นานาเหตุผลที่ว่าทำไม คน Gen Y ถึงไม่อยากจะมีลูก

นานาเหตุผลที่ว่าทำไม คน Gen Y ถึงไม่อยากจะมีลูก

นานาเหตุผลที่ว่าทำไม คน Gen Y ถึงไม่อยากจะมีลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มีลูกเมื่อพร้อม” คือสิ่งที่คน Gen Y หรือคนเจเนอเรชัน Millennials (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2540 (ค.ศ. 1980-1997)) กำลังให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงาน เริ่มสร้างครอบครัว สร้างความมั่นคงให้ตัวเอง แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาแบบที่รับรู้ว่าปัญหาของการมีลูกไม่พร้อมคืออะไร หลายคนเป็นผลผลิตจากการมีลูกโดยที่พ่อแม่ไม่พร้อมด้วยซ้ำ พวกเขารู้ว่าปัญหาสังคมทุกวันนี้มันน่าละเหี่ยใจแค่ไหนกับการที่ต้องพยายามมีชีวิตรอดไปวัน ๆ สิ่งที่พวกเขาเจอทำให้พวกเขารู้สึกว่า “การไม่มีลูกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” เพราะว่าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมอะไรเลยที่จะมีลูก

“มีลูกเมื่อพร้อม แล้วเมื่อไรล่ะที่จะพร้อม” สิ่งนี้ก็คงมีแค่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะตอบได้ พร้อมเรื่องเงิน? พร้อมที่จะเสียสละชีวิตอิสระ? พร้อมที่จะมีภาระผูกพันไปตลอดชีวิต? พร้อมที่จะให้ลูกต้องท้าทายกับระบบการศึกษาแบบนี้และสภาพสังคมที่อิหยังวะมากขึ้นทุกวันแบบนี้? ถ้าเราอยู่ในฐานะพ่อแม่ จะตายไปโดยทิ้งให้ลูกต้องอยู่ในสังคมแบบนี้? มันมีหลายประเด็นมากที่จะเช็กได้ว่าเราพร้อมหรือยังที่จะมีลูก ซึ่งถ้าจะถามว่าทำไมคน Gen Y จำนวนหนึ่ง (ซึ่งเยอะเลยล่ะ) ถึงไม่อยากมีลูก ก็อาจจะมีเหตุผลประมาณนี้ก็ได้

เด็กเกิดใหม่น้อยลง! ตัวเลขนี้วิกฤติแค่ไหน

ทุกวันนี้เด็กเกิดใหม่น้อยลงขนาดไหน ภาพในวันที่ครอบครัวของหลาย ๆ สังคมทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น แถมยังเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มี “ลูก” ด้วย จากสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) ก็มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี หากดูตัวเลขจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (นับตามการแจ้งเกิด) จะเห็นว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว มาถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการขยับขึ้นแต่อย่างใด โดยที่ยังรักษาระดับอยู่ที่ราว ๆ 600,000 คนขึ้นไปต่อปี

จนกระทั่งในปี 2563 ประเทศไทยเข้าสู่จุดที่มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 587,368 คน และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องไปอีกเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างในปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งสิ้น 544,570 คน โดยลดลงจากปี 2563 ถึง 42,798 คนเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าเราเข้าสู่ยุคที่อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งปี 2564 ยังเป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนคนตายด้วยซ้ำ

จนมาถึงปี 2565 ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย อัตราการเกิดปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 502,107 คนเท่านั้น (ลดจากปี 2564 ลงมาอีก) และมีคนตายมากถึง 595,965 คน แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดมากถึง 93,858 คน นั่นเท่ากับว่าอัตราการเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรไทย ติดลบเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2564 ปรากฏการณ์ที่การเกิดน้อยกว่าการตาย แสดงได้เห็นว่าประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในช่วงประมาณ 10 ปีต่อจากนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้

เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไทยอาจเหลือประชากรไม่ถึง 40 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และปัญหาโครงสร้างประชากรนี้จะกระทบกับอีกหลายเรื่อง ทั้งด้านสังคม ที่ทำให้กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้านเศรษฐกิจ ที่อาจมีปัญหาเรื่องแรงงานตามมา มันจึงเป็นภาวะวิกฤติที่ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูก โดยเป้าหมายของภาครัฐในเวลานี้ก็คือ คน Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงานทั้งหมด กับ Gen Z ตอนต้นที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานกำลังสร้างตัว แต่กับคน Gen Z ปลาย ๆ ที่น่าจะยังอยู่ในวัยเรียน ทว่ามีความคิดความอ่านแล้ว ภาครัฐอาจต้องปลูกฝังทัศนคติใหม่ ลบภาพข้อเสียของการมีลูกของคนกลุ่มนี้ให้ได้ เพราะพวกเขาเริ่มเห็นแล้วว่าทำไมตัวเองไม่ควรมีลูกในประเทศนี้

การตัดสินใจเลิกโสดในยุคนี้ คนใช้สมองมากกว่าหัวใจ

ก่อนจะข้ามไปถึงตอนมีลูก พูดถึงเรื่องชีวิตคู่ของคนสองคนก่อนละกัน ว่ากันตามจริง สมัยนี้มันหมดยุคที่ว่าแค่รักกันก็กัดก้อนเกลือกินไปด้วยกันได้แล้ว มันก็อาจจะใช้พิสูจน์รักแท้ได้ (มั้ง) แต่คำถามคือเราจะต้องทำไปเพื่ออะไร? เพื่อความรักที่ก็ไม่แน่ว่ามันจะอยู่กับเราไปได้นานแค่ไหนอย่างนั้นหรือ ผู้หญิงสมัยใหม่มีการศึกษาที่ดี มีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีภาระมากมายที่ต้องแบกรับ การจะคิดถึงความรักแค่อย่างเดียว มันก็ดูจะเป็นหนทางที่ประมาทไปนิด และความประมาทก็มักจะนำไปสู่หายนะ สุดท้ายแล้วถ้าจะมีความรัก มันต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจไปพร้อม ๆ กัน จะใช้หัวใจมากกว่าสมองก็ไม่ผิด แต่จะไม่ใช้สมองเลยไม่ได้เด็ดขาด!

คนทุกคนมีทั้งคุณค่าและมูลค่าในตัวเอง ในแง่ของคุณค่าเราคงเข้าใจความหมายกันดีอยู่แล้ว ส่วนมูลค่า ถ้ามองว่ามันเป็นค่าตัวของคนแต่ละคน มันก็คือความสามารถในการหาเงินของคนคนนั้น คนที่มีความสามารถสูง ๆ ก็ยิ่งมีมูลค่าสูงตามไปด้วย คนเหล่านี้ถึงถูกจ้างงานในราคาสูง นั่นก็เป็นมูลค่าในตัวของพวกเขา ดังนั้น เมื่อคิดที่จะมีความรัก การจะเลือกในสิ่งที่ “คู่ควรกับคุณค่าและมูลค่าในตัวเรา” ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร สมัยนี้ทั้งหญิงและชายมีสิทธิ์ที่จะเลือกในสิ่งที่ตัวเองคู่ควร ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนรวยเท่านั้นที่เราคู่ควร แต่หมายความว่าแค่เป็นคนที่มีคุณค่าและมูลค่าพอ ๆ กันก็พอ ศีลเสมอกัน ช่วยกันทำมาหากิน ไม่มีใครเป็นภาระและไม่มีใครเป็นเดอะแบก มันถึงจะไปกันได้ดี

นั่นหมายความว่า เมื่อคนวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่ในช่วงอายุของการที่จะมีความรัก คิดจะสร้างครอบครัว เริ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับความรักไปในทิศทางข้างต้นมากขึ้น ก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะ “เลือก” มากขึ้น ใช้สมองในการชั่งน้ำหนักความรักแต่ละครั้ง ว่ามันจะเป็นโอกาสหรือเป็นความเสี่ยงมากกว่ากัน หลายคนจึงรู้สึกว่า “ถ้ามีแล้วไม่ดี ไม่ต้องมีจะดีกว่า” ไม่ใช่แค่ใครก็ได้เพื่อให้มี ถ้าไม่มีใครเหมาะสมจริง ๆ ไม่มีคนที่คู่ควรกับคุณค่าและมูลค่าของพวกเขา พวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ตามลำพัง ครองตัวเป็นโสดไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อน หลายคนมีเงินเก็บของตัวเองเพื่อไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าเรียบร้อยแล้วด้วย ไม่มีอะไรต้องกังวล

แต่สำหรับคนที่มีความรักและมีคนรักที่คู่ควรกับตัวเองแล้ว หากอยากจะใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ตนรักและรักตนในสถานะแฟนหรือสามี-ภรรยา ก็เป็นเรื่องที่ย่อมทำได้อยู่แล้ว หากคนสองคนมีงานทำ มีรายได้ในระดับที่อยู่กันได้ไม่เดือดร้อน ถ้าคิดจะมีลูกก็วางแผนครอบครัวให้ดี ๆ แค่นั้นก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าหากมีลูกแบบไม่พร้อม ยังไม่ได้มีการวางแผนครอบครัวล่ะก็ มันจะกลายเป็นหายนะทันทีในยุคนี้สมัยนี้ เพราะกว่าจะเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้เติบโตจนสามารถหาเลี้ยงตัวเองและไม่ต้องพึ่งพาเงินพ่อแม่ อย่างน้อยที่สุดคือ 15 ปี!

เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ในการมีลูก

ถามว่าทำไมถึงใช้เกณฑ์ที่ 15 ปี เพราะมองตามพื้นฐานของครอบครัวในกลุ่มคนรากหญ้า กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ หรือชนชั้นกลางที่รายได้ต่ำ-ปานกลาง ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศ แม้คน Gen Y จำนวนมากจะอยู่ในวัยทำงานสร้างตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยยังติดหล่มการมีรายได้ในระดับต่ำ-ปานกลางอยู่ คนกลุ่มนี้ แค่ทำงานเลี้ยงปากท้องตัวเองก็จะแย่แล้ว บางคนแค่พอมีพอกินแต่ไม่มีเงินให้เก็บ เพราะฉะนั้น ถ้ามีลูกขึ้นมา เรื่องลูกจะกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องคิดเยอะถึงขั้นเอามือก่ายหน้าผาก ในกรณีที่เลี้ยงมาจนโตได้ แต่อยู่ในสภาวะที่อัตคัดมากจริง ๆ คนเป็นลูกอาจต้องเริ่มคิดที่จะทำงานหาเงินเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และเด็กอายุต่ำที่สุดที่จะสามารถทำงานได้ คือเด็กที่อายุ 15 ปี

เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44 ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง” อย่างไรก็ตาม กฎหมายแรงงานเด็กก็ยังยิบย่อยกว่านั้น หากจะจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นลูกจ้าง ก็ยังมีเงื่อนไขอีกมากมายว่างานอะไรทำได้ งานอะไรทำไม่ได้ นั่นแปลว่าถ้าครอบครัวไหนจนตรอกสุด ๆ จนถึงขั้นที่เด็กที่ปกติมีหน้าที่แค่เรียนหนังสือ ต้องช่วยหาเงินเข้าบ้าน หรือหาเงินใช้เองโดยไม่ขอพ่อแม่ (ซึ่งถ้าเป็นงานถูกกฎหมาย ก็เป็นไปได้ยากที่จะหาได้เยอะขนาดนั้น) เด็กก็ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป พ่อแม่ต้องอดทนไปราว ๆ 15 ปี

เรื่องเงิน จึงเป็นเรื่องที่บรรดาคู่รักสมัยใหม่นำมาพิจารณาถึงความพร้อมในการจะมีลูก พวกเขามองว่าการเลี้ยงลูก 1 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่คิดอยากจะมีแล้วมีได้เลย มันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนวณตั้งแต่ตั้งครรภ์ การคลอดลูก การเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิดไปจนกว่าจะเรียนจบการศึกษา ซึ่งมันไม่ใช่เงินน้อย ๆ ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้รายได้ของพวกเขาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูก รวมถึงปัญหาสังคมหลาย ๆ อย่าง นั่นทำให้คู่รัก Gen Y รู้สึกว่า “ไม่ควรจะมีลูก” เพราะการมีลูกคือเรื่องใหญ่ ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา เพื่อให้เด็กที่เติบโตมามีคุณภาพ ไม่ต้องมีชีวิตลำบากเหมือนตัวเอง การเลี้ยงดูเด็กเกิดใหม่จึงกลายเป็นภาระหนักอึ้งของคู่สามี-ภรรยา

เรื่องเงิน เป็นเรื่องหลักที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก ยืนยันได้จาก โพลความคิดเห็น จากศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า“ ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เมื่อสอบถามผู้ที่ยังไม่มีลูก (จำนวน 759 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.89 ระบุว่า อยากมี รองลงมา ร้อยละ 44.00 ระบุว่า ไม่อยากมี และร้อยละ 2.11 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ซึ่งจะเห็นว่าคนช่วงอายุ 18-40 ปี (ซึ่งอยู่ในช่วงอายุคน Gen Y และ Gen Z) ที่อยากมีลูกกับไม่อยากมีลูก ตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกัน

และเมื่อสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูก (จำนวน 334 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่

มาถึงตรงนี้ น่าจะพอเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่าการมีลูกมันต้องใช้เงินตั้งแต่ที่คิดว่าจะมีด้วยซ้ำไป มันเป็น “ความพร้อม” หลักในการจะมีลูก ในเมื่อ “ตัวเองยังเอาแทบไม่รอด ก็ไม่คิดจะมีลูก สงสารเด็ก สงสารตัวเองด้วย” เพราะสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ที่ค่าครองชีพแสนจะแพง แต่รายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ มีค่านั่นค่านี่ให้จ่ายสารพัด แม้ว่าจะพยายามอยู่แบบประหยัดแล้วมันก็ยังแทบไม่พอ หลายคนจึงปฏิเสธที่จะมีลูก ดังนั้น “ความไม่พร้อมทางการเงิน” จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คน Gen Y ไม่ต้องการจะมีลูก หรืออาจจะแต่งงานโดยไม่วางแผนเรื่องมีลูก ด้วยความที่จะเป็นภาระผูกพันยาว ๆ ไปนานถึง 15-20 ปี กว่าลูกจะโตจนทำงานหาเงินเองได้

จึงต้องยอมรับว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนตระหนักถึง “การมีลูกเมื่อพร้อม” เพราะการมีลูกในขณะที่เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพสูง ค่าแรงไม่ขึ้น และสภาพสังคมแบบในปัจจุบัน มันมี “ราคามันแพง” เกินไป มีค่าใช้จ่ายมากมายสำหรับการมีลูก เรื่องของค่านิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิต ที่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งคนในยุคนี้มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าการมีลูกคือภาระ และการเลี้ยงลูกคือค่าใช้จ่ายราคาแพง ใครไม่พร้อมจะมีภาระก็อย่าคิดมี!

ความพร้อมทางการเงิน ใช้แก้ปัญหาได้หลายอย่าง

นอกจากจะไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกแล้ว เราจะเห็นว่าอีกเหตุผลที่ทำให้คนไม่อยากมีลูกในสัดส่วนที่เท่ากันเลยก็คือ เป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าด้วยความกังวลนี้ ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยใช้เงินแก้ปัญหา ด้วยการพยายามซื้อสภาพแวดล้อมที่ดี (ในสังคมแบบนี้) ให้กับลูกตั้งแต่เกิด และสุดท้ายมันก็จะวนกลับไปตรงจุดที่ “เงินต้องพร้อม” ถึงจะทำได้ หากเงินไม่พร้อมแต่พยายามจะใช้เงินแก้ปัญหา คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องทนแบกภาระหนักอึ้งนี้ไว้เอง โดยที่ไม่รู้ว่าจะแบกไหวไปอีกนานแค่ไหน และ…ถ้าล้มเมื่อไร ลูกก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน! (แค่เด็กต้องย้ายโรงเรียนจากเอกชนไปโรงเรียนรัฐบาล ก็อาจสร้างปัญหาให้เด็กได้)

สำหรับคนชั้นกลางที่มีรายได้ในระดับสูงนั้น พวกเขาคือคนกลุ่มหนึ่งที่ “พร้อม” จะมีลูก ถ้าพวกเขาอยากมี พวกเขาก็จะเริ่มวางแผนเรื่องการมีลูกแบบระยะยาว นั่นหมายถึง พวกเขาจะเตรียมความพร้อมเพื่อเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี วางแผนการศึกษาในโรงเรียนที่สูงกว่ามาตรฐานปกติโดย ทั้งในเรื่องของสังคมเพื่อนฝูง มาตรฐานของครู/อาจารย์ และความรู้ที่จะได้รับ หรืออาจหมายถึงการศึกษาต่อต่างประเทศก็ได้ การแข่งขันในสังคม พวกเขาจึงคิดว่าถ้าหากจะมีลูกจะต้องเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ต้องเลี้ยงแบบมีคุณภาพในทุกด้าน แน่นอนว่าต้องใช้เงิน

การวางแผนเหล่านี้ มันคือการวางรากฐานทางสังคมที่ดีให้กับลูก เพื่อที่ลูกจะได้เติบโตขึ้นมาแบบดี ๆ ลดความเสี่ยงในการพบเจอสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือ การมีเงินพร้อม หมายถึงว่าเราสนับสนุนให้ลูกได้เรียนในคณะที่ลูกสอบติด ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ลูกอยากเรียน แบบไม่ต้องมามีดราม่าให้ชาวเน็ตได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ว่าลูกสอบติดคณะดี ๆ อยากเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ แต่พ่อแม่บอกว่าไม่ต้องเรียน เรียนไปก็ไม่จบ เพราะพ่อแม่ไม่เงินจะส่งให้เรียนได้ขนาดนั้น ขนาดค่าเช่าบ้านยังค้างจ่ายอยู่หลายเดือน แม้จะอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีกว่าตัวเอง แต่…เงินน่ะ ไม่มีก็คือไม่มี การไปกู้หนี้ในระบบมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนกลุ่มรากหญ้า กู้นอกระบบก็อันตรายอีก

พ่อแม่ย่อมอยากให้ลูกได้ดี ดีและไปไกลกว่าตัวเองได้ยิ่งดี แต่การจะพาบุตรหลานไปอยู่ในสังคมในระดับที่เพิ่มโอกาสในการได้ดีนั้นมันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้น การมีลูกสำหรับครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาและเป็นคนชั้นกลางที่มีรายได้สูง คนกลุ่มนี้ยังต้องใช้เวลาในการตัดสินใจกันนานพอสมควรเลยว่าพวกเขาจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ไม่มีดีกว่า เพราะสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในปัจจุบัน คือภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูง รายจ่ายเพิ่มแต่รายได้ไม่เพิ่ม ถึงเพิ่มก็เจอเงินเฟ้อ ทำให้การมีลูกหนึ่งคนกลายเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลที่คน Gen Y ต้องบวกเพิ่มเข้าไป อีกทั้ง การเผชิญกับโรคระบาด ทำให้คน Gen Y เห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้นไปอีก

ความคิดที่ว่า “ถ้ามีลูก ก็อยากจะให้เขาเติบโตโดยที่ไม่ต้องเจอกับความโหดร้ายในแบบที่เราเจอ หรืออาจจะเจออะไรที่โหดร้ายกว่าสมัยเราก็ได้” กลายเป็นความคิดที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากช่วงที่คน Gen Y เติบโตมา มันเป็นยุคที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนเรื่องหน้าที่การงานมากเป็นพิเศษ พวกเขารู้ดีว่ามันลำบาก ก็ไม่อยากจะให้ลูกต้องมาลำบากแบบเดียวกัน การจะหลุดพ้นความลำบากจำเป็นต้องมีเงิน แต่การมีลูกก็เท่ากับว่าเราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปจนกว่าลูกจะเรียนจบและหางานทำได้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้สามี-ภรรยาหลายคู่ตัดสินใจที่จะครองชีวิตคู่กันแค่สองคน หรือคนอีกกลุ่มตั้งใจเป็นคนโสดที่มีความสุขเพียงอย่างเดียว มันใช้เงินน้อยกว่า

พูดง่าย ๆ ก็คือ คน Gen Y มองว่าถ้าคิดจะมีลูก ก็ต้องมีทุนทรัพย์ที่มากพอที่จะเลี้ยงให้ลูกเติบโตเป็นประชากรคุณภาพ และถ้าเงินไม่พร้อมแล้วมีลูก ก็จะเกิดการต้องกู้หนี้ยืมสินไม่จบไม่สิ้น เพราะกว่าจะเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้โตจนเลี้ยงตัวเองได้มันไม่ใช่แค่ปีสองปี ซึ่งถ้าต้องเริ่มเป็นหนี้จากการมีลูก มันก็จะเป็นวังวนที่ต้องเป็นหนี้วนไปเรื่อย ๆ หนี้ครัวเรือนของหลาย ๆ ครอบครัวก็เริ่มมาจากจุดนี้ ถ้าคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เริ่มเป็นหนี้เพื่อจะเลี้ยงลูกให้โตสักคน มันย่อมส่งผลลัพธ์ความไม่พร้อมไปให้ตัวเด็กได้รับรู้ด้วย เด็กหลายคนรู้สึกไม่ดีที่พ่อแม่ไม่วางแผนครอบครัวก่อนมีลูก กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดในครอบครัวต่อเนื่องไป

คน Gen Y เป็นคนรุ่นที่ไม่ต้องอิงตามความต้องการของผู้ใหญ่อีกต่อไปว่าต้องมีครอบครัว

ทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้หวังพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ต่างจากคนรุ่นก่อนที่มีความคิดในการมีลูกเพื่อให้ตนเองได้พึ่งพาในยามชรา อีกทั้งคนยุคนี้ก็มุ่งเน้นอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าด้วย การมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญในชีวิตอีกต่อไป

หรือถ้าจะให้พูดตามตรงก็คือ ช่วงอายุของคน Gen Y นั้น ยัง “เลือกได้” ว่าจะแต่งงานหรืออยู่เป็นโสด ถ้าแต่งงานแล้วก็คุยกับคู่ครองได้ว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก ในขณะที่พ่อแม่ของคน Gen Y (ซึ่งเป็นคน Gen X) ก็เห็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก บวกกับเห็นศักยภาพของลูกหลานตัวเองว่าน่าจะอยู่คนเดียวได้ไม่ลำบาก หลายบ้านจึงไม่ค่อยกดดันเรื่องที่ว่าลูกต้องแต่งงาน หรือลูกต้องมีหลานให้อุ้ม มีหลานไว้คอยดูแลตอนแก่ มากเท่ากับที่คนรุ่นพ่อแม่ของตัวเอง หรือคน Baby Boomer กดดันตัวเอง และถึงจะบังคับไปก็เท่านั้น พวก Gen Y หัวแข็ง รักอิสระ เชื่อในการพึ่งพาตัวเอง ไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่บอกก็มีเยอะแยะไป

เพราะคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับตนเองมาก แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาเห็นแก่ตัวนะ มันเป็นเพราะพวกเขาเข้าใจถึงความรับผิดชอบของตนเองมากกว่า พวกเขาให้คุณค่ากับความสำเร็จและความสุขส่วนตัว เน้นดูแลตัวเอง (ให้รอด) ก่อนที่ริจะดูแลผู้อื่น เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้มันบีบคั้นให้พวกเขารู้สึกว่าการเอาตัวเองให้รอดไปวัน ๆ ยังเป็นเรื่องยาก แล้วถ้ามีลูก มันจะไม่ยิ่งทำให้ทุกอย่างยากขึ้นอีกเหรอ และคนจำนวนหนึ่งก็มองว่าการมีคู่เป็นเรื่องยุ่งยากด้วยซ้ำ พวกเขาจึงต้องการเป็นโสดและไม่กระตือรือร้นในการหาคู่ครอง ปรารถนาที่จะใช้เวลาตามลำพัง และมุ่งเน้นไปที่การค้นพบตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง ไม่เน้นสานต่อความสัมพันธ์โรแมนติกไปจนถึงขั้นมีครอบครัว

นอกจากนี้ การที่โลกของผู้หญิงเปิดโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้หญิงที่มีการศึกษาในปัจจุบันสามารถดูแลและเลี้ยงตัวเองได้ สามารถทำอาชีพที่พวกเธอต้องการ มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานเช่นเดียวกับผู้ชายได้ ทำให้พวกเธอไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายมากนัก การแต่งงานจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต พวกเธอไม่ฟังคำสอนของพ่อแม่ที่เตือนว่าให้รีบหาสามี (ก่อนที่จะอายุเยอะกว่านี้แล้วหาไม่ได้) เพื่อที่จะได้มีคนเลี้ยงดู มีชีวิตมั่นคง แต่พวกเธอกลับสนุกกับโลกของการทำงานมากกว่าสร้างครอบครัว แนวคิดที่ผู้หญิงต้องแต่งงานมีครอบครัวและดูแลครอบครัว กลายเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว

นั่นทำให้ยุคสมัยนี้เป็นยุคที่ใครใคร่อยู่เป็นโสดก็สามารถทำได้โดยที่สังคมทั่วไปไม่ได้มองว่าแปลก ก็มีคนเป็นโสดอยู่ตั้งครึ่งค่อนโลก ส่วนคู่แต่งงานก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเองได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอิงตามความต้องการของผู้ใหญ่มากนักถ้าตนเองไม่พร้อม เพราะสุดท้าย หน้าที่ความรับผิดชอบมันตกอยู่กับเรา รวมถึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วว่าอนาคตยามแก่เฒ่าจะอยู่อย่างไรหากไม่มีลูก หาเงินเก็บไว้เลี้ยงตัวเองตอนแก่ ยังแน่นอนกว่ามีลูกแล้วหวังให้ลูกมาเลี้ยงเยอะ เพราะฉะนั้น เอาเงินที่จะต้องเลี้ยงลูกมาปรนเปรอตัวเองให้มีความสุขและเก็บออมเพื่ออนาคตดีกว่า ลูก ถ้าไม่พร้อมจะมีก็ไม่ต้องมี ไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระให้ตัวเอง เพราะจากที่แบกอยู่เนี่ย บางคนก็แทบจะไม่รอดแล้ว

การมีลูกคือภาระผูกพันระยะยาว ถ้าให้เลือก ก็ไม่มีดีกว่า

ย้อนกลับไปที่ผลโพลของนิด้าโพล สาเหตุที่สามที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก หรือที่คิดเป็นร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก เพราะสำหรับคนในกลุ่ม Gen Y ที่ยังคงต้องแบกรับอะไรหลาย ๆ อย่างตามค่านิยมดั้งเดิมของสังคมไทย คือ ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต้องเลื่อนขั้นเป็นเจ้านายตอนอายุเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องมีรถขับ ถ้าจะมีครอบครัวต้องมีสามีที่ดี ภรรยาที่ดี มีลูกก็ต้องเลี้ยงให้ดี เติบโตจนทำมาหากินได้แล้วก็ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าด้วย เป็นการกตัญญูรู้คุณ นี่เป็นภาระทางสังคมที่พวกเขาต้องแบกรับ

ซึ่งการมีลูก จะกลายเป็นภาระผูกพันในระยะยาว ยาวนานแค่ไหน ก็คงต้องบอกว่า “ตลอดชีวิต” ภาระผูกพันนี้ ไม่ใช่ภาระด้านการเงินที่ต้องหาเงินเลี้ยงลูกอีกต่อไปแล้วนะ แต่เป็นภาระทางความรู้สึกที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะรู้สึกว่าตัวเองต้องดูแลลูกไปจนกว่าชีวิตตัวเองจะหาไม่ เพราะไม่ว่าลูกจะโตแค่ไหน ลูกจะอายุเยอะแค่ไหน พ่อแม่ก็ยังเห็นว่าเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ มันยังมีความเป็นห่วงและรู้สึกว่าต้องดูแล ยังอยากเห็นเขาเติบโตไปเรื่อย ๆ นี่แหละที่เป็นภาระทางความรู้สึก ยิ่งลูกโตแล้วมีชีวิตเป็นของตัวเอง ก็ยังห่วงไม่อยากให้ลำบาก ยิ่งเมื่อกลับมาคิดว่าชีวิตตัวเองเหลือน้อยลงทุกวัน ก็เป็นห่วงอีกว่าต่อไปลูกจะอยู่ยังไงในวันที่ไม่มีเรา หลายคนจึงตัดปัญหา ไม่สร้างบ่วงภาระนี้ขึ้นมาแต่ต้น

การมีลูกเป็นภาระทางความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับพ่อแม่ และเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยวางแบบเด็ดขาดไปเลย ยิ่งถ้าลูกยังเล็ก ยิ่งมีความกังวลเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่ต้องออกไปนอกบ้าน จะมีความกลัวว่าถ้าวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับตัวเราเองจนไม่สามารถกลับบ้านได้ แล้วลูกจะอยู่ยังไง แล้วถ้าเราเป็นอะไรไป ลูกจะเป็นยังไง เขาจะเอาตัวรอดได้ไหมในสังคมแบบนี้ เขาจะเติบโตมาอย่างดีไหม ถ้าเขาเสียคนเราจะทำยังไง ถ้านั่นถ้านี่เต็มไปหมดในหัวของคนเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ถ้าไม่มีลูก ก็ไม่มีภาระอะไรที่ต้องห่วงในวันที่เราไม่อยู่แล้ว หรือถ้าชีวิตแต่งงานกับคู่ครองไปไม่รอด การเลิกราและแยกทางกันแบบไม่มีลูก มันก็ง่ายกว่ามีลูกพ่วงมาด้วยเยอะ คล่องตัวและอิสระในการดำเนินชีวิต ด้วยไม่มีภาระทางใจ

การมีลูกคือการเสียสละชีวิตอิสระ

คน Gen Y ตระหนักดีว่าการเป็นพ่อแม่คนไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากการที่เห็นว่าพ่อแม่ตัวเองลำบากขนาดไหนกว่าจะเลี้ยงให้ตัวเรารอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้ การรักดีอยู่ที่ตัวเราเองก็ใช่ แต่พื้นฐานมันก็มาจากการที่พ่อแม่ปลูกฝังมาด้วย และจากการที่เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน มันไม่เหมาะแก่การเลี้ยงเด็กเลย คน Gen Y จึงรู้สึกว่าตนเองอาจต้องเสียสละอะไรหลายอย่างในชีวิตเพื่อแลกกับการเป็นพ่อแม่ที่ดีที่จะเลี้ยงลูกให้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เวลา อิสระที่จะใช้ชีวิตของตนเองให้มีสนุกสนานและมีความสุข รวมถึงความกลัวต่อสภาพสังคมที่เด็กจะเกิดมา ล้วนเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ และหลายคนมีปมในใจว่า “จะไม่เป็นพ่อแม่ในแบบที่พ่อแม่ตัวเองเป็น” ด้วย

คน Gen Y เป็นคนอีกกลุ่มที่เติบโตและใช้ชีวิตมายาวนานพอจะเห็นว่าสภาพสังคมทั้งในบ้านเราและในระดับโลก มันมีอะไรที่น่าปวดหัวบ้าง ถ้าพวกเขาจะให้ลูกของตัวเองเกิดมาแล้วใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้ ซึ่งต้องบอกเลยว่าแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง แบบที่หลาย ๆ คนก็เห็นและใช้วิจารณญาณได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่รวยสักที คน Gen Y คือคนกลุ่มหนึ่งที่ซื้อบ้านได้ยากมาก จนเกิดเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า Generation Rent ที่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ แต่จริง ๆ มันเป็นเพียงมายาคติหรือเปล่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากเช่าบ้านอยู่ แต่ไม่มีเงินจะซื้อมากกว่า เพราะบ้านแพงค่าแรงต่ำ ธนาคารก็ไม่เสี่ยงปล่อยกู้เพราะหนี้เสียเยอะ

หรือแม้แต่ในสภาพสังคมที่ชวนหดหู่ ข่าวอาชญากรรมฆ่ากันตายรายวัน อาชญากรเด็กมีแฝงตัวอยู่ในทุกที่ เด็กอยู่ในโรงเรียนก็อาจจะมีคนภายนอกบุกเข้าไป ไม่ก็เพื่อนนักเรียนด้วยกันเอามีดไล่แทง เอาลูกไปฝากสถานรับเลี้ยงเด็กตอนเช้า ตอนเย็นไปรับลูกตัวมีแต่แผล รุ่งขึ้นอีกวันลูกตาย หรือประเด็นเรื่องความเชื่อ ที่ผู้คนพากันเชื่อแต่ในสิ่งที่อิหยังวะ กราบไหว้เด็ก กราบไหว้พ่อค้าที่ค้าขายแล้วรวย จ่ายเงินซื้อคอร์สเรียนสอนไปนิพพาน กินอึดื่มฉี่ แค่ตัวเองต้องอยู่ในสังคมแบบนี้ก็อยากร้องไห้จะแย่ แล้วเราต้องมีลูกให้อยู่ในสังคมแบบนี้จริง ๆ เหรอ?

นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่อยากให้ลูกของเราต้องอยู่ในสภาพสังคมเช่นนี้ นอกจากจ่ายเงินซื้อสภาพแวดล้อมที่ดีให้พวกเขาอยู่แล้ว ยังต้องเสียสละเวลามาเอาใจใส่ลูกให้มาก ๆ ด้วย เพราะปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้มันมีมากเกินไป จะเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลยก็กลัวเสียคน จะเลี้ยงแบบเข้มงวดก็กดดันเด็ก ต้องพยายามหาวิธีให้สมดุล ต้องหาเวลาอยู่กับลูกจนกระดิกตัวไปไหนไม่ได้ ต้องมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน มีเวลาให้ได้พูดคุย อบรมสั่งสอนสิ่งที่ดีสิ่งไม่ดี สอนอ่านหนังสือ สอนทำการบ้าน อ่านนิทานให้ฟัง พาลูกเข้านอน ความสนุกสนานที่เคยมีต้องยอมสละทั้งหมด บางคนต้องลาออกจากงานมาเป็นพ่อบ้านแม่บ้านเต็มตัว ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้ได้ดี ได้แต่มองเพื่อน ๆ ที่ยังโสดใช้ชีวิตอิสระ

สอดคล้องกับโพลของนิด้าโพล ที่ระบุว่าคนที่ไม่อยากมีลูก ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี และร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ชี้ไปที่เรื่องของ “การต้องเสียสละชีวิตอิสระ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากที่เคยเที่ยวแบบไปไหนไปกัน ไม่เช้าเราไม่กลับ ก็ต้องเลี้ยงลูก จากที่ไม่เคยต้องเอาเวลามาเอาใจใส่ชีวิตใคร ก็ต้องเลี้ยงลูก จากที่เคยสนุกกับการทำงาน เรียนด้านนี้มาเพื่อทำงานด้านนี้ ก็ต้องเลี้ยงลูก โดยเฉพาะคนเป็นแม่ เพราะบทบาทของผู้หญิงที่ออกจากบ้านมาทำงานเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้หาเวลาในการเลี้ยงลูกได้น้อย หลายคู่จึงไม่อยากมีลูก หากเวลาในการเลี้ยงดูลูกยังไม่เพียงพอ

เพราะถ้าไม่มีเวลาเลี้ยงลูกที่มากพอ ก็กลัวว่าต่อไป ลูกจะไปทำอะไรที่ไม่ดี จนถูกด่าว่าเป็นเด็กพ่อแม่ไม่สั่งสอน หรือตัวเองถูกตำหนิว่าเลี้ยงลูกไม่ดี จึงต้องเอาเวลามาเลี้ยงลูกให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือถ้าอยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี พื้นฐานก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูก ให้เรียนรู้อะไรที่เหมาะสมกับวัยไหม เคยสอนลูกอ่านหนังสือไหม เคยถามลูกไหมว่ามีการบ้านอะไร หรือเคยถามไหมว่าที่โรงเรียนเป็นยังไง พ่อแม่ที่ดี ไม่ใช่ว่าผลักเด็กไปให้ครูที่โรงเรียนสอนแล้วก็จบ อยากให้ลูกเรียนเก่งก็จ้างครูสอนพิเศษก็จบ ถ้าไม่อยากให้ลูกมองตัวเองเป็นคนอื่น พ่อแม่ต้องใกล้ชิดลูกให้มากกว่าเดิมโดยที่ไม่ทำให้ลูกอึดอัด ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เป็นลูก ถ้ายังรักอิสระ รักสนุก ไม่มีลูกก็ถูกแล้ว

เรียนที่ไหนก็เหมือนกันไม่มีอยู่จริง!

ระบบการศึกษาของบ้านเรามันพังแค่ไหน คน Gen Y หลายคนน่าจะทราบดี และรู้ดีว่าโรงเรียนไทยส่วนมากไม่ได้สอนให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิด แต่ให้สอนให้ท่องจำ ฟัง เชื่อ และห้ามสงสัย หลายโรงเรียนแสดงให้เราเห็นว่าการสงสัยคือการไม่มีมารยาทและก้าวร้าวครู มีอะไรสงสัยให้ถาม บางทีก็เป็นแค่คำพูดติดปากของครู แต่พอเด็กถามก็ประจานเด็กหาว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ให้เด็กตอบคำถาม ถ้าเด็กตอบผิดหรือทำไม่ได้ก็จะมีคำพูดในเชิงถากถางทำลายความมั่นใจเด็ก ว่าโง่บ้าง ไม่ตั้งใจเรียนบ้าง บางทีก็ทำโทษด้วยการประจาน การใช้ความรุนแรงแบบไม่มีเหตุผล ใช้คำพูดรุนแรงหยาบคายเวลาพูดเวลาสอนเด็ก เรื่องแบบนี้ คน Gen Y

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook