ไอเดียคนดังเรื่อง.... เรียนต่อ
หลายแนวคิดเรื่องเรียนต่อ บางคนบอกว่า ต้องเลือกสถาบันดัง บางคนบอกต้องมีเพื่อนเยอะถึงดี ในขณะที่บางคนยังไม่ได้คิดซะที ใครชอบใจแนวคิดคนไหนก็เลือกไปใช้ได้ตามสะดวก
"ต่าย" ณัฐพล ลียะวณิช
"น่าจะเลือกเรียนในสิ่งที่เราชอบเป็นอันดับแรก เพราะต้องอยู่กับมันถึง 4 ปี หรือตลอดชีวิต หากเราไม่ชอบก็คงจะเรียนไม่เต็มที่และเสียเวลาเรียนเปล่า ๆ จบแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ส่วนเรื่องสถาบันก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ถ้าตั้งใจอยากเรียนในสถาบันที่มีชื่อ แล้วทำให้เรากระตือรือร้นก็ไม่เสียหายอะไร แต่สำหรับผม ผมว่าไม่สำคัญเพราะทุกสถาบันก็มีจุดเด่นต่างกันออกไป"
"มะหมี่" นภคปภา นาคประสิทธิ์
"ต้องมองกระจกดูตัวเอง แล้วถามตัวเองว่าเราชอบอะไร จะเลือกเส้นทางอาชีพแบบไหนเรามีความถนัดอะไรบ้าง อย่าเลือกเรียนเพราะตามเพื่อน และหากพลาดหวังจากการสอบก็ไม่ต้องถอดใจ ควรจะมองหาทางเลือกอื่น สำหรับตัวเอง อย่าเสียเวลาเพียงเพราะต้องการเข้าเรียนที่สถาบันใดสถาบันหนึ่งเท่านั้น ใครที่ยึดติดที่ชื่อสถาบันก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าไม่ยึดติดก็อยากให้มองหาวิชาที่ตัวเองชอบดีกว่า"
"เจ" เจตริน วรรธนะสิน
"ผมเองก็เอ็นท์ไม่ติดแล้วเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน เลยอยากให้มองที่ตัวเองดีกว่า ความจริงควรจะรู้ว่าตัวเองถนัด หรือชอบอะไร ตั้งแต่ ม. 4 หรือ ม. 5 แล้ว อาจเป็นวิชาชีพ กีฬา ดนตรี หรืออะไรก็ได้ แต่ต้องหาตัวเองให้เจอ เรื่องนี้จะให้คนอื่นหรือพ่อแม่บอกก็ไม่ได้ และสมัยนี้สถาบันก็มีให้เลือกเยอะแยะ ทุกที่ก็มีข้อดีที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเลือกสถาบันใดสถาบันหนึ่งเท่านั้น"
"น้ำผึ้ง" ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์
"Trend สมัยนี้เปลี่ยนเร็วมาก ไม่อยากให้เลือกเรียนเพราะเห็นว่ากำลังเป็นที่นิยม แต่ควรเลือกที่ความชอบของตัวเองมากกว่า คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็เป็นคนที่เลือกเรียน และทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ที่สำคัญ 4 ปีต่อไป เราควรจะอยู่กับสิ่งที่เราชอบ ถ้าเรียนเพราะถูกบังคับ เรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราก็เหมือนตกนรกเลยนะ"
"ท็อป" ดารณีนุช โพธิปิติ
"อยากให้ปรับเปลี่ยนมุมมอง ไม่อยากให้มุ่งมั่น ทุ่มเท จนลืมคิดถึงศักยภาพของตัวเอง เพราะถ้าไม่ได้ขึ้นมาเราก็จะท้อแท้ อยากให้คิดอะไรที่สบาย ๆ คิดถึงเป้าหมายที่เรามีอยู่แล้วเราจะมีความสุข เพราะความสำเร็จของทุกคนไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เงินหรือความร่ำรวย แต่ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุขทำในสิ่งที่เรารัก นี่ต่างหากความสำเร็จ"
"วุ้นเส้น" วิริฒิพา ภักดีประสงค์
"การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่สุดของชีวิต และการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ใช่สิ่งที่วัดความสำเร็จได้ สมัยนี้มีมหาวิทยาลัยให้เลือกเยอะ และมีคุณภาพทั้งนั้น และควรจะเลือกวิชาที่เราชอบ ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่ชอบ จะมีความสุขไหม วุ้นเส้นเองก็เอ็นท์ไม่ติด แต่ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองหมดอนาคตและคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งด้วย"
วิทวัส สุนทรวิเนตร์
"คงต้องมองที่ความถนัด แล้วต้องศึกษาด้วยว่าแต่ละสาขาวิชาที่เรียน จบแล้วจะต้องไปทำอะไร บางคนเรียนเคมีเพราะชอบเลข โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าอนาคตต้องอยู่ในห้องแล็บตลอด ชอบหรือไม่ก็ไม่รู้ หรือบางคนอยากเป็นผู้สื่อข่าวเรียนนิเทศศาสตร์ไปแต่ไม่ชอบออกแดด นอนกลางดิน กินกลางทรายไม่ได้ ซึ่งผู้สื่อข่าวต้องลุย ต้องออกแดดติดตามแหล่งข่าวไม่ว่าที่ไหน เพราะฉะนั้นควรศึกษาอาชีพในอนาคตตามสาขาที่เราเรียนด้วย"
"ก้อง" สหรัถ สังคปรีชา
"ทุกอาชีพมีความสำคัญเหมือนกันหมด อย่าไปเลือกเรียนตามคนอื่น ควรดูที่ความถนัดของตัวเองและมุ่งหน้าไปทางนั้นเลย สถาบันก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของเราด้วย อยู่ที่ตัวเองมากกว่า คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็ไม่ได้จบจากสถาบันที่มีชื่อเสียง และคนที่จบในสถาบันดัง ๆ แต่ไม่เข้าท่าก็มีเยอะ"
"ซินดี้" สิรินยา เบอร์บริดจ์
"จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องวางแผนการเรียนเหมือนใคร ถ้าจบ ม. 6 แล้วยังไม่รู้ว่าชอบอะไรอยากเรียนอะไร ก็หยุดก่อนก็ได้ ถ้าฝืนเรียนต่อไปอาจหลงทาง เราหยุดเพื่อหาประสบการณ์จนกว่าจะรู้ว่าชอบอะไรและเมื่อถึงวันที่เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีสายตาที่กว้างไกลขึ้น อาจจะรู้แน่ชัดว่าเราถนัดอะไรแล้วค่อยเรียนในสิ่งที่เรารักก็ไม่สายเกินไปหรอก"
"ไก่" วรายุฑ มิลินทจินดา
"อย่าเลือกเรียนเพราะตามเพื่อน ไม่ควรเรียนด้วยความรู้สึกฝืนตัวเอง เพราะเราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยไม่สนุกด้วย ไม่ว่าจะเลือกเรียนอะไรก็ควรจะรู้ว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนั้น คนที่สอบไม่ได้ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ยังมีอีกหลายสถาบันให้เลือก"