เตือนภัยวัยเกษียณ 7 ภัยออนไลน์ที่คุณอาจตกเป็นเหยื่อ!

เตือนภัยวัยเกษียณ 7 ภัยออนไลน์ที่คุณอาจตกเป็นเหยื่อ!

เตือนภัยวัยเกษียณ 7 ภัยออนไลน์ที่คุณอาจตกเป็นเหยื่อ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นคนเพศไหน อายุเท่าไร การศึกษาดีหรือไม่ดี สถานภาพทางสังคมเป็นอย่างไร มีสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมีสิทธิ์โดยเท่าเทียมกันและทั่วถึงมาก นั่นก็คือสิทธิ์ที่จะ “ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ” ได้เหมือนกันหมด เห็นได้จากการที่ทุกคนน่าจะต้องเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างน้อยคนละหนึ่งครั้งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ถูกมิจฉาชีพคุกคามได้เหมือน ๆ กัน แต่กลับมีกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น นั่นก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ เนื่องจากอาจจะตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทัน หรือตามมุกหลอกลวงของมิจฉาชีพไม่ทันนั่นเอง จึงดูเป็นกลุ่มคนที่ “หลอกง่าย”

เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากพวกแก๊งมิจฉาชีพ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงทำการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยถึง 7 รูปแบบภัยออนไลน์ที่พุ่งเป้ามาที่ผู้สูงอายุวัยเกษียณ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในรูปแบบดังกล่าว มาดูกันว่ามีรูปแบบไหนบ้าง และเสี่ยงที่จะถูกหลอกเพราะอะไร

1. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์

หลัก ๆ แล้ว มักเกิดขึ้นจากการที่ผู้สูงอายุเกษียณตัวเองออกมาจากการทำงานแล้ว วัน ๆ ก็เลยค่อนข้างว่าง เมื่อไม่มีอะไรให้ทำมากมายก็จะหยิบโทรศัพท์มาเล่น จากนั้นก็อาจจะเห็นโฆษณาของสินค้านู่นนี่นั่นผ่านหน้าฟีดในเฟซบุ๊ก แล้วเกิดอยากได้ของชิ้นนั้นขึ้นมา ไม่ก็อาจจะกำลังต้องการสินค้าอะไรสักอย่างอยู่ จึงกดเข้าไปลองไถ ๆ ดูเพื่อฆ่าเวลา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะโดยหลอกให้ซื้อขายสินค้าต่าง ๆ จ่ายเงินเสร็จแล้วเรียบร้อย แต่ทางผู้ขายไม่มีเจตนาที่จะส่งสินค้าให้จริง หรืออาจจะส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้ ของที่ได้รับ มีมูลค่า (หรือไม่มีมูลค่าเลย) น้อยกว่าเงินที่จ่ายไป เป็นต้น

2. การหลอกลงทุน

หลังเกษียณจากการทำงาน ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งจะมีเงินก้อนที่ได้รับจากบำเหน็จ หรืออาจเป็นเงินก้อนที่ตนเองพยายามอดออมไว้สมัยยังหนุ่มยังสาว เพื่อนำมาใช้กินใช้อยู่ตอนชีวิตบั้นปลาย หลายคนมีความคิดที่จะนำเงินส่วนหนึ่งจากเงินก้อนที่ว่าไปลงทุนให้งอกเงยออกดอกออกผล เพราะการเก็บเงินไว้เฉย ๆ มีแต่จะเจอภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้เงินก้อนนั้นมีมูลค่าที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือบางคนอาจจะเกรงใจลูกหลาน ตัวเองไม่ได้ทำงานแล้ว แต่ก็ไม่อยากนั่งงอมืองอเท้าให้ลูกหลานเลี้ยง จึงมีความคิดที่จะนำเงินก้อนไปลงทุน ถ้าลงทุนถูกที่ก็ยอมเห็นดอกผลที่งดงามแน่นอน แต่ทุกวันนี้มิจฉาชีพจะชอบใช้มุกหลอกชักชวนให้เหยื่อลงทุน ด้วยให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมันไม่มีอยู่จริง

3. การหลอกให้รัก

ผู้สูงอายุหลายคนเคยเผชิญกับการสูญเสีย เป็นหม้ายเพราะสามีหรือภรรยาเสียไปแล้ว หรืออาจจะเคยผ่านการหย่าร้างมา บางคนอาจจะครองตัวเป็นโสดมาจนถึงวัยเกษียณก็ได้ เมื่อรวมกับความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองไม่ได้ทำงาน ไม่มีอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ผู้สูงอายุหลายคนจึงขี้เหงา หวั่นไหวง่าย จึงเป็นไปได้สูงที่จะไม่ทันเอะใจเมื่อมีคนเข้ามาตีสนิทด้วย ทำดีด้วย หรือพยายามจะเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ คนที่ดีและจริงใจก็มี แต่มิจฉาชีพประเภท Romance Scam ก็เยอะเช่นกัน ท้ายที่สุดอาจถูกหลอกให้รัก เพื่อหวังเอาทรัพย์สินก็ได้

4. การหลอกให้กลัวหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ผู้สูงอายุจำนวนมากตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน ตามมุกแก๊งมิจฉาชีพไม่ทัน กลุ่มผู้สูงอายุจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของพวกแก๊งมิจฉาชีพหัวใส ที่ชอบใช้มุกนั้นมุกนี้บวกกับอาศัยทักษะการแสดงแบบเนียน ๆ มาหลอกลวงให้ผู้สูงอายุเกิดความกลัว เพื่อให้ยอมทำตามข้อเรียกร้องอะไรก็ตามที่มิจฉาชีพบอกให้ทำด้วยความไม่รู้ เช่นมุกทั่ว ๆ ไปอย่างการแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแจ้งว่ามีการกระทำความผิด มีผลให้อาจมีคดีติดตัว หลอกให้โอนเงินไปให้ตรวจสอบ หรือมุกหลอกลวงรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับลูกหลานของผู้สูงอายุ ที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องยอมทำตามเพราะเป็นห่วงลูกหลานของตัวเอง

5. การหลอกขายยาและอาหารเสริม

วัยสูงอายุเป็นวัยที่ใครหลายคนเริ่มหันมาเริ่มต้นจริงจังกับการดูแลสุขภาพ (ทั้งที่มันไม่ทันแล้ว) ด้วยเจอกับตัวเองว่าปัญหาด้านสุขภาพนั้นคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าที่คิด หลาย ๆ คนยังอยากแข็งแรงสุขภาพดีไปอีกนาน ๆ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงต้องระวังที่จะถูกหลอกขายผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมต่าง ๆ ที่อ้างว่าสามารถรักษาโรค สร้างเสริมสุขภาพ หรือทำให้หายขาดจากโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจไม่ได้ผลจริงและเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่เป็นอยู่ โดนหลอกขายยาและอาหารเสริมปลอม เป็นต้น

6. การหลอกขายประกันสุขภาพ

เรื่องของสุขภาพกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เหล่าผู้สูงอายุให้ความสำคัญและวิตกกังวล นอกจากกลัวว่าจะเป็นโรคอันตรายร้ายแรงที่จะส่งผลต่อชีวิตแล้ว ยังกลัวด้วยว่าถ้าเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายขึ้นมาจริง ๆ จะเอาเงินไหนมาสนับสนุนเป็นค่ารักษาพยาบาลตนเอง ดังนั้น หากพวกมิจฉาชีพแอบอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทประกันสุขภาพ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือขายประกันที่ไม่เป็นความจริง ผู้สูงอายุก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ๆ

7. การหลอกรับสวัสดิการผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมักจะอ่อนไหวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีเงินก้อนหนึ่งที่ออมไว้ใช้กินใช้อยู่หลังเกษียณ หลังจากที่เกษียณจากการทำงาน คนกลุ่มนี้จะเข้าตามสูตร “ไม่ทำงาน=ไม่มีเงิน” บางคนยังทำงานได้แต่ร่างกายก็ไม่ค่อยไหว หรือบางคนทำงานหาเงินไม่ไหวแล้วก็มี แล้วการที่ไม่มีทั้งงานไม่มีทั้งเงินก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมา มีความกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนใช้

ดังนั้น เรื่องสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งปกติเป็นสวัสดิการจากภาครัฐ จะกลายเป็นทางออกของปัญหาที่จะเข้ามาช่วยจุนเจือชีวิตในยามที่ไม่ได้หาเงินเอง ผู้สูงอายุหลายคนจึงมีโอกาสโดนหลอกด้วยเหตุนี้สูงมาก หากมีใครก็ตามแอบอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องบำนาญหรือสวัสดิการผู้สูงอายุ จะขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัวหรือขอให้โอนเงินค่าธรรมเนียมเพื่อดำเนินการ ผู้สูงอายุก็อาจจะไม่ได้เอะใจสงสัยอะไร และอาจจะหลงเชื่อง่าย ๆ โดยทันที เพราะอยากได้รับสวัสดิการส่วนนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook