จิตวิทยามัมหมี 101 ทำไมเราจึงปกป้องและเทิดทูนคนที่ไม่รู้ว่าเรามีตัวตนอยู่ราวกับลูก
ว่ากันว่า 2023 คือปีแห่งการ ‘ล้ม’ ของคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงไทย ไม่ว่านั่นจะจริงหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่ เรามีโอกาสได้เป็นสักขีพยานการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบุคคลมีชื่อเสียงอยู่หลายครั้งหลายครา
แน่นอนว่าข่าวการ ‘แฉ’ ที่เกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงความผิดหวัง ความไม่ไว้ใจ ข้อกังขา การตั้งคำถาม หรือแรงต้านต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น
แต่ยังมีคนที่เชื่อใจแบบไม่หวั่นไหว หาข้อแก้ต่าง พยายามทำความเข้าอกเข้าใจ เต็มไปด้วยแรงสนับสนุนต่อคนคนนั้นอยู่ที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญด้วยเช่นกัน
ในกรณีที่หลักฐานของโจทก์ดูไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะตัดสินได้ การหยุดยืนที่ตรงกลางก่อนสักพักหนึ่งเพื่อประเมินสถานการณ์ หรือแม้แต่การยืนหยัดเคียงข้างจำเลยอาจไม่ผิดแปลกอะไร ตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง’
แต่ในหลายๆ ครั้ง แม้ว่าข้อกล่าวหาจะมีพยานและหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากมายสนับสนุนแล้ว แฟนคลับส่วนหนึ่งยังเดินหน้าปกป้องเจ้าตัวต่อไปอย่างไม่ลดละ ด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า
- “ลูกของฉันเป็นเด็กดี”
- “เขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้”
- “ดูรอยยิ้มนั่นสิ เขาไร้เดียงสาเกินกว่าจะทำอะไรแบบนี้ได้”
- “มันเป็นแค่ความผิดพลาดในอดีต ตอนนี้เขาสำนึกผิดและปรับปรุงตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้นแล้ว”
แล้วปรากฏการณ์นี้ก็ได้สร้างความฉงนขึ้นในใจใครหลายคน ว่าเพราะอะไรแฟนคลับจำนวนหนึ่งถึงมอบความรักและความเชื่อใจ ให้กับบุคคลซึ่งอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขามีตัวตนอยู่มากมายถึงเพียงนี้
Parasocial Relationship: เธอไม่รู้จักฉัน แต่ฉันรู้จักเธอ แถมยังรู้จักดีด้วย!
ดั่งเรื่องราวความรักในนิยายมักถูกเขียนให้มีจุดเริ่มต้นจากความบังเอิญ เหล่าแฟนคลับก็มองความรักอันหวานซึ้งที่พวกเขามีให้ศิลปินเป็นเหมือนความบังเอิญที่สวยงามในแบบเดียวกัน
ฉันค้นพบและตกหลุมรักเธอโดยบังเอิญ
แน่ละ ว่าเหล่าแฟนคลับอาจไม่ได้ตั้งใจตกหลุมรักจริงๆ แต่สาเหตุที่อุตสาหกรรมบันเทิงค่อยๆ ก่อร่างสร้างภูเขาคอนเทนต์เกี่ยวกับดาราหรือศิลปินคนหนึ่งขึ้นมาอย่างประณีตบรรจงนั้น ก็เพราะตั้งใจรอตักตวงผลประโยชน์จากใครสักคนที่เดินมาสะดุดรัก ‘สินค้า’ ของพวกเขาเข้า ‘โดยบังเอิญ’
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ส่วนผู้บริโภคก็คอยพัฒนาตนเองให้ทันโลกทันสมัยอยู่เสมอ กลยุทธ์ที่ธุรกิจบันเทิงใช้ในการสร้างลอยัลตี (Loyalty) ในกลุ่มแฟน ย่อมต้องซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย
ในอดีต ดารานักร้องแทบไม่ต้องทำกิจกรรมอะไรที่นอกเหนือไปจากผลงานแสดง หรือผลงานเพลงของตนเอง แต่ในปัจจุบัน ต้นสังกัดต้องเร่งผลิตคอนเทนต์ออกมามากมายหลายประเภท เพื่อให้สามารถแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภคจากคู่แข่งได้ ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงคอนเทนต์ที่ดึงเอาชีวิตส่วนตัวของศิลปินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น
- ไลฟ์ วล็อก (Vlog) ขณะทำกิจวัตรประจำวัน หรือปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เช่น เมมเบอร์ในวง หรือนักแสดงคู่จิ้น
- สารคดีถ่ายทอดความมุ่งมั่นของศิลปินบนเส้นทางความฝันที่แสนขรุขระ
- โอกาสในการเข้าถึงศิลปินผ่านกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิด เช่น การจับมือและมอบของขวัญในแฟนมีตติ้ง วิดีโอคอลส่วนตัว หรือการส่งแชตบับเบิล
ประสบการณ์ความใกล้ชิดที่ได้เสพผ่านสื่อกลางเหล่านี้ จึงก่อเกิดเป็น ‘Parasocial Relationship’ กล่าวคือฝั่งแฟนคลับ มีความรู้สึกราวกับว่าเราได้เข้าไปรู้จักศิลปินในมิติที่มีความเป็นส่วนตัวจริงๆ เหมือนเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัว ทว่าฝั่งศิลปินนั้น อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามีตัวตนอยู่บนโลกนี้
Halo Effect: คนที่ ‘ใช่’ ทำอะไรก็ไม่ผิด
ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือผลลัพธ์ของการผนึกกำลังของความรักข้างเดียวแบบ Parasocial เข้ากับภาพลักษณ์แสนดีของศิลปินที่ถูกปั้นขึ้นมาโดยต้นสังกัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและอคติที่เอนเอียงตามธรรมชาติของมนุษย์
หากตอนนี้ยังนึกภาพอคติที่ว่าไม่ออก ให้เราลองจินตนาการภาพอันธพาลนิสัยไม่ดีคนหนึ่งขึ้นมาในหัว คนคนนี้อาจมีพฤติกรรมไม่ดีบางอย่างที่สังคมรังเกียจ เช่น เมาแล้วขับ คุกคามทางเพศ กลั่นแกล้งเพื่อนร่วมชั้น หรือซ้อมทรมานคนรักของตัวเอง
เราจะพบว่าภาพแรกที่ลอยขึ้นมาในห้วงความคิดของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ภาพของบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาสอดคล้องสเปกส่วนตัวของเรา (ที่อาจไม่ส่วนตัวเสมอไป เพราะมักถูกครอบงำด้วยมาตรฐานความงามของยุคสมัยโดยที่เราไม่รู้ตัว)
อคติตามธรรมชาติของมนุษย์ที่แสนไม่เป็นธรรมนี้ เรียกว่า ‘Halo Effect’ หมายถึงภาวะที่วิจารณญาณของบุคคลหนึ่งต่ออีกบุคคลหนึ่งในภาพรวม ถูกบดบังโดยลักษณะพิเศษอะไรบางอย่าง เปรียบเสมือนฮาโล (Halo) หรือแสงสว่างเป็นวงกลมที่อยู่เหนือศีรษะของเทวดา ที่คนทั่วโลกเข้าใจตรงกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความดี
ถ้าพูดถึงกลุ่มแฟนคลับที่เรียกตนเองว่า ‘มัมหมี’ ลักษณะพิเศษที่ว่านี้ คงหนีไม่พ้นหน้าตาหรือบุคลิกนิสัยที่ถูกนำเสนอออกมาให้ดูน่ารัก สดใส เยาว์วัย ไร้เดียงสาอยู่เสมอ
ไม่ว่าศิลปินจะทำอะไร เหล่ามัมหมีก็จะคอยตามไปตั้งชื่อเรียกให้ด้วยฟิลเตอร์เอ็นดูว่า น้อง ยัยหนู ตะหนู เด่กเร้ก มุ้มุ้ ฉามขวบ ฯลฯ
มองโดยผิวเผินอาจดูเหมือนพวกเขาเพียงล้อเล่นกันเองภายในแฟนด้อมเท่านั้น เพราะคงไม่มีใครคิดจริงจังว่าศิลปินเป็นเด็กเล็กๆ แต่การหยอกล้อศิลปินในลักษณะนี้ กลับส่งผลให้แฟนคลับส่วนหนึ่งเสพติดการมองศิลปินผ่านเลนส์สีลูกกวาดที่ตนสร้างขึ้น จนเผลอไป ‘Infantilize’ หรือลดทอนอำนาจและความสามารถของศิลปินในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ในชีวิต และมองศิลปินที่เป็นผู้ใหญ่เป็นเด็กแรกรุ่นไม่รู้เดียงสาอยู่เสมอ เหมือนพ่อแม่ที่ยังคงมองว่าลูกๆ ที่โตแล้วเป็นเด็กน้อยอยู่วันยังค่ำ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่ระดับเบาๆ อย่างความขัดแย้งในแฟนด้อมจากการ ‘สวนโพฯ’ ของแฟนคลับสองกลุ่มซึ่งมีมุมมองต่อศิลปินต่างกันในลักษณะขั้วตรงข้าม ไปจนถึงระดับกลางๆ อย่างการแสดงความคิดเห็นว่า ‘หวง’ ร่างกายและเนื้อตัวของศิลปิน เมื่อเจ้าตัวต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยเนื้อหนัง
ที่น่าเป็นห่วงคือระดับที่ร้ายแรงขึ้นมา อย่างการว่าร้ายและคุกคามเพื่อนร่วมงานเพศตรงข้ามหรือคนรักของศิลปินเพราะความหึงหวง อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการ Infantilize ตัวตนศิลปินที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือภาพที่เราเห็นกันตลอดมหากาพย์ส่งต่อการแฉเป็นทอดๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา