อยากพักนะ…แต่ใจก็อยากรู้ ทำไมเราถึงชอบ ใส่ใจ เรื่องชาวบ้าน

อยากพักนะ…แต่ใจก็อยากรู้ ทำไมเราถึงชอบ ใส่ใจ เรื่องชาวบ้าน

อยากพักนะ…แต่ใจก็อยากรู้ ทำไมเราถึงชอบ ใส่ใจ เรื่องชาวบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่ามีความเป็นไปอย่างไร แต่ความสงสัยที่มากเกินไปจนถึงขั้นที่หมกมุ่นกับการตามหาข้อมูลต่าง ๆ มาเสพทั้งที่เจ้าของเรื่องเขาไม่ได้เต็มใจจะป่าวประกาศ มีคำเรียกที่คุ้นหูว่า “ขี้เผื (สื) อกเรื่องชาวบ้าน” ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับคำชมเชยที่ว่าขี้เผือกเท่าไรนัก ด้วยมีคติประจำใจว่า “เรื่องชาวบ้านคืองานของเรา” หรือ “การเผือกเป็นจิตอาสา ที่ทำโดยไม่หวังผล” หรืออาจจะมีคำใหม่ที่ฟังแล้วด้วยซอฟต์ลงกว่าเดิมเยอะ ซึ่งก็คือ “ชอบใส่ใจเรื่องของคนอื่น” นั่นเอง

เมื่อเกิดสถานการณ์อะไรก็ตามที่ทำให้ต่อมความอยากรู้อยากเห็นทำงานไม่พัก เกิดความใส่ใจใคร่รู้ถึงขั้นที่จะต้องขุด ต้องตามหาวาร์ป ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงสนทนาชนิดที่ไม่หลับไม่นอนก็ยังได้ แต่จริง ๆ แล้ว ทำไมคนเราถึงชอบเข้าไปมีส่วนร่วมใน “เรื่องของคนอื่น” โดยไม่สมควร โดยไม่จำเป็น หรือโดยไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับตัวเองขนาดนั้นด้วย มันมีเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ไม่กี่ข้อ ที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงชอบที่จะใส่ใจเรื่องของชาวบ้านเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะกับเรื่องแย่ ๆ ที่สามารถนำไปเล่าต่อ หรือแฉต่อก็ยังได้

เรื่องของคนอื่น = กระตุ้นต่อมเผือกให้ทำงาน

เมื่อเรื่องของชาวบ้านเริ่มแว่วมาเข้าหู ไม่ว่าจะกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม คนเราจะเริ่มทำกิจกรรมนั้นช้าลงเพื่อปรับตัวให้เข้าสู่สภาวะพร้อมเผือก ตั้งสติ มีสมาธิ ใจจดจ่อ และทำหูผึ่งเพื่อรับสารอย่างเต็มที่ ซึ่งหลายคนก็ดูจะชอบอกชอบใจเหลือเกินที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้น ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเองเลยก็ตาม และแม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกว่าฉายาคนขี้เผือกไม่ใช่คำชม แต่มันก็ต้องรู้ให้ได้ การเผือกเรื่องชาวบ้านจึงเป็นงานที่ใครหลายคนทำด้วยใจจิตอาสา ยอมเหนื่อยยอมเสียเวลานอน โดยไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน (?)

สาเหตุของการสงสัยใคร่รู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่นนั้นมีมากมาย ก็อยู่ที่ว่าจะกล่าวอ้างยังไง อาจจะแค่อยากรู้เพื่อคลายความสงสัย อยากรู้เพื่อจะนำมาเป็นอุทาหรณ์ในชีวิต อยากรู้เพื่อที่จะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง หรือบางคนก็อาจจะตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตนจะอยากรู้ไปทำไม ก็แค่อยากรู้เท่านั้นเอง

แต่โดยทั่วไป การได้รับรู้เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้อื่น ที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาบางอย่าง มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็น “คนพิเศษ” เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีปัจจัยอื่นมาช่วยเสริมสร้างอารมณ์ที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องของมีอำนาจและอยู่เหนือกว่า หากเราใช้ข้อมูลที่รู้มาเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อควบคุมหรือครอบงำ นั่นทำให้เรื่องราวของคนอื่นมักจะกระตุ้นต่อมเผือกให้ทำงานได้เป็นอย่างดี ยิ่งในยุคนี้สมัยนี้ที่มีสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน การใส่ใจเรื่องชาวบ้านจึงไม่ต่างอะไรกับการที่เราต้องรับรู้เรื่องราวข่าวสารบ้านเมือง ที่มันสำคัญกับการรับรู้ของเราไปโดยปริยาย

