เฉลยแล้ว! ทำไมตึกสูงในประเทศไทย ส่วนมากเป็นทรงขั้นบันได หรือ ปาดเอียง
เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยหรือสังเกตเวลามองตึกสูงๆ แล้วมักที่จะเห็นรูปทรงของตึกทางด้านบนจะเป็นรูปทรงขั้นบันไดหรือทรงปาดเอียงกันทั้งนั้น จนอาจจะทำให้ใครหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องสร้างตึกเป็นทรงนี้ ทำไมเวลาสร้างตึกสูงสร้างเป็นทรงแท่ง เรียบๆ ไปเลยไม่ได้หรอ หรือที่สร้างทรงนี้มันเป็นเพราะเรื่องฮวงจุ้ย
วันนี้เราก็ได้ไปหาคำตอบมาไขข้อสงสัยให้กับเพื่อนๆ กันแล้ว ว่า ทำไมตึกสูงในประเทศไทย ส่วนมากเป็นทรงขั้นบันได หรือ ปาดเอียง มันเป็นเพราะการออกแบบ หรือ เพราะมีข้อกำหนดรึเปล่า
เฉลยแล้ว! ทำไมตึกสูงในประเทศไทย ส่วนมากเป็นทรงขั้นบันได หรือ ปาดเอียง
สาเหตุที่ทำให้ยอดตึกที่เป็นอาคารสูงต้องมีการทำลักษณะเป็นขั้นบันได หรือ ต้องปาดเฉียง ก็เพราะว่ากฎหมายของประเทศไทย ที่มีการควบคุมความสูง เพื่อความปลอดภัยของคนในเมืองนั่นเอง โดยการวัด เริ่มจากวัดความยาวแนวราบจากจุดที่จะสร้างตึกถึงหน้าเขตที่ดินฝั่งตรงข้ามนำมาคูณสอง จะเท่ากับความสูงของตึกที่สามารถสร้างได้
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 จากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีใจความว่า
“ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุด สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด”
ตึกทรงขั้นบันได กับ ปาดเอียง ต่างกันมั้ย ?
โดยส่วนใหญ่แล้วอาคารในเมืองจะมีรูปทรงหลักๆ 2 แบบ ทั้งทรงขั้นบันได และ ทรงปาดเอียง โดยทั้งคู่มาจากหลักการเดียวกัน แค่มีจุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน โดย อาคารที่มีรูปร่างแบบปาดเฉียง ส่วนมากจะเป็นตึกออฟฟิศ เพราะก่อสร้างได้เร็ว มีปริมาณพื้นที่ใช้สอยเพิ่มและทำความสะอาดง่าย ส่วนตึกทรงขั้นบันได จะโดดเด่นตรงที่ได้พื้นที่กลางแจ้งที่เยอะขึ้น และสามารถสร้างความหลากหลายของพื้นที่ได้มากกว่า ส่วนมากจะเป็นตึกในรูปแบบคอนโด แต่การดูแลรักษาอาจจะต้องดูแลมากกว่าทรงปาดเอียง