อัปเดตเทรนด์การเขียน Resume ใช้ร่อนหางานใหม่ ปี 2024

อัปเดตเทรนด์การเขียน Resume ใช้ร่อนหางานใหม่ ปี 2024

อัปเดตเทรนด์การเขียน Resume ใช้ร่อนหางานใหม่ ปี 2024
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเวลาผ่านไป อะไรต่ออะไรก็ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเสมอ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “งาน” เป็นเรื่องปกติของคนเราที่เมื่อทำงานที่เดิมมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มพบว่างานที่กำลังทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป หลายคนจึงตัดสินใจที่จะ “เปลี่ยนงานใหม่” มองหางานใหม่ที่ตรงใจ งานที่ชอบ และงานที่ตอบโจทย์ชีวิตตัวเองมากกว่างานเก่าที่ตัดสินใจจะเขียนใบลาออกในไม่ช้า

แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่างานนั้นค่อนข้างหายาก โดยเฉพาะงานที่ตรงตามเงื่อนไขของคนหางานใหม่ ในขณะเดียวกัน ภาพรวมของตลาดแรงงานทั่วโลกในปี 2024 ก็ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย บริษัทมีชื่อเสียงโด่งดังอันดับต้น ๆ ของโลกยังปลดคนออกกันเป็นว่าเล่น อีกทั้งยังมีเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการรับสมัครคนเข้าทำงานใหม่ บริษัทมากมายจึงต้องเพิ่มความรอบคอบในการคัดคนเข้าทำงาน

อย่างไรก็ดี ในเมื่อบริษัทที่เปิดรับสมัครงานและผู้ที่ต้องการจะสมัครงานไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สิ่งแรกที่จะช่วยให้บริษัทซึ่งอยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างงานได้รู้จักกับผู้สมัครมากมายได้ ซึ่งจะมีผู้สมัครเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะถูกคัดให้เข้าไปเป็นพนักงานของบริษัทในลำดับต่อไปก็คือ ประวัติย่อ (Resume) นั่นเอง (หรือในบางสายงานจะขอเป็น CV : Curriculum Vitae) ปกติแล้ว ฝ่ายผู้ว่าจ้างงานจะมีเวลาเฉลี่ยเพียง 6-7 วินาทีเท่านั้นในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่โดดเด่นให้ผ่านเข้าไปในรอบสัมภาษณ์ นั่นหมายความว่าผู้สมัครก็ต้องทุ่มเทกายใจจัดการเรซูเม่ของตัวเองให้ดี เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน

แล้วผู้สมัครงานจะต้องจัดการกับเรซูเม่ของตัวเองอย่างไรล่ะ? อย่างแรกคือต้องรู้ว่าโครงสร้างของการเขียนเรซูเม่เป็นอย่างไร ต้องใส่ข้อมูลอะไรเข้าไปบ้าง นอกจากนั้น ยังต้องรู้เกี่ยวกับเทรนด์ในการเขียนเรซูเม่ด้วยว่าเป็นไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะได้เขียนเรซูเม่แนะนำตัวเองออกมาให้โดดเด่น เน้นย้ำทุกสิ่งที่คุณนำเสนอในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เพื่อให้สะดุดตาฝ่ายที่ทำหน้าที่รับพิจารณาบุคคลเข้าทำงานให้มากที่สุด

1. ดึง Soft Skills ออกมานำเสนอให้เด่น

สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงในการทำเรซูเม่ให้ดีและมีประสิทธิภาพ คือการนำเสนอเกี่ยวกับทักษะในการทำงานของเราว่ามีทักษะอะไรโดดเด่น หรือเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งโดยทั่วไป ผู้สมัครงานก็จะให้ความสำคัญกับพวก Hard Skills ต่าง ๆ ที่ตัวเองมี แล้วพยายามนำเสนอส่วนนี้อย่างเต็มที่ แต่แท้จริงแล้ว Hard Skills มันเป็นสิ่งฝึกฝนกันได้ ถ้าได้รับการเรียนรู้หรือการอบรม ย่อมเพิ่มทักษะนี้ได้ไม่ยาก

ทำให้ในยุคนี้ ผู้จ้างงานจึงมักจะพิจารณาและให้ความสำคัญกับ Soft Skills มากกว่า Hard Skills เพราะอย่างที่บอกว่า Hard Skills มันเป็นสิ่งที่สอนที่อบรมกันใหม่ได้ แต่ Soft Skills จะทำให้คนแต่ละคนแตกต่างกัน มันเป็นทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน Soft Skills จึงเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคดิจิทัลนี้ และคนที่มี Soft Skills โดดเด่นมักเป็นที่พึงปรารถนา เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปรับตัว ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ ดังนั้น ถ้าอยากให้เรซูเม่ของตนเองแตกต่างจากของผู้สมัครคนอื่น ๆ จึงต้องดึง Soft Skills ออกมานำเสนอ และอธิบายว่าเรามี Soft Skills ด้านนั้น ๆ อย่างไรให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

2. อย่าอายที่จะบอกว่าตัวเองมี “ช่วงพักงาน”

หากเป็นการทำงานในยุคก่อนหน้านี้ เมื่อคิดจะอัปเดตเรซูเม่สมัครงานใหม่ หลายคนมักจะกังวลช่วงเวลาหนึ่งที่ตนเองไม่ได้ทำงาน และรู้สึกว่าการใส่ช่วง “พักงาน” ลงไปในเรซูเม่ของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะแสดงให้เห็นว่าเรามีช่วงว่างงาน เส้นทางการทำงานที่เว้า ๆ แหว่ง ๆ มันดูไม่สมบูรณ์แบบ และอาจนำไปสู่ปัญหาที่จะทำให้ได้งานยากกว่าปกติด้วย

แต่ยุคสมัยที่สังคมโลกการทำงานเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้มีการปรับมุมมองว่าถ้าคนทำงานสักคนจะมีช่วงพักงานบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเสียหายอะไร การที่ใครคนหนึ่งจะพักการทำงานไปช่วงหนึ่งก็มีได้หลากหลายเหตุผล บางคนอาจจะรู้สึกว่าสายงานเก่าไม่ตอบโจทย์ชีวิต จึงพักงานเพื่อไปลองค้นหาตัวเอง ไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในชีวิต หรือบางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวจำเป็น เช่น ไปรักษาสุขภาพกาย เยียวยาสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ หรือบางคนไปดูแลลูก ดูแลครอบครัว ดังนั้น อย่าได้อายที่จะระบุลงไปในเรซูเม่ของตัวเองว่าฉันมีช่วงที่พักการทำงาน (ว่างงาน) เพียงแต่ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าพักงานไปทำอะไร อย่าปล่อยให้มีช่วงเวลาที่หายไปโดยไม่มีสาเหตุ อันนั้นจะดูน่าสงสัยมากกว่า

3. สร้างและเพิ่ม Social Profiles ของคุณเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ

จริงอยู่ที่ว่าไม่ใช่ทุกคน ที่จะมี Social Profiles ในการสร้างเครือข่ายเพื่อการทำงาน แต่ถ้าคุณอยู่ในช่วงที่กำลังจะหางานใหม่ แล้วต้องอัปเดตเรซูเม่ของตัวเอง การสร้าง Social Profiles ก็อาจเป็นประโยชน์และเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคุณได้ เนื่องจาก Social Profiles จะสามารถใช้เป็นแฟ้มสะสมผลงานและให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้จ้างงานเกี่ยวกับตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นประวัติ สไตล์ ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งงานเก่า ๆ ที่คุณเคยทำ

สำหรับวิธีการก็ง่าย ๆ เพียงแค่คุณต้องสร้างพื้นที่ Social Profiles ให้ตัวเองและแชร์เกี่ยวกับบทบาทในที่ทำงานหรือการทำงานของคุณลงบนพื้นที่เหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บน LinkedIn หรือบนเว็บไซต์หางานอื่น ๆ ก็ได้ จะช่วยสร้างเครือข่ายการทำงานให้กับตัวคุณเอง และช่วยให้คุณได้พบกับโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวคุณไว้เกือบทั้งหมดโดยไม่ทำให้เรซูเม่ของคุณรกด้วย คุณเพียงแต่ต้องพยายามดูแลอัปเดตมันอยู่เสมอแบบมืออาชีพ แล้วเพิ่มแอ็กเคานต์ Social Profiles นี้ลงไปในเรซูเม่เท่านั้น หากผู้จ้างงานสนใจคุณ พวกเขาจะเข้าไปดูข้อมูลการทำงานของคุณต่อเอง

4. เพิ่มประสบการณ์การทำงานแบบ Remote Work ลงไปในเรซูเม่

ทักษะหนึ่งที่คนทำงานเกือบทั่วโลกได้มาโดยไม่ตั้งใจเนื่องจากวิกฤติของโรคระบาด ก็คือทักษะการทำงานในรูปแบบ Remote Work หรือก็คือการทำงานทางไกล ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนคุ้นชินกับการทำงานที่บ้านหรือการทำงานทางไกล รู้สึกเบื่อการที่ต้องไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ที่สำคัญ ผู้คนยังมองว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ทำได้ และการทำงานจากที่ไหนก็ได้เป็นบางวันยังอาจให้ประสิทธิภาพได้มากกว่าด้วย

ซึ่งถ้าหากคุณมีประสบการณ์การทำงานแบบ Remote Work สมัยที่ยังทำงานอยู่ที่ที่เก่า คุณก็ควรเพิ่มประสบการณ์นี้ของตัวเองลงไปบนเรซูเม่ของตัวเองด้วย เพื่อเน้นย้ำว่าคุณยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะไม่ได้เข้าออฟฟิศ โดยแชร์ถึงวิธีการจัดการกับเวลาในการทำงาน วิธีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีที่คุณสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับงานเมื่อทำงานในสภาพแวดล้อมอื่นที่ไม่ใช่ในออฟฟิศ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้จ้างงานสนใจในตัวคุณมากขึ้นแล้ว

5. สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวคุณในย่อหน้าแรก

สิ่งที่คุณควรตระหนักอยู่เสมอก็คือ ในหนึ่งวัน ผู้จ้างงานต้องอ่านเรซูเม่มากมายจากผู้สมัครจำนวนมากที่ส่งเข้ามาให้ผู้จ้างงานพิจารณา แม้ว่าพวกเขาจะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกเรซูเม่ว่าแผ่นไหนคัดไว้ก่อนและแผ่นไหนคัดทิ้งในทันที แต่ในจำนวนที่คัดไว้ก่อนนั้น พวกเขาก็ไม่มีเวลามานั่งอ่านเรซูเม่ของผู้สมัครทุกบรรทัดอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าคุณต้องทำให้เรซูเม่ของตัวเองโดดเด่นและน่าดึงดูดที่สุดในย่อหน้าแรกของเอกสาร โดยเน้นไปที่ความสามารถและความสนใจของคุณ เพื่อช่วยให้ผู้จ้างงานพิจารณาได้ทันทีว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับตำแหน่งนี้หรือไม่

ดังนั้น คุณต้องทำให้พาดหัวของเรซูเม่คุณน่าสนใจที่สุด ด้วยข้อมูลโดยสรุปของคุณ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ การศึกษา ตำแหน่งที่คุณสนใจ คุณสมบัติ รวมถึงประสบการณ์ (ที่โดดเด่นกับตำแหน่ง) ของคุณ ยิ่งคุณสามารถอธิบายคุณสมบัติของตัวเองได้รวดเร็วเท่าไร ก็จะสร้างผลดีให้กับตัวเองได้มากเท่านั้น ผู้จ้างงานจะสแกนข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครงานได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้จ้างงานเลือกเรซูเม่ของคุณขึ้นมาและติดต่อกลับคุณ

6. สร้างเรซูเม่ที่สอดคล้องกับระบบ Applicant Tracking System (ATS)

เมื่อองค์กรต่าง ๆ มีประกาศรับสมัครงาน ก็มีเรซูเม่จำนวนมากถูกส่งเข้าไปให้พิจารณา แต่อย่างที่บอกว่าในส่วนของผู้จ้างงานก็ไม่ได้มีเวลามานั่งพิจารณาเรซูเม่ของเรามากขนาดนั้น ประกอบกับทุกวันนี้มีเครื่องมือเป็นเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยงานในด้านต่าง ๆ มากขึ้น หลายองค์กรก็ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ว่าเข้ามาช่วยคัดกรองเรซูเม่ของผู้สมัครงานเช่นกัน คือ Applicant Tracking System (ATS) ซึ่งเป็นระบบคัดกรองเรซูเม่ของผู้สมัครด่านแรก ๆ ในกระบวนการจ้างงานและสรรหาบุคคล โดยรูปแบบไฟล์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับ ATS ก็คือไฟล์ WORD

หากคุณคิดที่จะยื่นเอกสารสมัครงานทางออนไลน์ คุณควรพิจารณาออกแบบเรซูเม่ให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานของระบบ ATS ด้วย เพื่อให้เกิดผลดีต่อตัวเองมากที่สุด โดยการสร้างด้วยไฟล์ WORD และควรใช้รูปแบบหัวข้อแบบแนวนอน และใช้ Bullet Point เข้ามาช่วยในการเขียนเรซูเม่ เนื่องจากระบบ ATS มักจะสแกนเรซูเม่จากซ้ายไปขวา หากเรซูเม่เป็นแบบคอลัมน์แนวตั้ง ทำให้ระบบ ATS อาจจะอ่านข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนนัก

7. ปรับแต่งเรซูเม่ของคุณให้เหมาะกับตำแหน่งและบริษัท

แต่ไหนแต่ไรมา มักจะมีการเตือนกันเสมอในแวดวงของคนที่ทำหน้าที่พิจารณาการจ้างงานพนักงาน ว่าไม่ควรทำเรซูเม่แบบฉบับเดียวแล้วร่อนส่งแบบหว่านไปทั่วให้กับทุกบริษัทที่คุณต้องการจะสมัครงาน เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจและไม่ให้ความสำคัญที่จะศึกษาตำแหน่งงานที่ตัวเองสมัครและบริษัทที่ตัวเองอยากเข้าไปทำงาน สิ่งที่คุณควรทำเมื่อมองหางานใหม่ คือลิสต์งานและบริษัทที่คุณสนใจจะสมัครงานออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วกลับมาพิจารณาตัวเองว่ามีคุณสมบัติหรือประสบการณ์การทำงานอะไรที่สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อที่จะได้ปรับแต่งเรซูเม่แต่ละฉบับ โดยเชื่อมโยงคุณสมบัติและประสบการณ์ของตัวคุณเองให้เข้ากับงาน/บริษัทนั้น ๆ

ทั้งนี้ การจัดทำเรซูเม่ยังคงต้องอยู่บนพื้นฐานเดิม ก็คือต้องสะอาดตาและอ่านง่าย การที่คุณต้องมาปรับแต่งคุณสมบัติและประสบการณ์ของตัวเองให้เข้ากับงาน/บริษัทที่คุณจะส่งเรซูเม่ให้เขาพิจารณา จะช่วยให้คุณจัดการกับข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องใส่สำหรับงาน/บริษัทนั้น ๆ ได้ด้วย พวกประสบการณ์การทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่จะยื่นสมัคร รวมถึงยังได้เชื่อมโยงตัวคุณเองให้น่าสนใจกับตำแหน่งที่จะสมัคร มันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการหว่านเรซูเม่ไปทั่ว