มหากาพย์แห่งดราม่าก็เหมือนกับละครเรื่องหนึ่ง

“เรื่องของคนอื่น” จริง ๆ มันก็ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ว่ามัน “ไม่เกี่ยวกับเรา” แต่ถ้าเราพยายามจะรู้เรื่องราวนั้นให้ได้ เราก็จะมีส่วนร่วมในฐานะชาวบ้าน 1 ชาวบ้าน 2 ที่รู้ทุกเรื่องแต่ก็ไม่ใช่กงการอะไรของตัวเองอยู่ดี โดยเราสามารถติดตามเรื่องราวของคนอื่นได้เหมือนกับการดูละครเรื่องหนึ่งเลย Dr. Joy Berkheimer นักบำบัด ไลฟ์โค้ช และที่ปรึกษาด้านชีวิตคู่จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เบื้องต้น การเสพเรื่องของคนชาวบ้านไม่ต่างอะไรกับการดูละคร หรือเสพสื่อบันเทิงทั่ว ๆ ไป ที่ทำให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ตึงเครียดโดยที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนั้น

ยกตัวอย่างอย่างเรื่องราวซุบซิบของเหล่าดารา หรือดราม่าวาระแห่งชาติที่คนจำนวนมากสนใจจนขึ้นเทรนด์ X หรือแม้แต่ข่าวฉาวข่าวแฉของใครสักคน เมื่อลองพิจารณาดู จะพบว่าเรื่องราวเหล่านี้มันก็น่าติดตามไม่ต่างจากละครเรื่องหนึ่งเลย มีองค์ประกอบต่าง ๆ แบบที่ในละครมี ตัวละครที่เป็นคู่กรณีกันก็จะมีคาแรกเตอร์แซ่บ ๆ ที่พยายามจะพูดบทของตัวเอง มีเรื่องราว มีจุดขัดแย้ง ยิ่งถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดศึกสาดโคลนกันไปมา เล่ามุมตัวเองพร้อมโจมตีอีกฝ่ายอย่างไม่หยุดหย่อน มันจะยิ่งกลายเป็นมหากาพย์ที่ควรค่าแก่การติดตามตอนต่อไปจนกว่าเรื่องจะถึงจุดสิ้นสุด

เราดูละครก็เพื่อความบันเทิง ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ การใส่ใจเรื่องราวของคนอื่นก็เหมือนกับได้เติมแต่งอารมณ์ความรู้สึกใหม่ ๆ เสมอ เกิดความตื่นเต้น ความรู้สึกว้าว อยากติดตามต่อ และอาจจะทำให้เรา “อิน” กับมันมากขนาดที่กลไกร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนแห่งการระงับความเจ็บปวดและกระตุ้นความสุขออกมา ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถหยุดเผือกได้เลย ยิ่งขุดก็ยิ่งมัน ยิ่งมีเรื่องใหม่ ๆ เปิดประเด็นขึ้นมาก็ยิ่งน่าติดตาม ว่าเรื่องราวพวกนี้มันจะไปจบที่ตรงไหน ต้องไปต่อ แม้ว่ามันจะเวลาที่ต้องนอนแล้ว และตอนเช้าต้องตื่นไปทำงานก็ตาม

และเมื่อพูดถึงเรื่อง “การขุด” ที่เราจะไปดูแคลนความสามารถของชาวเน็ตไม่ได้เด็ดขาด ในยุคที่เรามีอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกือบทุกอย่างในโลก มันยิ่งทำให้การยุ่งเรื่องชาวบ้านทั้งง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีสิ่งที่เรียกว่า #Hashtag เครื่องมือสำหรับจัดกลุ่มเรื่องราวต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน ง่ายต่อการสืบเสาะเรื่องราวชีวิตคนอื่น ๆ หรือมี Digital Footprint ที่ทำให้อดีตบนออนไลน์ของเราไม่เคยหายไป การตามขุดอดีต หาวาร์ป จึงยิ่งสนุกและน่าตื่นเต้น ยิ่งเจอก็ยิ่งเอามาเล่นในช่วงที่กระแสยังแรง ๆ ออกตัวเป็นวงในหรือชาวเน็ตช่างสงสัย จนมันกระพือไปไกลเป็นไฟลามทุ่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ใครที่เข้ามามุง จะมีประเด็นไปตั้งวงเมาท์กันสนุกปาก

