แทบจะไม่ได้ใช้ ทำไมประเทศไทยยังใช้หน่วยเงิน "สตางค์"?
หลายคนอาจสงสัยว่าในยุคที่เรามักใช้ธนบัตร 20 บาท 50 บาท หรือ 100 บาทเป็นหลัก แล้วทำไมประเทศไทยยังคงใช้หน่วยเงินย่อยอย่าง สตางค์ อยู่? เช่น เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเจอสินค้าที่มีหน่วยสตางค์พอซื้อแล้วได้เงินทอนมาก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้
วันนี้เราก็ได้ไปหาข้อมูลมาไขข้อสงสัยให้กับเพื่อนๆ กันแล้ว ว่า ทำไมประเทศไทยยังถึงต้องใช้หน่วยเงิน สตางค์กันอยู่ แม้จะไม่ค่อยเห็นเหรียญสตางค์ในการซื้อขายทั่วไปแล้ว แต่สตางค์ยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของเราอยู่ ใครที่กำลังสงสัยเรามาดูคำตอบไปพร้อมกันได้เลย
แทบจะไม่ได้ใช้ ทำไมประเทศไทยยังใช้หน่วยเงิน "สตางค์"?
1. เพื่อการคำนวณที่แม่นยำ
หน่วยเงินสตางค์ช่วยให้การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการสามารถทำได้อย่างละเอียด โดยเฉพาะในสินค้าที่มีราคาต่ำหรือมีการซื้อขายในปริมาณเล็กน้อย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจเห็นราคาต่อหน่วยเป็นทศนิยม เช่น 30.59 บาท/ลิตร หรือสินค้าที่มีน้ำหนักเบา ขายเป็นกรัมหรือมิลลิกรัม การใช้สตางค์ทำให้ราคาสามารถสะท้อนมูลค่าได้อย่างแม่นยำ
2. หน่วยเงินย่อยที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ
ถึงแม้ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเป็นจำนวนเต็ม เช่น 10 บาท 50 บาท แต่ในระบบเศรษฐกิจที่มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ย การคำนวณภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หน่วยสตางค์ยังมีความสำคัญในการคำนวณอย่างละเอียด เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากหรือสินเชื่อที่คำนวณตามทศนิยม การมีหน่วยสตางค์ช่วยให้การคำนวณเหล่านี้มีความถูกต้องมากขึ้น
3. ความยืดหยุ่นในการตั้งราคา
การใช้หน่วยสตางค์ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาสินค้าได้อย่างยืดหยุ่น หากไม่มีหน่วยเงินสตางค์ การกำหนดราคาสินค้าจะต้องปัดเป็นบาทเสมอ ทำให้บางครั้งราคาที่ตั้งอาจสูงหรือต่ำเกินไปกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น การมีสตางค์ช่วยให้สามารถกำหนดราคาได้เหมาะสมมากขึ้น
แม้ในชีวิตประจำวันเราอาจไม่ค่อยเห็นการใช้เหรียญสตางค์มากนัก แต่หน่วยเงินนี้ยังคงมีความสำคัญทั้งในด้านการคำนวณ ความยืดหยุ่นในการตั้งราคา และการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ต้องการความแม่นยำนั่นเอง