อกหัก กว่าความเศร้าจะหายไป ต้องผ่าน 5 ขั้นของความเสียใจ
“อกหัก” เป็นประสบการณ์ทางความรักที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่เลือกเพศ รูปร่าง หน้าตา เชื้อชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นความไม่สมหวังในความรักที่เกิดขึ้นเพราะเรากับเขาไม่สามารถเดินหน้าไปกันได้ อาจจะเป็นการแอบรักเขาข้างเดียว รักคนที่เขาไม่ได้รักเราตอบ หรือการยังรักคนที่เลิกรากันไปแล้ว ล้วนแล้วแต่ทำให้อกหักแล้วเกิดความเสียใจได้หมด
ในทางจิตวิทยา มีทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายวิธีและขั้นตอนการรับมือของมนุษย์ในช่วงที่รู้สึกเสียใจ เรียกว่า “5 Stage of grief” หรือระยะของความเศร้า มีที่มาจากหนังสือ On Death and Dying เขียนโดย Elisabeth Kübler-Ross นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ทฤษฎีนี้ในหนังสืออธิบายถึงภาวะของคนที่กำลังจะตายหรือรับรู้ว่าตนเองจะต้องตายแน่ ๆ มนุษย์จะใช้กระบวนการนี้ในการจัดการกับความเศร้าโศกเสียใจและความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรง แรกเริ่มจึงมุ่งเน้นไปที่การอธิบายสภาพทางจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษา และกำลังเผชิญหน้ากับความตาย
แต่คนเราไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือทุกข์ทรมานกับเรื่องความเป็นความตายเพียงเรื่องเดียว ต่อมาจึงได้มีการใช้ทฤษฎีกับความเสียใจในเรื่องอื่น ๆ กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จากการที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังหรือความทุกข์ทรมานใจอย่างร้ายแรง เกิดเป็นช่วงที่เศร้า เสียใจ เปราะบาง อ่อนไหวทางอารมณ์ อย่างเช่น การสูญเสียของ/สัตว์เลี้ยง/บุคคลอันเป็นที่รัก ตกงาน สูญเสียอิสรภาพ รวมถึง “การอกหัก”
ความเสียใจที่เกิดขึ้นจากการอกหัก เป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้มีหัวใจทุกคนต้องเผชิญ อย่างที่บอกว่าการไม่สมหวังในความรักเกิดขึ้นได้กับทุกคน และความเสียใจที่เกิดขึ้นนี่แหละที่เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ามนุษย์มีหัวใจ แต่ละคนจะค่อย ๆ ผ่านระยะของความเศร้าไปทีละขั้นโดยไม่เรียงลำดับ เพราะระหว่างนั้นอาจมีการกระโดดกลับมาที่ขั้นต้น ๆ ใหม่ หรือสลับไปสลับมาก็ได้เช่นกัน แบบที่เรียกว่า “มูฟออนเป็นวงกลม” ทำให้สภาพจิตใจอยู่ในภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามไปด้วย
เพราะการปลดล็อกตัวเองออกจากพันธนาการทางจิตใจไม่ใช่เรื่องง่าย (และไม่เคยง่าย) เพราะเราเคยผูกพันหรือเคยรู้สึกดีกับมันมาก ๆ จะให้ตัดขาดได้ง่าย ๆ ในทันทีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ลึก ๆ ในใจยังคงบอบช้ำอยู่ แต่การเข้าใจระยะของความเศร้าทั้ง 5 ขั้นนี้ จะทำให้เรารู้ว่าขณะนี้ความคิดและการกระทำของเราอยู่ที่ขั้นไหน โดยระยะเวลาที่ยืนอยู่ในขั้นนั้น ๆ ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันด้วย สภาพจิตใจของบางคนอาจจะกระโดดข้ามขั้นจากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่งได้เลย นี่จึงใช้อธิบายได้ว่าทำไมบางคนถึงได้มูฟออนจากการอกหักได้เร็วเหลือเกิน
แต่สุดท้ายความเสียใจในเรื่องนั้น ๆ มันก็จะไปสิ้นสุดที่ระยะที่ 5 ทั้งสิ้น แล้วเราจะได้คำตอบที่เคยเฝ้าถามมาตลอดว่า “เมื่อไรจะหายเศร้า” หรือ “เมื่อไรจะตัดใจจากเขาได้” นั่นเอง ดังนั้น “5 Stage of grief” ไม่ใช่ฮาวทู ไม่ใช่วิธีปฏิบัติในการก้าวข้ามความเสียใจหรือวิธีการเลิกรักใครสักคน แต่เป็นกระบวนการที่อธิบายว่ามนุษย์มีขั้นตอนในการยอมรับความจริงและอยู่กับความเสียใจอย่างไร
ระยะที่ 1 ระยะปฏิเสธและหลีกหนีความจริง (Denial & Isolation)
สัญชาตญาณของมนุษย์ในการป้องกันตนเองเวลาที่เจอเข้ากับเรื่องที่ไม่ทันตั้งตัว คือ การปฏิเสธความจริง เป็นระยะที่เราจะปฏิเสธสิ่งที่ได้รับรู้ เพราะกำลังรู้สึกช็อกกับเรื่องที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ จะมาพร้อมกับความรู้สึกไม่เชื่อ ไม่ยอมรับความจริง ฟูมฟาย คร่ำครวญกับสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญ เริ่มมีการโทษตัวเองและมีความเคียดแค้นร่วมด้วย เพราะไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง มันเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มนุษย์ยังรับมือไม่ไหว ยังไม่พร้อมที่จะแบกรับ ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับตัวให้รับรู้กับสภาวะช็อกได้เอง
ระยะที่ 2 ระยะโกรธ (Anger)
เป็นช่วงที่มนุษย์เปลี่ยนความอ่อนแอ อ่อนไหว มาเป็นความโกรธ ซึ่งเป็นกลไกของจิตใจที่ป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวดที่รับรู้แล้วว่าเกิดขึ้นจริง ใช้ความโกรธเยียวยาความเสียใจ ช่วงนี้จะรู้สึกโกรธได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ใครก็เข้าหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนสนิทก็ตาม บางคนเริ่มกล่าวโทษคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ลึก ๆ อาจจะรู้ดีว่าคนนั้นไม่ผิด แต่การได้หาสักคนมารับความผิดก็ทำให้จิตใจรู้สึกดีขึ้น บางคนก็เข้าข้างตัวเองว่าไม่ควรจะไปเสียใจกับคนพรรค์นั้น ทั้งที่ลึก ๆ รู้สึกอีกอย่าง และบางคนก็เอาแต่ตั้งคำถามว่าทำไม ทำไม และทำไม
ระยะที่ 3 ระยะต่อรอง (Bargaining)
เมื่อความโกรธเริ่มเบาบางลง คนเราจะกลับมาใช้วิธีประนีประนอมอีกครั้ง เริ่มที่จะต่อรองกับตัวเอง อยากจะย้อนเวลาไปแก้ไขจุดที่คิดว่ามันผิดพลาด เพื่อให้ผลลัพธ์มันต่างจากที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ “ตอนนั้นไม่น่าทำอย่างนั้น” หรือ “ตอนนั้นน่าจะทำแบบนั้น” แล้วแต่กรณี มีการถกเถียงในหัวตัวเองอยู่ตลอดเวลา อาจมีการคิดวนลูปจนย้ำคิดย้ำทำ แล้วนำไปสู่ภาวะทางจิตที่หนักมากขึ้น หรือบางคนก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อขอให้ได้กลับไปสู่จุดที่ยังดี ๆ กันอยู่ ไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม แม้กระทั่งทำร้ายหรือด้อยค่าตัวเอง พยายามจะรั้งวันเวลาเหล่านั้นไว้ให้ได้นานที่สุด
ระยะที่ 4 ระยะซึมเศร้า เสียใจ (Depression)
หลังจากที่เริ่มตระหนักได้ว่าการต่อรองไม่เป็นผล สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราจะกลับมายืนในจุดที่เห็นความจริงชัดเจนขึ้น เริ่มที่จะเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ ระยะนี้จึงมีความเศร้าโศก เสียใจ ตรอมใจ และอาจมีภาวะซึมเศร้า (ยังไม่เป็นโรค แต่พัฒนาเป็นโรคได้) ที่มาจากความอดทนที่จะอยู่กับความจริง อย่างไรก็ดี “เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง” ความเจ็บปวดแบบแผลสดจะอยู่กับเราไม่นาน มันจะค่อย ๆ แปรสภาพไปเป็นความทรงจำ จำไม่ลืม แต่ก็ไม่มีผลทางอารมณ์ และทำร้ายเราไม่ได้อีกต่อไป ขอแค่อดทนมากพอที่จะรอเวลา
ระยะที่ 5 ระยะยอมรับความจริง (Acceptance)
ความเศร้า ความเสียใจจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ สภาพจิตใจปรับตัวเข้าสู่โหมดยอมรับความจริง เวลานี้คือเริ่มยอมรับสภาพและภาวะต่าง ๆ ได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง พร้อมที่จะเผชิญหน้าและก้าวผ่านไปข้างหน้ามากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับอดีตที่แก้ไขไม่ได้และความเจ็บปวดที่กลายเป็นความทรงจำแย่ ๆ จริงจังกับการเยียวยาตัวเอง ถึงอย่างนั้น การยอมรับความจริงได้ก็ไม่ได้แปลว่าเราโอเค เพียงแต่มันไม่ได้รู้สึกแย่เท่า 4 ระยะที่ผ่านมา สภาพจิตใจจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนจบระยะสุดท้ายนี้ไปในที่สุด และได้คำตอบว่า “เมื่อไรจะหายเศร้า” หรือ “เมื่อไรจะตัดใจจากเขาได้” นั่นเอง
เมื่อผ่านมาได้ถึงระยะที่ 5 กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้เราจะเห็นตัวเองผ่านอะไรมาตั้งมากมาย และพบว่ามันเป็นการเดินทางไกลอย่างหนึ่ง ที่ต้องใช้เวลาและใช้ความเข้าใจในระหว่างเส้นทางให้มาก ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่จิตใจของเราใช้จัดการสภาวะเศร้าโศก เสียใจ เวลาที่อกหักหรือผิดหวังในความรัก เมื่อทำใจได้แล้ว ก็จะพบว่าตัวเองเข้าใกล้ความสุขให้มากขึ้น