ลึก ๆ แล้ว เรากำลังเปรียบเทียบ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การที่เราอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวของเพื่อนร่วมโลกคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะเราต้องการเปรียบเทียบชีวิตของเรากับของเขา ซึ่งการเปรียบเทียบเนี่ย มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติโดยที่เราเองอาจจะรู้ไม่ทันจิตใต้สำนึกตัวเองด้วยซ้ำ บางทีแค่เห็นว่าชีวิต (เปลือกนอก) ของคนอื่นดีกว่าตัว ในใจก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไปแล้ว หรืออาจเพราะความไม่มั่นใจเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจ ที่หากเราได้รับรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันก็ยังมีใครสักคนที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือกำลังเผชิญมรสุมชีวิตที่แย่กว่าเรา มันอาจจะช่วยบรรเทาปมในใจนั้นได้

เพราะอย่างน้อยที่สุด ในเวลานี้ฉันก็ยังเหนือกว่า เวลานี้ฉันยังมีชีวิตราบเรียบปกติ ไม่ได้เผชิญกับดราม่าทัวร์ลงจนใครต่อใครก็ตามขุดเรื่องเก่า ๆ ของฉัน หรือถ้าเราดันไปรู้เรื่องราวแย่ ๆ ในชีวิตคนอื่นมา ก็ยังปลอบใจตัวเองได้ว่าอย่างน้อยตอนนี้ฉันก็ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรที่ย่ำแย่ขนาดนั้น มันเลยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาหน่อยว่า “เราไม่ใช่คนที่ห่วยที่สุดในสังคมนี้”

ซึ่งนี่ก็เป็นพื้นฐานมาจากการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนั่นเอง เราถูกกำหนดให้ต้องรู้จักประเมินชีวิตและศักยภาพของตัวเอง และวัดความก้าวหน้ากับคนรอบข้างอยู่เสมอ ลึก ๆ แล้วมันก็ไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันระหว่างตัวเรากับใครคนใดคนหนึ่ง และวิธีที่จะทำให้รู้ได้ว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนในระดับความสำเร็จ ก็คือต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมสปีชีส์เดียวกันนี่แหละ โดยมันจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้รู้เรื่องราวของคนอื่นแล้ว และแปรค่าออกมาว่าเขาเหนือกว่าหรือด้อยกว่าเรา

ถ้าเขาด้อยกว่า เราจะรู้สึกเหนือกว่า มันคือการปลอบประโลมตัวเอง แต่ถ้าเขาเหนือกว่า มันอาจจะเกิดความรู้สึก “อิจฉา” ขึ้นมาเป็นตัวแปรเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าถ้าไม่อยากจะด้อยกว่า ไม่อยากจะรู้สึกพังทลาย เราอาจจะรู้สึกอยากจะเห็นคนเหล่านั้นล้มเหลว และรอคอยวันที่คนอื่นล้มบ้าง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกชนะขึ้นมาในใจ

ท้ายที่สุดแล้ว การที่เรามีจิตอาสาเอาตัวเองเข้าไปใส่ใจกับเรื่องชาวบ้าน มันก็เพื่อสนองความต้องการของเราเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นำไปสู่การเปรียบเทียบระหว่างเรากับใครสักคน ถ้ารับรู้เรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น เราอาจจะสบายใจขึ้น อีกทั้งเรายังได้กลบเกลื่อนความผิดพลาดในชีวิตด้วยการไม่รับรู้เรื่องของตัวเองแล้วไปเผือกชีวิตคนอื่นแทน แต่ถ้าเขาไม่มีเรื่องแย่อะไรมาบรรเทาความล้มเหลวของเราได้ เราก็อาจได้รับสิ่งตอบแทนเป็นความรู้สึกในแง่ลบกับตัวเราเองมากขึ้นไปอีก สร้างความเครียด ความผิดหวัง หรือความกดดันบางอย่างต่อตัวเราเอง

กลัวจะพลาดวาระแห่งชาติ

การ “ใส่ใจ” เรื่องของชาวบ้านนั้น จริง ๆ แล้วมีด้วยกันหลายระดับ บางคนอาจจะไม่ได้อยากใส่ใจอยากรู้อยากเห็นชีวิตของคนอื่นมากขนาดนั้น คือเมื่อมีดราม่าอะไรเกิดขึ้น ก็อาจจะแค่ติดตามให้พอได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้นเอง ในเมื่อทุกวันนี้มีเพจหลายเพจที่ทำหน้าที่สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นมหากาพย์ให้ใครหลายคนได้เข้าใจแบบสั้น ๆ ในโพสต์เดียวอยู่ด้วยกันหลายเพจ เขาทำไว้ให้อ่านก็อ่านแค่ให้รู้ว่าโลกที่อุดมไปด้วยเรื่องดราม่านี้หมุนไปถึงไหนแล้ว เน้นฆ่าเวลา และเพื่อให้รู้เท่าทันมากกว่า

หรือบางคนอาจจะสนใจแง่มุมบางอย่างจากดราม่าพวกนั้นก็ได้ การได้รู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่นก็เหมือนกับได้เรียนรู้แง่มุมหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ของชีวิตที่ตัวเองไม่เคยได้รู้ เพราะไม่เคยประสบมาก่อน ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ก็จะเสพเพื่อให้รู้ความเป็นไปและประสบการณ์ที่ซับซ้อนของชีวิตมนุษย์ มากกว่าจะมีอารมณ์ร่วมไปกับดราม่านั้น ๆ

และคนอีกประเภทที่ “กลัว” จะตกกระแส ก็มีเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าโลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ตนี้ อะไรต่ออะไรก็ดูจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วว่องไวไปซะหมด และด้วยวิถีชีวิตปกติของคนเราที่ไม่ได้นั่งว่าง ๆ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ต้องทำนั่นทำนี่ ใช้ชีวิตของตัวเองไป มันทำให้ช่วงเวลานั้นเราจะไม่ทันได้สังเกตว่าคนอื่นกำลังทำอะไรอยู่ และไม่ได้สนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสังคม เกิดเป็นความรู้สึก “กลัวตกข่าว”

การกลัวตกข่าว/กลัวตกกระแส หรืออาการ FOMO (Fear Of Missing Out) เป็นความกลัวว่าจะพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไปที่เกิดขึ้น กลัวจะไม่รู้เหมือนที่คนอื่นรู้ กลัวจะไม่ได้รู้ในสิ่งที่คนอื่นเริ่มรู้กันแล้ว กลัวจะรู้ช้ากว่าชาวบ้านเขา หรือกลัวจะพูดคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง จึงต้องเผือกให้สุด เผือกไม่หลับไม่นอน เผือกจนเป็นกูรู เพื่อจะได้มีข้อมูลไปเล่าซุบซิบนินทากับคนอื่น ๆ ซึ่งมันทำให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองกำลังได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง เป็นคนสำคัญของกลุ่ม นี่คือคนประเภทที่สามารถเล่าได้เป็นฉาก ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรเกิดก่อนเกิดหลัง เพราะติดตามแบบเรียลไทม์ ต้องรู้ความคืบหน้าก่อนใคร

อย่างไรก็ตาม คนประเภท FOMO ไม่ใช่คนที่ชอบใส่ใจกับเรื่องของชาวบ้านแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพวกขี้นินทาแห่งกลุ่มเมาท์มอยด้วย เพราะมันจะมีสเต็ปในการสนใจใคร่รู้เรื่องของคนอื่น เริ่มจากการสืบเสาะเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก และต้องการที่จะเผยแพร่ต่อไปยังผู้อื่น โดยตั้งตัวเองเป็นคนที่รู้ลึกรู้จริง ตามซอกตามแซกจนได้ข้อมูล เพื่อเอาไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นในแง่ของความสนุก ความบันเทิง อัปเกรดให้ตัวเองดูเป็นคนน่าสนใจ ช่างพูด และมั่นใจว่าตัวเองรู้เยอะรู้ดี โดยเฉพาะเวลาที่ได้เผยแพร่เรื่องราวต่าง ๆ ไปสู่คนหมู่มาก จากการที่เป็นคนมีข้อมูลที่คนอื่นไม่มี ก็จะทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สื่อให้เห็นด้วยว่าเป็นคนขี้เผือกมากแค่ไหน!

อาการสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ และจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรขนาดนั้นกับการที่เราจะขอเผือกเรื่องของคนอื่น ถ้ามันอยู่ในขอบเขตที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรให้กับใคร แต่เพราะการได้เผือกถือเป็นความบันเทิง ขณะที่เรื่องราวที่เผือกมา ส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นเรื่องข้อเสียหรือความทุกข์ของคนอื่น หากเราจะสนใจแค่ว่าขอให้ฉันได้รู้ ขอให้ฉันได้เล่าต่อ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงเท่าไร เท็จแค่ไหน มันจะทำให้คนอื่นได้รับผลเสียจากข่าวซุบซิบมากกว่าเรื่องจริงที่ตัวเขาเองได้ประสบเสียอีก แล้วถ้ามาคิดในมุมกลับกัน หากตัวเราตกเป็นประเด็นเสียเอง เราจะอยากให้ใครมาตามเผือกตามขุดเรื่องของตัวเราเองไหม…คำตอบคือ “ไม่” อย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook