ไม่มากนัก เพราะตนเองก็ไม่ได้เรียนสูง การตัดสินใจเรียนต่อจึงอาจอิงจาก ‘ความเชื่อ’ ว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรีจะมีโอกาสทำงานและทำเงินมากกว่าวุฒิ ม.6

แต่ความเชื่อก็อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะในบางสาขาวิชาที่จบจากบางมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้ช่วยให้บัณฑิตหางานได้ง่ายขึ้น หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยสิ่งเดียวที่ติดตัวมาจากรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากปริญญาแล้วก็คือหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องหาทางใช้คืน

จะดีกว่าไหม หากเรามีข้อมูลสำคัญในมือ เช่น อัตราการได้งานหลังเรียนจบ หรือเงินเดือนของบัณฑิตแต่ละคณะเพื่อประกอบการตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัย

เรียนมหาวิทยาลัย ‘คุ้มค่า’ จริงไหม?

ความจริงแล้วการกู้เงินไปเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ เพราะนอกจากจะเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ตั้งแต่ยังไม่เคยทำงานหาเงินแล้ว เรายังหมดเวลาไปอย่างน้อย 4 ปีโดยแทบไม่มีโอกาสหารายได้ แต่การทุ่มทรัพยากรทั้งเงินทั้งเวลาก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป นักศึกษาจำนวนไม่น้อยยอมแพ้ระหว่างทาง และต่อให้ได้ปริญญามาครอบครองก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะสามารถหางานได้ หรือเงินเดือนมากกว่าเริ่มทำงานตั้งแต่จบ ม.6

คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามความเสี่ยงดังกล่าวเนื่องจากค่านิยมที่ว่าต้องเรียนให้จบอย่างน้อยปริญญาตรี แต่ความจริงแล้วการดั้นด้นเรียนจบสูงๆ อาจไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเสมอไป

นี่คือเหตุผลที่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาหนี้สินการศึกษาหนักหน่วง ผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมายความโปร่งใสของวิทยาลัย (College Transparency Act) เพื่อหวังเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างอัตราการมีงานทำและรายได้หลังจากเรียนจบของแต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อของนักเรียน

สาเหตุก็เพราะ ‘มูลค่าเพิ่ม’ ของปริญญาจะแตกต่างกันไปตามคณะและมหาวิทยาลัย ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2557 บริษัทวิจัย PayScale เผยแพร่การศึกษาว่าด้วยรายได้และต้นทุนค่าเล่าเรียนของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาต่างๆ เพื่อนำมาประมาณการผลตอบแทนทางการเงิน แน่นอนว่าเหล่าบัณฑิตจากรั้วมหาลัยไอวีลีกต่างก็ได้ผลตอบแทนทางการเงินเฉลี่ยที่สูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อย่างไรก็ตาม มีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ผลตอบแทนติดลบซึ่งสามารถตีความได้ว่าค่าเล่าเรียนที่ลงทุนไปจะไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากเรียนจบ

สาขาวิชาเองก็ส่งผลค่อนข้างมาก โดยคณะที่เรียนจบยากเย็นและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะมีผลตอบแทนที่สูงลิ่ว ขณะที่คณะชุบชูจิตใจอย่างศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์อาจไม่ได้ทำให้บัณฑิตร่ำรวยแต่อย่างใด การศึกษาชิ้นดังกล่าวพบว่าปริญญาสาขาศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 1 ใน 3 ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเสียอีก แถมบัณฑิตสาขานี้จากบางมหาวิทยาลัยอาจยากจนลงด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการตัดสินใจทำงานตั้งแต่จบ ม.6

แม้กฎหมายจะยังไม่บังคับใช้ แต่มหาวิทยาลัยเท็กซัสเดินหน้าเปิดเผยข้อมูลรายได้ของบัณฑิตแต่ละคณะอย่างโปร่งใสโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายบังคับใช้ แถมให้รายละเอียดในระดับที่ค่อนข้างน่าประทับใจ โดยมีการระบุทั้งรายได้ในปีแรก ปีที่ 5 และปีที่ 10 หลังจากเรียนจบ อีกทั้งยังแยกให้เห็นบัณฑิตที่มีรายได้เฉลี่ยทั้งระดับน้อย ปานกลาง และสูง (25, 50 และ 75 เปอร์เซ็นไทล์) แถมยังระบุความสามารถในการชำระหนี้สินทางการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้อีกด้วย

body_01

รายได้เฉลี่ยของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเท็กซัสหลังจากเรียนจบ 1 ปีและ 5 ปี โดยจำแนกตามคณะ ภาพจาก Seek UT

ผมพยายามค้นหาสถิติลักษณะนี้ของมหาวิทยาลัยในไทย แต่น่าเสียดายที่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ เพราะการเปรียบเทียบเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่น่าสนุกไม่น้อย

หลายคนอาจมองว่าการวัดมูลค่าเป็นตัวเงินเช่นนี้เป็นเรื่องไร้หัวใจ เพราะสาขาวิชาที่ไม่ได้ทำเงินมากมายอะไรอย่างศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญในการนำพาอารยธรรมมนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรุ่มรวยและลุ่มลึก

ผมน้อมรับในข้อจำกัดดังกล่าว แต่อยากให้ลองสวมหมวกของนักศึกษาที่ต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายอันดับหนึ่งของพวกเขาย่อมเป็นการหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อมาใช้หนี้และยกระดับคุณภาพชีวิต หากปริญญาไม่สามารถตอบโจทย์นั้นได้พวกเขาก็อาจตัดสินใจไม่เรียนต่อตั้งแต่ต้น

ว่าด้วยนโยบาย ‘มหาวิทยาลัยฟรี’

ปัญหาหนี้สินทางการศึกษาทำให้หลายคนมองว่าต้นเหตุมาจากค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย นำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยฟรี ภายใต้สมมติฐานที่ว่าปริญญาจะเป็นใบผ่านทางเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าสมมติฐานดังกล่าว ‘โดยเฉลี่ย’ แล้วเป็นเรื่องจริง แต่อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยฟรีนั้นไม่ได้ ‘ฟรี’ จริงๆ แต่มาจากภาษีประชาชน

ภายใต้เงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เราอาจต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่าการเรียนมหาวิทยาลัยจะสร้าง ‘ผลตอบแทน’ ให้สังคมสูงหรือต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาสายอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การวางโครงข่ายสวัสดิการสังคม หรือระบบสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล

ในกลุ่มประเทศโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศพัฒนาแล้วพบว่าแรงงานวัย 25-34 ปีเรียนจบระดับอุดมศึกษาสูงถึง 43% หรือคิดเป็นเกือบสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับราว 20 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการมีบัณฑิตจำนวนมากจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร

การวิเคราะห์ข้อมูลแรงงานอเมริกันโดยนิตยสาร The Economist พบว่าสัดส่วนแรงงานที่เรียบจบระดับอุดมศึกษานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกสายอาชีพ แต่ค่าตอบแทนของอาชีพราวครึ่งหนึ่งกลับมีแนวโน้มลดลงหากปรับตามเงินเฟ้อ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปได้ว่า การไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของอเมริกันชนกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปเมื่อเรียกร้องนโยบายมหาวิทยาลัยฟรีคือ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นนักเรียน ต่อให้ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและการันตีรายได้ แต่ตราบใดที่เรียนไม่จบก็ไม่มีโอกาสสัมผัส ‘สิทธิพิเศษ’ ดังกล่าว สถิติในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาพบว่านักศึกษา 30-40% ตัดสินใจลาออกกลางคัน การทุ่มงบประมาณมหาศาลให้มหาวิทยาลัยฟรีจึงอาจไม่ได้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนแบบเสมอหน้าอย่างที่เราเข้าใจ

ตัวอย่างประเทศที่ได้รับการเชิดชูว่านโยบายการศึกษาดีเยี่ยมและมักถูกหยิบยกมากล่าวถึง คือกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งเปิดให้เรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าประชาชนในประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้มีอัตราการเรียนต่อและเรียนจบระดับอุดมศึกษาสูงอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มหาวิทยาลัยไม่ฟรี

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่มีนโยบายมหาวิทยาลัยฟรีอย่างบราซิลและฟิลิปปินส์ก็มีการศึกษาพบว่านโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนจน และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำลงแต่อย่างใด

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบางกลุ่มได้ แต่ถ้าเรากำลังมุ่งหน้าสร้างรัฐสวัสดิการและมองหานโยบายที่โอบอุ้มทุกคนอย่างเสมอหน้า โจทย์ของเราอาจไม่ใช่การให้ทุกคนมีปริญญา แต่เป็นคำถามว่าจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อให้กลุ่มคนยากไร้สามารถดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเหล่าแรงงานที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งสามารถลืมตาอ้าปากได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองจากรั้วมหาวิทยาลัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook