ไขข้อสงสัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร

ไขข้อสงสัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร

ไขข้อสงสัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าจะกล่าวถึงมหาวิทยาลัยรัฐบาล ที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แน่นอนว่าชื่อของ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กันอย่างแน่นอน เพราะทั้งสองสถาบันนี้ ขึ้นชื่อเรื่องค่าเทอมที่ไม่แพง แต่สามารถผลิตบัณฑิตที่ดีสู่สังคมได้อย่างมากมาย ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยสงสัยกันบ้างว่า ราชภัฏ กับ ราชมงคล นั้นแตกต่างกันอย่างไร

วันนี้เราก็ได้ไปรวบรวมข้อมูลมาไขข้อสงสัยให้กับเพื่อนๆ กันแล้ว ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่างกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ยังไง ที่ไหนโดดเด่นเรื่องอะไรบ้าง ใครที่กำลังที่มอง 2 สถาบันนี้เป็นตัวเลือกอยู่ ลองมาศึกษาข้อมูลไปพร้อมกันเลย

 ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร

ไขข้อสงสัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร

ประวัติของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม "ราชภัฏ" จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548

สถาปนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

  • โรงเรียนฝึกหัด วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 – 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 (67 ปี)
  • วิทยาลัยครู วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 (31 ปี)
  • สถาบันราชภัฏ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 – 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (12 ปี)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 - ปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

  • วิทยาลัย วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518
  • สถาบัน วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2532
  • มหาวิทยาลัย วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548

ภารกิจหลัก

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

มหาวิทยาลัยราชภัฏ มุ่งพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุง ศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

(พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงมีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี (ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ทำการเรียนการสอนควบคู่กับทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เรื่อยมา อีกทั้งยังทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

ในปี 2549 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย สกอ. ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่นในด้านการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับการจัดอันดับดีเด่นในด้านการเกษตร

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม " ราชภัฏ " และตราประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม " ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา "

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ พิจารณาจากดวงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เพื่อกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

ประติมากรรมรูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายแห่งความคิดความรู้สึกร่วมกันในอันที่จะช่วยกันพัฒนาการศึกษาด้านวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้าสืบไป รูปดอกบัวซ้อนกันขึ้น 3 ชั้น สื่อความหมายเพื่อให้เกิดความรู้สึกโปร่งเบามีกลีบบัว 8 เส้น เส้นทั้ง 8 หมายถึง มรรค 8 ประการ ส่วนยอดแหลมแทรกขึ้นสู่ฟ้า หมายถึง ผู้จะพบความสำเร็จได้จะต้องใช้ความพยายาม อย่างสูงสุด ในการผ่านแต่ละขั้นตอนการเรียนรู้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อีกทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 พร้อม พระมหาพิชัยมงกุฎ มาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ทั้งนี้คณาจารย์และนักศึกษาต่างสำนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

สีประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

สีของตราประจำมหาวิทยาลัย มี 5 สี โดยมีความหมาย ดังนี้

  • สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ"
  • สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้กำหนดให้สีเหลืองและสีน้ำเงินเป็นสีประจำสถาบัน

  • สีเหลือง เป็นสีวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • สีน้ำเงิน เป็นสีสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์

สาขาของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏ

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งหมด 38 แห่งโดยแบ่งตามการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มภาคกลาง

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (มรกจ./KRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ./CRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท./TRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรธ./DRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรน./NPRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส./BSRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พน./PNRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (มรอย./ARU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ./PBRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร./RRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (มรรพ./RBRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรวอ./VRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส./SSRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ./MCRU)

กลุ่มภาคใต้

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (มรภ.นศ./NSTRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ./PKRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย./YRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข./SKRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส./SRU)

กลุ่มภาคเหนือ

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (มรภ.กพ./KPRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.ชร./CRRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มรภ.ชม./CMRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (มรภ.นว./NSRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มร.พส./PSRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (มรภ.พช./PCRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลป./LPRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ./URU)

กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (มชย./CPRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม./NRRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มรภ.บร./BRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม./RMU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (ม.รอ./RERU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (มรล./LRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก./SSKRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรสน./SNRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (ม.รภ.สร./SRRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มร.อด./UDRU)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ./UBRU)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook