เพราะอะไร งานวิจัยถึงบอกว่า คน Gen Z คือเจเนอเรชัน ที่โดดเดี่ยวและเหงามากกว่าช่วงวัยอื่น

เพราะอะไร งานวิจัยถึงบอกว่า คน Gen Z คือเจเนอเรชัน ที่โดดเดี่ยวและเหงามากกว่าช่วงวัยอื่น

เพราะอะไร งานวิจัยถึงบอกว่า คน Gen Z คือเจเนอเรชัน ที่โดดเดี่ยวและเหงามากกว่าช่วงวัยอื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเหงาเป็นเรื่องของทุกคน มันมักวนเวียนมาพบเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม และถึงต่อให้อยู่ท่ามกลางผู้คนนับพัน ความเหงาก็สามารถเข้าปกคลุมเราได้ เพราะเงื่อนไขของความโดดเดี่ยวไม่ใช่ผู้คน แต่เป็นกลุ่มก้อนความรู้สึกที่ผู้คนมอบให้แก่กัน ทั้งความรัก ความผูกพัน ความห่วงใย และปฏิสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน

ซึ่งหากคำกล่าวที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนั้นคือเรื่องจริง ความเหงาก็คงเป็นศัตรูตามธรรมชาติของมนุษย์ที่น่าหวาดกลัวที่สุด นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พวกเราต่างหาทางดิ้นรนเพื่อหลีกหนีความโดดเดี่ยวมาตลอด

มนุษย์จริงจังกับการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิต พอๆ กับการประดิษฐ์ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมทางสังคม เพื่อป้องกันตัวเองจากความเงียบเหงา เมื่อกาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป จากสิ่งประดิษฐ์พัฒนาเป็นนวัตกรรม จากกิจกรรมพัฒนาเป็นวัฒนธรรม ส่งต่อเครื่องมือทางสังคมเพื่อป้องกันความโดดเดี่ยว และถึงแม้โลกจะพัฒนามากกว่าเดิม แต่เรายังไม่สามารถขจัดความเหงาให้ลดลงไปได้ ซ้ำร้ายดูเหมือนยิ่งนานวัน ความเปลี่ยวเหงาของผู้คนยิ่งเพิ่มทวีคูณโดยเฉพาะในวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ควรสดใสร่าเริง รายล้อมไปด้วยความสนุกสนาน

จากการสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรการกุศล Eden Project Communities ซึ่งทำงานด้านการศึกษาและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ระบุว่า 19% ของเด็กอายุ 16-24 ปี รู้สึกเหงาตลอดเวลา ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุถึง 3 เท่า หรือคิดเป็น 6% ของผู้ตอบแบบสำรวจ อีกทั้งจากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ในเมืองมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ YouGov บริษัทวิจัยการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ในปี 2019 ที่ระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวในประเทศอังกฤษรู้สึกว่าการหาเพื่อนใหม่และการเข้าสังคมเป็นเรื่องยาก

ทำไมคน Gen Z รู้สึกเหงามากกว่าผู้คนในช่วงวัยอื่น?

เทรซีย์ ร็อบบินส์ (Tracey Robbins) หัวหน้าฝ่ายจัดสรรโครงการจาก Eden Project Communities กล่าวว่า ความเหงาของคนหนุ่มสาวอาจเชื่อมโยงกับการใช้โซเชียลมีเดีย การอาศัยอยู่ตามลำพังในเมืองใหญ่ รวมถึงข้อจำกัดทางสังคมที่เกิดขึ้นหลังโรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ความมั่นใจในการพบปะผู้คนใหม่ๆ ลดลง

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก หลายคนมีบัญชีผู้ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองในโลกออนไลน์ พูดคุยผ่านการพิมพ์ มองแต่ละเหตุการณ์ผ่านหน้าจอ ชื่นชม ยินดี ก่นด่า และเสียดสี โดยไม่สนใจว่าคู่สนทนาเป็นใคร จนสูญเสียตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง และทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างผู้คนในชีวิตประจำวันลดลง

ผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น มักโฟกัสกับความเป็นไปในโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่า ทั้งจากพฤติกรรมการเฝ้ารอยอดกดถูกใจจากรูปภาพที่เพิ่งเผยแพร่ไป รวมไปถึงความกดดันในความคาดหวังการมีรูปลักษณ์คล้ายดาราในสื่อโซเชียล รวมถึงการต่อสู้กับคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ที่ทำให้ใจป่วย (Social Toxic) ที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จีน ทเวนจ์ (Jean Twenge) จากมหาวิทยาลัยซานดิเอโก (Diego State University) ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียที่มีต่อวัยรุ่น พบว่า นักเรียนมัธยมปลายที่กำลังเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในปี 2016 มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลงหนึ่งชั่วโมงต่อวัน และจากการศึกษายังพบว่าวัยรุ่นที่ใช้เวลาตอบโต้คู่สนทนาผ่านโซเชียลมีเดียรู้สึกเหงามากกว่าคนที่พูดคุยตอบโต้แบบเห็นหน้า

ดร.เจฟฟรีย์ ฮอลล์ (Jeffrey Hall) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการความสัมพันธ์และเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส กล่าวว่า โซเชียลมีเดียทำให้คำจำกัดความของคำว่า ‘พบปะทางสังคม’ ของวัยรุ่นต่างออกไปจากความหมายเดิม พวกเขาไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันจริง ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียในการโต้ตอบจะลดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารระหว่างผู้คน ส่งผลให้พวกเขาเพิกเฉยต่อกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด ยิ่งถูกกระตุ้นให้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง ทำให้พวกเขารู้สึกเปลี่ยวเหงาและแปลกแยก

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมา ยังฝากรอยแผลทางสังคมครั้งใหญ่เอาไว้ในใจวัยรุ่น Gen Z เนื่องจากมาตรการการเว้นระยะห่างและการกักตัวช่วงโรคระบาดยิ่งพรากโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเยาวชนที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางาน ทำให้ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออันแสนสำคัญของพวกเขาถูกแช่แข็ง

จากการศึกษาในปี 2022 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างช่วงอายุและสุขภาพจิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งการฟื้นฟูด้านสภาพจิตใจก็ไปเป็นได้ยากกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องวุฒิภาวะ และประสบการณ์การรับมือกับเรื่องที่ยากลำบาก

นอกเหนือจากปัจจัยด้านชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เพราะผู้คนจากทุกมุมของเมืองใหญ่พร้อมที่จะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเราเสมอ โดยปกติคนส่วนใหญ่อาจคิดว่า การอยู่ในพื้นที่ที่มีคนเยอะๆ ผู้คนหลากหลาย ได้พบปะผู้คนมากมายจะช่วยให้เราไม่รู้สึกเหงา ทว่า ผลลัพธ์ที่ได้นั้นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

จากการสำรวจของเว็บไซต์ TimeOut City Index พบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ 55% รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ในขณะที่ผู้คนในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 52% รู้สึกเช่นเดียวกัน และกล่าวว่า เมืองใหญ่ที่คนพลุกพล่านเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจจาก Urban Mind แอปพลิเคชันวัดประสบการณ์การใช้ชีวิตในเมือง ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 16,602 คน ระบุว่า สภาพแวดล้อมแออัดยัดเยียดเพิ่มความเหงาได้ถึง 38% ซึ่งเชื่อมโยงกับ อายุ เพศ และเชื้อชาติ

นั่นหมายความว่า การเข้ามาเรียนและทำงานภายในเมืองหลวงที่คับคั่งไปด้วยผู้คนอาจส่งผลต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเหงาไม่ใช่การไร้ผู้คนอยู่รอบข้าง แต่เป็นเรื่องของการไร้ซึ่งความรู้สึกฉันมิตรเสียมากกว่า การใช้ชีวิตโดยไม่รู้จักเพื่อนบ้านหรือคนรอบข้าง การใช้ชีวิตโดยไม่สามารถวางใจผู้คนมากมายที่เดินผ่านไปมาได้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

ไม่ว่าความเหงาจะเกิดจากอะไร อยู่กับเรานานแค่ไหน แต่มันจะไม่คงอยู่ไปตลอด และในความเป็นจริงความโดดเดี่ยวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุใด แต่จดจำไว้ว่ามันจะผ่านไปในไม่นาน วันเวลาที่สดใสรอเราอยู่เสมอ ประสบการณ์และยุคสมัยจะนำพาความเหงาเหล่านั้นให้กลายเป็นอดีต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook