เมื่อลูกของเรา “สะกดคำไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก” แปลว่าลูกโง่ไหม?

เมื่อลูกของเรา “สะกดคำไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก” แปลว่าลูกโง่ไหม?

เมื่อลูกของเรา “สะกดคำไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก” แปลว่าลูกโง่ไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำไมลูกของเราถึงอ่านไม่ออก สะกดคำไม่ได้ ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง นั่นคือ ลูกของเราโง่ใช่ไหม? คำตอบ คือ ไม่ใช่ ลูกของเราอาจจะเข้าข่ายเป็นโรคแอลดี: LD หรือ Learning Disorders หมายถึง ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ โดยเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะมีวงจรการทำงานของสมองไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เซลล์สมองบางส่วนอยู่ผิดที่ ทำให้มีปัญหาในการเรียน เรียนอ่อนบางวิชา หรือหลาย ๆ วิชา แล้วความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ เกิดจากอะไร จะมีวิธีรักษาให้หายได้หรือไม่

ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้เกิดจากอะไร

เด็กที่อยู่ในภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ เด็ก ๆ เหล่านี้ จะมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือบางคนฉลาดกว่าเด็กปกติทั่วไปด้วยซ้ำ และต้องทำความเข้าใจเด็กที่เป็นโรคแอลดี ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นออทิสติก เพียงแต่การเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้านจะช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน

สำหรับสาเหตุของโรคแอลดีเกิดจากความผิดปกติของสมอง พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด Learning Disorders มีดังนี้

  • การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา
  • กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน
  • ความผิดปกติของโครโมโซม

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกบกพร่องทางด้านการเรียนรู้

สิ่งสำคัญ คุณพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ต้องหมั่นสังเกตการพัฒนาของลูก แม้เด็ก Learning Disorders จะไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน แต่จะเริ่มพบและสังเกตได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจากลักษณะเด่นดังต่อไปนี้ พูดช้า สับสนทิศทาง ยังพูดไม่ชัด มีปัญหาเรื่องของการใช้ภาษา พูด อธิบายหรือเล่าอะไรไม่ได้ ประโยคไม่ปะติดปะต่อ ให้ตั้งข้อสันนิษฐานและพามาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคแอลดี อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวัยประถมศึกษาที่ต้องแสดงความสามารถทางการเรียนแยกย่อยรายวิชา อาการของโรคจะแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้น ซึ่งอาการของเด็ก Learning Disorders อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

ความบกพร่องด้านการอ่าน

ความบกพร่องด้านการอ่านเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็ก Learning Disorders ทั้งหมด เด็กมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ

ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออก ผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์

เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการคิดคำนวณ ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ครู หมอ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม เป็นสมการที่จะช่วยการดำเนินชีวิตที่ดีเด็ก ๆ Learning Disorders

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือ สถานการณ์ในประเทศไทยคือ พบว่ามีเด็ก Learning Disorders เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมากจึงไม่ใส่ใจ ในขณะที่ครู โรงเรียน ควรจะต้องจัดทำแผนเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน

โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียน สอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหาความรู้ได้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ทั้งนี้ เชื่อเหลือเกินว่ายังมีเด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม

“ทั้งนี้ เด็ก Learning Disorders ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่วัยเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้เขาเชื่อว่าตัวเองทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงหาความสามารถพิเศษร่วมไปด้วยและต้องมีการฝึกฝน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีทีมช่วยเหลือที่เข้มแข็ง คุณครูต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก โดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook