เผยแอดมิสชั่นส์ปี 2553 ใช้ GPAX 20 %
เผยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ขอสรุปองค์ประกอบ-ค่าน้ำหนัก 'แอดมิสชั่นส์' ปี 2553 แล้ว ใช้ GPAX 20 % - ONET 30 % - GAT10-50% - PAT 0-40% แบ่งเป็น 9 กลุ่มวิชา
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ซึ่งมีนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน แจ้งว่า คณะกรรมการกลุ่มเสวนา Admissions and Assessment Forum ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้นำเสนอผลสรุปเกี่ยวกับองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิต-นักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 ของแต่ละกลุ่มสาขาวิชา รวม 9 กลุ่มสาขาวิชา โดยแจ้งต่อที่ประชุม ก.พ.อ.เพื่อทราบ หลังจาก ทปอ.มีมติในการประชุม ทปอ.ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ให้ระบบกลางการรับนิสิต-นักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 ใช้องค์ประกอบ และค่าร้อยละ ดังนี้
1.คะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX 20%
2.คะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือ O-NET 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 30%
3.การทดสอบศักยภาพทั่วไป หรือ GAT (General Aptitude Test) 10-50% และ
4.การทดสอบศักยภาพทางวิชาชีพ หรือ PAT (Professional Aptitude Test) 0-40%
แหล่งข่าวกล่าวว่า องค์ประกอบและค่าน้ำหนักของ 9 กลุ่มสาขาวิชา มีดังนี้
1.กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ แบ่งเป็น
1.1 เภสชัศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ วิทยาศาสตร์การกีฬา พลศึกษา และสุขศึกษา GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 30% และ
1.2 ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 30% PAT 20%
2.กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีสารสนเทศ GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT 40%
3.กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 15% PAT 35%
4.กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT 40%
5.กลุ่มเกษตรศาสตร์ ได้แก่ เกษตรศาตร์ อุตสาหกรรมเกษตร วนศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 30%
6.กลุ่มบริหาร พาณิชยศาสตร์ การบัญชี การท่องเที่ยวและโรงแรม และเศรษฐศาสตร์ แบ่งเป็น
6.1 บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี เศรษฐศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 30% PAT 20% และ
6.2 การท่องเที่ยว และการโรงแรม GPAX 20% O-NET 30% GAT 50% PAT 0%
7.กลุ่มครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 20% PAT 30%
8.กลุ่มศิลปกรรม ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ได้แก่ วิจิตรศิลป์ ศิลปะประยุกต์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT 40% และ
9.กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ รูปแบบที่ 1 พื้นฐานวิทยาศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 40% PAT 10% และรูปแบบที่ 2 พื้นฐานศิลปศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 50% หรือ GPAX 20% O-NET 30% GAT 40% PAT 10%
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ นายบุญลือเป็นห่วงเรื่องการกำหนดให้ O-NET เป็นองค์ประกอบหนึ่ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนให้ยกเลิก แต่ผู้แทน ทปอ.ได้ชี้แจงว่าการสอบ O-NET เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในชั้น ม.4-ม.6 และยังวัดคุณภาพมาตรฐานของสถานศึกษาด้วย ส่วนที่กังวลว่า GAT และ PAT จะวัดศักยภาพของผู้เรียนได้จริงจังแค่ไหน ทาง ทปอ.จะนำร่องในมหาวิทยาลัยบางแห่งในเดือนตุลาคม และที่ประชุมยังเป็นห่วงเรื่องการกวดวิชา อยากให้ลดลงในอนาคต
แหล่งข่าวกล่าวว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้นำองค์ประกอบของแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 ขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นแล้วก่อนหน้านี้ และ ทปอ.ได้มีมติให้แก้ไขตามที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเช่น การเพิ่มการวัดศักยภาพทางภาษาต่างประเทศที่ 2 ใน PAT ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น บาลี และอาหรับ จนได้ข้อสรุปขององค์ประกอบ และค่าน้ำหนักของ 9 กลุ่มสาขาวิชา ทั้งนี้ สำหรับ GAT และ PAT สอบได้ปีละ 3 ครั้ง ผลเก็บไว้ได้ 2 ปี นักเรียน ม.5 มีสิทธิสอบ โดยจะเริ่มจัดสอบในปี 2552 โดย สทศ.เป็นผู้ออกข้อสอบ
'หลัง ทปอ.แจ้ง ก.พ.อ.เพื่อทราบเกี่ยวกับองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักของ 9 กลุ่มสาขาแล้ว ในวันที่ 5 มิถุนายน ก็จะแจ้งข้อสรุปดังกล่าวต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เพื่อทราบเช่นกัน โดยองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักดังกล่าวถือเป็นที่ยุติแล้ว ซึ่ง ทปอ.จะประกาศ และเผยแพร่ให้นักเรียนทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ โดยนักเรียนที่อยุ่ชั้น ม.5 ในปีการศึกษา 2551 จะเป็นรุ่นแรกที่ใช้องค์ประกอบดังกล่าว' แหล่งข่าว กล่าว