ยิ่งหยุดนาน การทำงานยิ่งดีขึ้น เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับวันหยุด มากกว่าวันทำงาน

ยิ่งหยุดนาน การทำงานยิ่งดีขึ้น เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับวันหยุด มากกว่าวันทำงาน

ยิ่งหยุดนาน การทำงานยิ่งดีขึ้น เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับวันหยุด มากกว่าวันทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าแปลกใจไม่น้อยที่ ‘วันหยุด’ ดูเหมือนจะเป็นคำต้องห้ามที่ไม่สามารถพูดออกมาได้แบบโผงผางในวัฒนธรรมการทำงานของประเทศไทย เพราะด้วยความเชื่อและธรรมเนียมที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นมาตลอดว่า ‘คนขยันเท่านั้น จะไม่มีวันอดตาย’ ทำให้มนุษย์ทุกคนจึงพยายามเหลือเกินที่จะเป็นคนขยัน โดยการทำงานเกินเวลา แล้วคาดหวังว่าความเป็นอยู่ของตนเองจะดีขึ้น

ค่านิยมแบบนี้ไม่เพียงแต่แพร่หลายในกลุ่มชนชั้นแรงงานสู้ชีวิต ทว่าเหล่าบรรดานายจ้าง นายหัว และเหล่าซีอีโอ ต่างก็ยึดหลักเดียวกัน เปลี่ยนแค่วิธีการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกลุ่มคนเหล่านี้คิดว่า การให้พนักงานทำงานหนักขึ้น ทุ่มเทแรงใจแรงกายมากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทหรือธุรกิจของตนเองเติบโตงอกงาม

ถึงแม้ตัวเลขและงานวิจัยจะไม่ได้บอกแบบนั้น

จากการสำรวจพนักงานภายในองค์กรของบริษัทด้านการตรวจสอบบัญชีและการเงินระดับโลกอย่าง อีวาย (EY) ระบุว่า เวลาทุก 10 ชั่วโมงที่พนักงานได้พักผ่อนในวันหยุด จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขึ้น 8% นอกจากนี้ยังลดโอกาสการลาออกของพนักงานได้อีกด้วย เนื่องจากการมีเวลาได้หยุดพักอย่างเต็มที่จะช่วยลดความเครียด และเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า การหยุดพักผ่อนของพนักงานช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นผลดีต่อองค์กรมากกว่า

นอกจากเรื่องการทำงาน เรื่องนี้ยังส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นๆ ของมนุษย์ด้วย เพราะการทำงานหามรุ่ง หามค่ำ เบียดเบียนเวลาอื่นๆ โดยเฉพาะการพักผ่อน อาจส่งผลต่อสุขภาพ จนในที่สุดอาจจะนำไปสู่ภาวะทำงานหาเงินเพื่อไปรักษาตัวเองในยามแก่เฒ่า กลายเป็นคนทำงานหอบเงินไปใช้บนสวรรค์โดยไม่รู้ตัว

เพราะความกดดันจากการทำงานในแต่ละวันจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น หากฮอร์โมนเหล่านี้อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ จะส่งผลโดยตรงกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งถ้าคุณเผชิญกับภาวะกดดันจากการทำงานโดยไม่มีวันหยุดพัก และไม่สามารถลดระดับฮอร์โมนความเครียดลงได้ ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะแย่ลง ส่งผลให้มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย อาทิ โรคมะเร็งและโรคหัวใจ ตามมา

ผลการศึกษาจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองถึง 745,000 ราย เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมง และภายในงานวิจัยยังพบอีกว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันถึง 35% และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 17% เมื่อเทียบกับเวลาทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นความเชื่อมโยงอย่างมีนัยยสำคัญระหว่างการพักผ่อน การทำงาน และสุขภาพ เนื่องจากการพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับเมตาบอลิซึม (Metabolism) หรือกระบวนการเผาผลาญและดูดซึมภายในร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และระดับคอเลสเตอรอลที่ผิดปกติ รวมถึงโรคที่คนไทยหลายคนกำลังเผชิญอย่าง โรคเบาหวาน

คำถามต่อมาคือ มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ควรทำงานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึงจะดีต่อสุขภาพและดีต่อการทำงานด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเวลา ลอรา แวนเดอร์แคม (Laura Vanderkam) ได้ทำการเก็บข้อมูลจากพนักงานจำนวน 900 คน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความคิดและชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน พบว่า โดยปกติพนักงานจะทำงานเฉลี่ย 8.6 ชั่วโมงต่อวัน แต่หากลดเวลาจากเดิมลง 1 ชั่วโมง จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีความกดดันในการทำงานลดลง และมีเวลาจดจ่อกับงานมากขึ้น นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.6 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

การทำงาน 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คล้ายคลึงกับระยะเวลาการทำงานในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก อ้างอิงข้อมูลจาก World Happiness Report 2023 ที่จัดทำโดยองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) ผู้คนในประเทศเดนมาร์กจะทำงานไม่เกิน 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยในแต่ละวันพวกเขามักออกจากที่ทำงานก่อนเวลา 16.00 น. หรือ 17.00 น. ถึงอย่างนั้น ประสิทธิผลจากการทำงานของชาวเดนมาร์กยังคงดีกว่าหรือเทียบเท่าประเทศอื่นๆ ที่ทำงานหนักและล่วงเวลาแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถจัดการตารางเวลาให้อยู่ในความเหมาะสม ซึ่งระยะเวลาที่แนะนำคือ 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสามารถแบ่งเป็นทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง (40 ชม./สัปดาห์) , ทำงาน 4 วัน วันละ 8 ชั่วโมง (32 ชม./สัปดาห์) หรือทำงาน 5 วัน วันละ 6 ชั่วโมง (30 ชม./สัปดาห์) ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเป็นไปได้ของแต่ละบุคคลหรือบริษัท

นอกจากการหยุดพักผ่อนจะช่วยปลอบประโลมสุขภาพทางกายแล้ว ยังสามารถปลอบประโลมสุขภาพทางจิตใจ ช่วยให้สมองที่เหนื่อยล้าได้พัก นอนหลับได้ดีขึ้น เกิดภาวะเครียดหรือซึมเศร้าน้อยลง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของคนวัยทำงาน

วันหยุดไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพระยะยาว แต่ยังช่วยทำให้เราได้มีโอกาสพักจาก ‘หน้าที่การงาน’ มาใช้เวลาทำ ‘หน้าที่ของมนุษย์’ ได้ออกไปเดินทางท่องเที่ยว ใช้เวลากับลูกหลาน รับประทานอาหารกับครอบครัว ดูซีรีส์ที่ชอบ ดูภาพยนตร์ที่ใช่ แล้วออกไปฟังเสียงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มากขึ้น เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า เราไม่ใช่เครื่องจักร หรือฟันเฟืองของอะไหล่ชิ้นใดในโรงงาน แต่เราเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ควรมีเวลาให้ตัวเอง และมีโอกาสได้พักบ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook