ตำนานเมืองระหว่างบรรทัด จาก กระสือไทย ถึง แม่มดฝรั่ง ความกลัว เพศสถานะ และสภาวะแปลกแยก
ลองหลับตาลง แล้วจินตนาการภาพตัวเองอยู่ในชนบทที่ไหนสักที่ หากมีทุ่งนาบรรยากาศเงียบสงัดได้ด้วยก็จะดี เพราะนั่นเป็นที่เกิดเหตุยอดนิยม ขณะนี้เป็นเวลาค่อนข้างดึก จะกี่โมงนั้นคุณเองไม่ทราบแน่ชัด รู้แค่ว่าฟ้ามืดตื้อ รู้แค่ว่าบ้านทุกหลังปิดไฟนอน รู้แค่ว่าต้องรีบกลับให้ถึงบ้าน
แต่ก่อนที่จะได้ทำเช่นนั้น ตาของคุณดันเหลือบไปเห็น ‘มัน’ เสียก่อน
มองเผินๆ เหมือนไฟดวงโตที่ส่องแสงสีแดง (บ้างก็ว่าเป็นสีเขียว แล้วแต่ความเชื่อในพื้นที่) วับๆ วามๆ อยู่กลางทุ่ง แต่เมื่อเพ่งมองให้ดี ก็จะเห็นว่าเป็นศีรษะลอยได้ของหญิงผมกระเซิงที่มีตับไตไส้พุงห้อยติดอยู่ด้วย
หากมองผ่านสายตาของคนภายนอก นี่อาจเป็นภาพผีที่ติดตลกและท้าทายหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างสุดขีด แต่สำหรับพวกเราชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวัฒนธรรมร่วม… สำหรับพวกเราที่ล้วนรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับผีผู้หญิงที่มีแต่หัวกับเครื่องในเรืองแสง…
- กระสือ
- เอิบ หรือ อาบ (กัมพูชา)
- ปินังกาลัน (มาเลย์เซีย)
ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนึ่งในภาพสยดสยองและน่าสะพรึงกลัวที่สุด
กระสือถือเป็นผีไทยที่ยืน (ลอย?) หนึ่ง ทั้งด้านบทบาทอันโดดเด่นในวัฒนธรรมป็อปไทย และด้านอิทธิพลต่อความกลัวของผู้คนที่ยังไม่จางหายไป พิสูจน์ได้ด้วยเหตุการณ์กระสือลพบุรีที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้ผลสุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดจะถูกเปิดเผยว่าเป็นเพียงโจรที่ปลอมตัวมา แต่ทั้งกระแสความกลัวที่ทำให้ชาวบ้านหลายตำบลในลพบุรีไม่กล้าออกไปข้างนอกยามวิกาล รวมถึงบรรดาผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานที่ลงพื้นที่สืบสวนกันอย่างจริงจัง ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่า ตัวตนของผีกระสือยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน
เพื่อต้อนรับเข้าสู่สัปดาห์ฮาโลวีนอย่างเป็นทางการ The Momentum ขอชวนคุณมาทำความรู้จักกับ ‘ผีกระสือ’ ใหม่อีกครั้ง ผ่านเลนส์เพศภาวะและสังคมวิทยา
จาก ‘กระสือ’ ไทย ถึง ‘แม่มด’ ฝรั่ง
ด้วยบริบทที่แตกต่างและห่างไกล เราอาจไม่เคยนึกเชื่อมโยงกระสือตามความเชื่อของไทยกับแม่มดตามความเชื่อของตะวันตกเข้าด้วยกัน แต่เมื่อลองไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ก็จะพบว่าทั้งสองความเชื่อนี้แบ่งปันองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันหลายประการทีเดียว
ประเด็นแรกคือ ที่มาของกระสือแบ่งออกเป็น 3 ทฤษฎีใหญ่ๆ ได้แก่
- เดิมทีผู้หญิงคนหนึ่งไม่สามารถเกิดมาเป็นกระสือได้ แต่จะต้องถูกสิงสู่โดยภูตชนิดหนึ่งทำให้กลายมาเป็นกระสือ โดยตัวผู้หญิงคนนั้นและภูตกระสือจะต้องเคยก่อวิบากกรรมแบบเดียวกัน ทำให้เชื่อมโยงดึงดูดถึงกันได้
- เชื้อกระสือสามารถแพร่ผ่านน้ำลายได้ ทำให้ในเรื่องเล่าส่วนใหญ่ กระสือที่มีลูกหลานมักเลือกถ่ายน้ำลายให้ทายาทก่อนตาย
- เป็นลักษณะสืบทอดทางพันธุกรรม
โดยจุดร่วมอย่างหนึ่งระหว่าง 3 ทฤษฎีที่ว่า คือจุดเริ่มต้นที่ล้วนเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์มนต์ดำ (เดรัจฉานวิชา) หากไม่ใช่ตัวกระสือทำผิดเองจนโดนของย้อนเข้าตัวกลายเป็นกระสือ ก็จะเป็นเรื่องของการส่งต่อวิบากกรรมจากการเล่นคุณไสยให้กับทายาทจากรุ่นสู่รุ่น คล้ายกับเรื่องราวของแม่มดยุคก่อนๆ ที่มักถูกเล่าในทำนองว่า เป็นคนธรรมดาที่หลงผิดไปฝึกตนผ่านศาสตร์มืดและบูชาสิ่งที่ไม่สมควรบูชา (ไม่ว่าจะเป็นซาตาน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกระแสที่คริสต์ศาสนากระแสหลักแปะป้ายให้เป็นสิ่ง ‘นอกรีต’ ก็ตาม) ก่อนจะส่งต่อความเชื่อและวิถีปฏิบัติเหล่านี้ให้กับลูกหลาน
นอกจากนี้ จุดร่วมอีกประการที่จะเลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง คือเรื่อง ‘เพศ’ ของทั้งกระสือและแม่มด ที่พ่วงมากับประวัติศาสตร์การถูกล่าหาตัวที่เต็มไปด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิง
ด้วยเหตุผลบางประการ ไม่เคยมีกระสือผู้ชายปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้เชื่อกันว่ากระสือจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น และแม้ว่าภายหลังจะมีตำนานเกี่ยวกับ ‘กระหัง’ ผีผู้ชายที่เป็นคู่กับกระสือเกิดขึ้นตามมา แต่ความเชื่อและความหวาดระแวงที่มีต่อผีชนิดนี้กลับไม่ได้มีมากเท่ากระสืออยู่ดี
ว่ากันว่ากระสือจะใช้ชีวิตปะปนร่วมกับมนุษย์ปกติในตอนกลางวัน โดยมีลักษณะผิวเผินไม่ต่างคนทั่วไป แต่จะมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด เช่น ไม่สบตา ไม่พูดจากับใคร หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน เก็บตัวโดดเดี่ยว อยู่แต่ในบ้าน ไม่ชอบแสง
(ผู้อ่านหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจสังเกตว่าในปัจจุบัน มีหลักการมากมายที่สามารถอธิบายได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นเพียงลักษณะนิสัยหรือบุคลิกส่วนตัวแบบ Introvert หรือต่อให้นี่จะเป็นพฤติกรรมผิดปกติที่ขัดกับนิสัยโดยธรรมชาติของเจ้าตัวโดยสิ้นเชิง ปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน)
เช่นเดียวกับกระบวนการล่าแม่มด (Witch Hunt) ที่มักเพ่งเล็งผู้หญิงที่มีปฏิบัติตนขัดกับบทบาททางเพศและวิถีชีวิตของผู้หญิงคนอื่นๆ ภายในชุมชน
แน่นอนว่ากระสือไม่ใช่ตำนานเมืองเรื่องเดียวที่มีพล็อตเรื่องแนวมนุษย์ตัวปลอม หรือ Imposter ที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางคนในชุมชน หากกระสือเป็นตัวแทนตำนาน Imposter ของไทยภาคกลาง ‘ปอบ’ ก็ถือเป็นตัวแทนของฝั่งอีสาน หรือหากจะเทียบกับฝั่งตะวันตก นอกจากแม่มดแล้ว ก็ยังมีมนุษย์หมาป่าและตำนานเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
นักมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ให้คำอธิบายเกี่ยวกับตำนานลักษณะนี้ว่า เป็นกลไกรับมือกับความไม่ไว้วางใจกันภายในชุมชน ในสมัยโบราณ หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ บุคคลแปลกหน้าหรือแม้แต่กระทั่งคนในชุมชนเดียวกันเองที่มีพฤติกรรมผิดแผกแปลกแยก มักเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกกล่าวหาและขับไล่ออกจากชุมชนเสมอ
และด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัดบางประการ หากอิงจากสถิติ ผู้หญิงมักตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อนผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ระหว่างการล่าแม่มดยุคสมัยใหม่ตอนต้น (Early Modern Era) ในยุโรปและอเมริกาเหนือ มีคนถูกประหารจากการถูกกล่าวหาว่าใช้ศาสตร์นอกรีตราว 4-6 หมื่นคน โดยมากกว่า 75% ของคนเหล่านั้นเป็นผู้หญิง
ของเสื่อม-อาเพศ-ผิดผี: ในโลกแห่งความเชื่อที่ผู้หญิงต้อง ‘รับจบ’
- ประจำเดือนเป็นของต่ำ
- ห้ามสตรีขึ้นอุโบสถ
- หากถูกผู้หญิงขึ้นคร่อมของจะเสื่อม
- ผู้นำหญิงจะนำมาซึ่งอาเพศ
- ฯลฯ
เห็นได้ชัดว่าในโลกแห่งศาสนา ไสยศาสตร์ และความเชื่อ สตรีเพศมักถูกวางบทบาทให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสวัสดิภาพของทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมเสมอ ไม่ใช่แค่ในวัฒนธรรมกระแสหลักของไทยเท่านั้น แม้แต่ความเชื่อหลายอย่างในหมู่ชนกลุ่มน้อย ก็มักจะโทษให้เหตุการณ์ที่หาคำอธิบายไม่ได้ ว่ามีต้นเหตุมาจากผู้หญิงในชุมชน
ตัวอย่างเช่น ความเชื่อของชาวม้งโบราณที่ว่า สตรีม้งที่ออกเรือนไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาอยู่บ้านซึ่งเป็นถิ่นฐานของครอบครัวเดิมได้อีก ต่อให้สามีของเธอจะตาย หย่าร้าง หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างไรก็ตาม ทำได้แค่เพียงมาเยี่ยมบ้านชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเป็นการผิดผีอย่างร้ายแรง
หรือกระทั่งในสังคมตะวันตก ที่แม่มดเองก็ถูกโทษให้เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงศตวรรษที่ 14-16 ทำให้พืชผลทางการเกษตรไม่งอกงาม เกิดเป็นกระแสความเชื่อว่าพระเจ้าได้ลงโทษพวกเขาด้วยเหตุผลบางอย่าง และความเกลียดชังต่อความเชื่อนอกรีตที่ถูกบ่มเพาะมานาน ทำให้ชุมชนเหล่านี้เลือกที่จะหา ‘แพะรับบาป’ มารองรับความขุ่นข้องใจด้วยภาวะอวิชชาของตนเอง
ในกรณีของการล่าแม่มดในตะวันตก มีความพยายามที่จะอธิบายว่า บทบาททางเพศ (Gender Role) ของผู้หญิงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงถูกสงสัย เนื่องจากผู้หญิงถูกมอบหมายให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ดูแลอาหารการกิน จนกล่าวได้ว่า ในขณะที่พื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ถูกครองโดยผู้ชาย พื้นที่ในครัวเรือน (Domestic Sphere) ก็ถูกครองผู้หญิง ทำให้มีโอกาสลักลอบกระทำการต่างๆ ในบ้านซึ่งเป็นสถานที่ปิดมิดชิด
นอกจากนี้ ศาสตร์ทางเวทมนตร์และจิตวิญญาณ ยังมีจุดเชื่อมโยงกับบทบาทในครัวเรือนของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เช่น ศาสตร์การปรุง ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ฯลฯ
ทว่าหลักการเดียวกันนี้ กลับไม่สามารถนำมาใช้อธิบายความเชื่อมโยงของผู้หญิงกับพฤติกรรมชอบกินอาจม (อุจจาระ) รกเด็ก ของคาว ของสกปรกของกระสือ หรือภาวะของเสื่อม อาเพศ ผิดผีที่ปรากฏในไทยสักเท่าไร ความถามเรื่องความกลัว เพศสถานะ และสภาวะแปลกแยกในเรื่องราวของกระสือ จึงยังเป็นโจทย์ที่เราอาจจะต้องครุ่นคิดกันต่อไป จนถึงคืนวันฮาโลวีนที่กำลังใกล้เข้ามานี้