8. ทำเรซูเม่แบบดิจิทัล

มันหมดยุคของการฝากเรซูเม่ไว้ที่แผนกต้อนรับของบริษัท หรือส่งเป็นจดหมายไปที่บริษัทต่าง ๆ ก็ไม่มีใครเขาทำกันแล้วเหมือนกันในยุคดิจิทัลแบบนี้ แม้แต่การสมัครงานในรูปแบบเดิม ๆ ก็แทบไม่เห็นแล้ว ทุกวันนี้ผู้สมัครงานเขาใช้วิธีส่งใบสมัครงานผ่านอีเมลหรือเว็บไซต์กันเกือบหมด แล้วแนบเอกสารเรซูเม่แบบเป็นไฟล์ PDF ไป ซึ่งมันก็ง่ายกับทางบริษัทผู้จ้างงานด้วย ลดความยุ่งเหยิงต่าง ๆ อีกทั้งยังสะดวกและง่ายต่อการตรวจสอบ เพราะมันเป็นระเบียบกว่าและค้นหาได้ง่าย

นอกจากนี้ ถ้าคุณจะอ้างอิงถึงผลงานหรือหลักฐานบางอย่างที่เชื่อมโยงกับเรซูเม่ของคุณ คุณก็สามารถสร้าง Link หรือ QR Code แนบลงไปในเรซูเม่ของคุณได้ เพื่อลิงก์ไปยังผลงานหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คุณเคยทำ ก็จะช่วยให้ผู้จ้างงานสำรวจงานของคุณไปพร้อม ๆ กับประวัติในเรซูเม่ของคุณได้เลย และจะดียิ่งกว่า ถ้าคุณจะเพิ่ม Link หรือ QR Code ที่สามารถเชื่อมไปยังอีเมลหรือ Social Profiles (ข้อ 3) ของคุณ เพื่อให้ผู้จ้างงานติดต่อคุณกลับได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้คุณดูน่าสนใจขึ้นไปอีก

9. จับคู่ Resume และ Cover Letter ของคุณ

หลายคนอาจจะไม่รู้จัก Cover Letter แล้วก็ได้ เพราะการสมัครงานผ่านเว็บไซต์สมัครงาน ส่วนใหญ่จะลดขั้นตอนของ Cover Letter ไปเลย ซึ่ง Cover Letter ก็คือจดหมายแนะนำตัวที่ใช้ควบคู่กับเรซูเม่ เป็นส่วนที่คุณใช้บอกเล่าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวคุณเอง โดยจะเน้นไปที่เรื่องของทักษะและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการเขียนจดหมายแนะนำตัว คือ อย่านำข้อมูลเดิมในเรซูเม่มาเขียนอธิบายซ้ำไปซ้ำมา แต่ให้นำข้อมูลที่เป็นจุดแข็งของคุณมาเขียนให้สอดคล้องกับคุณสมบัติในประกาศรับสมัครงาน

ปกติแล้ว Cover letter ถูกส่งแนบไปพร้อมกับเรซูเม่ โดยผู้จ้างงานจะใช้จดหมายแนะนำตัวนี้ในการคัดกรองผู้สมัครงานในเบื้องต้นว่าผู้สมัครคนใดเหมาะสมจะเรียกมาสัมภาษณ์งาน แม้ว่าบางบริษัทจะไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องการจดหมายแนะนำตัว (และทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักจดหมายนี่แล้ว) แต่การมีจดหมายนี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหนกับงานที่คุณสมัคร ดังนั้น เมื่อคุณจะส่งเรซูเม่และจดหมายแนะนำตัว ตรวจสอบให้ดีว่าใช้หัวจดหมายเดียวกัน และ/หรือมีการจัดรูปแบบการเขียนที่สอดคล้องกันทั้งสองอย่าง จะทำให้คุณเป็นผู้สมัครงานที่เป็นมืออาชีพ และช่วยให้ผู้พิจารณาทราบได้ง่ายว่าเอกสารทั้งสองฉบับเป็นของคุณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook