ประวัติวันเช็งเม้ง 2567 เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ มีความสำคัญอย่างไร

ประวัติวันเช็งเม้ง 2567 เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ มีความสำคัญอย่างไร

ประวัติวันเช็งเม้ง 2567 เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ มีความสำคัญอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันเช็งเม้ง เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ตรงกับวันที่ 5 เมษายนของทุกปี หรืออาจคลาดเคลื่อนไป 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับปฏิทินจีน คำว่า "เช็งเม้ง" มาจากภาษาจีนแปลว่า "สะอาด บริสุทธิ์" หมายถึง ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศดี เหมาะแก่การไปไหว้บรรพบุรุษ

ประวัติวันเช็งเม้ง

วันเช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง มีกำหนดในเดือน 5 ของจีน ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือน เมษายน ของทุกปี ก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ หลังจากนั้นในวันพิธีจะมีการเซ่นไหว้อาหารหวานคาว ที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการ รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งอาหารให้ทุกปี เพื่อมิให้อดอยาก เมื่อไปอยู่อีกภพหนึ่ง คนจีนส่วนใหญ่ จะหยุดงานมาร่วมพิธีกัน พร้อมหน้าพร้อมตา หรือถือว่าเป็นวันพบญาติของคนจีนก็ว่าได้

เทศกาลเช็งเม้ง เป็นเทศกาลประจำปีในการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน การบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) และการไว้ทุกข์ (Mourning) ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดพิธีกรรมหนึ่งของชาวจีน และปฏิบัติกันแพร่หลายสืบมาหลายพันปีจวบจนทุกวันนี้ แม้ว่าการไว้ทุกข์และการบูชาบรรพบุรุษจะเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน แต่ก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจาก ปรัชญาขงจื้อ

ขงจื้อ ถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามในการปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีแก่ชนรุ่นหลัง เป็นโอกาสที่พี่น้องลูกหลานจะมาพบปะกัน และประเพณีก็เป็นเครื่องร้อยรัดผู้คนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ขงจื้อจึงมองเทศกาล “เช็งเม้ง” ในแง่ของจริยธรรมทางสังคม มากกว่าในแง่อภิปรัชญาเรื่องชีวิตหลังความตาย

ทฤษฎีพิธีกรรมของปรัชญาขงจื้อ

ตาม ทฤษฎีพิธีกรรม ของปรัชญาขงจื้อ จิตใจของคนเรามีคุณลักษณะ 2 ประการคือ “ สติปัญญา ” (Intellect) และ “ อารมณ์ ” (Emotion) เมื่อคนที่เรารักตายลง เรารู้ด้วยสติปัญญาว่าผู้ตายได้ตายไปแล้ว และก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อว่าวิญญาณจะอยู่เป็นอมตะ ถ้าหากเราทำตามสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวเราก็ไม่จำเป็นต้องทำพิธีไว้ทุกข์ แต่จิตใจของเราก็มีคุณลักษณะของอารมณ์อยู่ด้วย ซึ่งทำให้เราเกิดความหวังว่าคนที่เรารักเมื่อตายไปแล้วอาจจะกลับมีชีวิตได้อีก หรือว่าวิญญาณอาจจะยังคงอยู่ต่อไปในโลกอื่น

ดังนั้นเมื่อเราถือเอาตามความนึกฝัน เราก็กลายเป็นคนเชื่อถือในไสยศาสตร์และปฏิเสธการคิดด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารู้และสิ่งที่เราหวังจึงไม่เหมือนกัน ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่เราไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยความรู้เพียงอย่างเดียว เราต้องการความพึงพอใจทางด้านอารมณ์ด้วย

ตามทัศนะของปรัชญาขงจื้อ เมื่อเราประกอบพิธีไว้ทุกข์ หรือ พิธีบูชาเราหลอกตัวเองโดยที่เราเองก็รู้ตัว ใน “หนังสือแห่งพิธีกรรม” ขงจื้อกล่าวว่า “ในการเกี่ยวข้องกับคนตาย ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้ตายเหมือนกับว่าเขาได้ตายไปจริงๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราขาดความรักความผูกพันไปซึ่งเป็นการไม่สมควร ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้ตายเหมือนกับว่าเขายังมีชีวิตอยู่จริงๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราขาดสติปัญญาซึ่งก็เป็นการไม่สมควรอีกเช่นกัน”

หมายความว่าเราไม่สามารถจะปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้และตามที่เราหวังอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เราควรจะปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้และตามที่เราหวังด้วยทั้งสองอย่าง

ในหนังสือชื่อ “ซุนจื้อ” บทที่ว่าด้วย “เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรม” (Treatise on Rites) ซุนจื้อ สานุศิษย์คนสำคัญของขงจื้อ กล่าวว่า “พิธีกรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อชีวิตและความตายเป็นจุดสุดท้าย ถ้าเราปฏิบัติต่อจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายดีแล้ว วิถีทางของความเป็นมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ ถ้าเราปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยดี ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่มิได้ปฏิบัติต่อท่านเมื่อท่านถึงแก่กรรมลง นั่นก็เท่ากับว่าเราให้ความเคารพต่อพ่อแม่ในขณะที่ท่านรู้เท่านั้น และได้ละเลยท่านเมื่อท่านไม่รู้

ความตายของคนๆหนึ่ง หมายความว่าเขาจากไปชั่วนิรันดร นับเป็นโอกาสสุดท้ายที่ลูกจะได้รับใช้พ่อแม่ ดังนั้นหน้าที่ของพิธีไว้ทุกข์ก็คือ การทำความหมายของชีวิตและความตายให้ชัดเจน เป็นการอำลาผู้ตายด้วยความเศร้าและความเคารพ และเป็นการทำจุดสุดท้ายของมนุษย์ให้สมบูรณ์ ”

ความสำคัญของวันเช็งเม้ง

  • เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ลูกหลานจะเดินทางไปกวาดล้างทำความสะอาดสุสาน ถวายอาหาร ขนม ผลไม้ น้ำชา ดอกไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อแสดงความเคารพ ระลึกถึงคุณงามความดี และขอบคุณสำหรับบุญคุณที่บรรพบุรุษเคยสร้างไว้

  • เป็นการรวมญาติ เทศกาลเช็งเม้งเป็นโอกาสให้ครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่อยู่ห่างไกลได้กลับมารวมตัวพบปะสังสรรค์ พูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสาร และกระชับความสัมพันธ์

  • เป็นการรำลึกถึงความตาย เทศกาลเช็งเม้ง ช่วยให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต เกิด แก่ ตาย

ประเพณีปฏิบัติในวันเช็งเม้ง

  • กวาดล้างทำความสะอาดสุสาน ลูกหลานจะร่วมกันกวาดล้างทำความสะอาดสุสานของบรรพบุรุษ ตัดหญ้า เก็บกวาดขยะ ทาสีใหม่ เพื่อให้สุสานดูสะอาด สวยงาม
  • ถวายอาหาร ลูกหลานจะเตรียมอาหาร ขนม ผลไม้ น้ำชา ดอกไม้ ไหว้บรรพบุรุษ
  • เผากระดาษเงินกระดาษทอง เชื่อกันว่ากระดาษเงินกระดาษทองจะส่งไปยังบรรพบุรุษในอีกภพภูมิหนึ่ง
  • ไหว้ขอพร ลูกหลานจะขอพรจากบรรพบุรุษให้ชีวิตราบรื่น ประสบความสำเร็จ

วันเช็งเม้ง เป็นเทศกาลที่แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เป็นการรวมญาติ และเป็นการรำลึกถึงความตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook