จริงหรือคิดไปเอง เปิดข้อเท็จจริง กินเค็มทำให้อ้วนขึ้นจริงหรอ?

เคยไหม? รู้สึกว่าช่วงนี้ตัวบวม เสื้อผ้าเริ่มคับ หน้าก็ดูบานขึ้น ทั้งที่เราก็ไม่ได้กินเยอะ ไม่ได้กินของมันของหวาน แต่ยังไง๊ยังไงก็รู้สึกว่า "อะไรบางอย่าง" มันไม่ปกติ หลายคนอาจคิดว่า “เราแค่บวมน้ำ ไม่ได้อ้วนหรอก” ซึ่งฟังดูเหมือนข้อแก้ตัว แต่รู้ไหมว่า… มันอาจจะจริงก็ได้! เพราะหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ “ตัวบวม” และ “น้ำหนักเพิ่ม” โดยที่เรายังงง ๆ อยู่ ก็คือ การกินเค็ม นั่นเอง
เค็มแค่ไหนถึงเรียกว่ากินเค็ม?
โดยปกติร่างกายเราควรได้รับ “โซเดียม” ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือประมาณเกลือ 1 ช้อนชา) แต่ในความเป็นจริง… แค่กินข้าวเหนียวหมูปิ้ง+น้ำจิ้มแจ่วก็พุ่งเกินไปแล้ว!
อาหารยอดฮิตที่โซเดียมสูงแบบไม่รู้ตัว เช่น
- มาม่า / บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- อาหารแช่แข็ง
- น้ำจิ้มต่าง ๆ
- ขนมขบเคี้ยว
- ของทอดที่ใส่ผงปรุงรสจัด ๆ
จริงหรือคิดไปเอง เปิดข้อเท็จจริง กินเค็มทำให้อ้วนขึ้นจริงหรอ?
กินเค็มทำให้อ้วนขึ้นจริงหรอ?
คำตอบสั้น ๆ คือ โซเดียมในอาหารจะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเอาไว้ เมื่อร่างกายรับโซเดียมมากเกินไป เลือดจะเข้มข้นกว่าปกติ ร่างกายเลยดึงน้ำมาละลายโซเดียม และเก็บมันไว้ใต้ผิวหนังหรือส่วนต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุลเอาไว้ นั่นแหละคือเหตุผลที่ทำให้เรา "บวมน้ำ" ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัด เช่น หน้าบวม, ตื่นมาแล้วตาปูด, ขาบวม, ท้องอืด รวมไปถึง น้ำหนักขึ้นแบบงง ๆ และถ้าเรายังไม่ได้ขับน้ำส่วนเกินออก (เช่น ดื่มน้ำน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย) ตัวเราก็จะบวมแบบนี้อยู่นานเลยทีเดียว
แล้วทำไมกินเค็มถึง "หิวบ่อย"?
ความเค็ม = กระตุ้นให้สมองหลั่งโดปามีน (สารแห่งความสุข) และ เราจะรู้สึกฟิน สบายใจ เพลิน และอยากกินต่อ ผลที่ตามมาคือ... เรากินมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารเค็มที่มีไขมันสูงหรือคาร์บสูง (เช่น มันฝรั่งทอด ซุปกึ่งสำเร็จรูป ข้าวขาหมู ฯลฯ) ยิ่งทำให้กินไม่หยุด จบที่อิ่มเกิน แคลอรี่เกิน แล้วก็ “น้ำหนักขึ้น” โดยสมบูรณ์แบบ และที่สำคัญ... น้ำหนักที่เพิ่มจากการบวมน้ำ อาจทำให้หลายคนท้อใจ คิดว่าลดเท่าไหร่ก็ไม่ผอม ทั้งที่จริงแค่ต้อง “ลดเค็ม” เพิ่มเข้าไปด้วยเท่านั้นเอง!
ถ้ากินเค็มไปแล้ว เราต้องทำยังไงถึงจะช่วย
- ดื่มน้ำเยอะขึ้น ช่วยขับโซเดียมออก
- เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง
- งดเติมซอส น้ำปลา ซีอิ๊ว แบบอัตโนมัติ
- เลือกของจิ้มที่มีโซเดียมต่ำ (หรือทำเอง)
- อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ ดูปริมาณโซเดียมให้เป็นนิสัย
สรุปชัด ๆ: กินเค็ม = ตัวบวม + น้ำหนักเพิ่ม (โดยไม่รู้ตัว)
โซเดียมทำให้ร่างกายกักน้ำไว้ ส่งผลให้ "ตัวบวม" และ "น้ำหนักขึ้น" อีกทั้ง รสเค็มกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้เรากินเก่งกว่าเดิม และที่สำคัญ คนที่ลดน้ำหนักต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเค็มอาจทำให้ผลลัพธ์ช้าลง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเลิกกินเค็มทันที แต่แค่ปรับให้พอดีแค่นี้ก็พอแล้ว