ประเพณีการรับน้อง

ประเพณีการรับน้อง

ประเพณีการรับน้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ชึ่ง ชึ่ง โป๊ง โป๊ง ชึ่ง...โป๊ง ชึ่ง...โป๊ง ชึ่ง” เสียงกลองอึกทึก คึกคัก เรียกว่าตั้งป้อมต้อนรับน้องใหม่ ชนิดติดบอร์ดประกาศผลกันเลยทีเดียว ประมาณว่าถ้ามีน้องๆ หน้าใสคนใดหลุดพ้นจากการต้อนรับที่ตั้งหน้าตั้งตาเตรียมกันมาเป็นเวลาแรมปี เห็นทีจะให้อภัยตัวเองไม่ได้ ว่างั้น ละอ่อนหน้าใสผู้ซึ่งเพิ่งจะพ้นรั้วมัธยมมาอุ่นๆ คงจะกังขาอยู่ในที พี่ๆ พวกนี้เป็นอะไร รับน้องเหรอ รับทำไม เพื่ออะไร ต้องการอะไรกันเนี่ย

รับน้องใหม่

ลองมาทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของประเพณีนี้กันก่อน ท่าจะดี อย่างน้อยก็เพื่อตั้งรับอย่างไม่เคอะเขินเกินงาม การรับน้องนั้น ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรอกค่ะ แตกต่างกันไปตามสถาบันและคณะ แล้วแต่ความเผ็ดร้อนของรุ่นพี่ที่จะสรรหาวิธีมารับขวัญน้องใหม่ให้ถึงใจ แต่โดยมาตรฐานแล้ว ก็จะไม่พ้น ตีกลอง ร้องเพลง รอดซุ้ม เล่นเกม ปะแป้ง ตัวเปียก เลอะเทอะ สถานที่นั้นเป็นได้ทั้งต่างจังหวัดและในมหาวิทยาลัยเอง แต่ที่ยอดฮิตติดชาร์ต ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ทะเล เพราะนอกจากจะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อความสดใสแล้ว ยังจะง่ายต่อการปฏิบัติการประเภทรอดซุ้ม อุ้มลงทะเล กันซะจริงๆ

ทั้งหมดนั้น จะนำไปสู่อีกคำถาม คือ เพื่ออะไรกันคะพี่ หรือว่าเห็นน้องๆ เลอะเทอะ อับอายแล้ว จะช่วยให้พี่ๆ ได้นอนหลับอมยิ้มไปได้อีกเป็นปี เห็นจะเป็นคำตอบที่เหมาะเหม็งทีเดียว เอ๊ะ ไม่ใช่สิ ก็ไม่เชิงว่าจะใช่อย่างนั้นซะทีเดียว แต่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลเสริมๆ กันมา เพราะแท้จริงแล้ว การรับน้องนั้นมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อเป็นการทำความรู้จักระหว่างน้องใหม่ กับน้องใหม่ หรือระหว่างน้องใหม่กับรุ่นพี่นั่นเอง ก็แหม ตั้งหน้ารอกันมาเป็นปีๆ ก็อยากเห็น อยากรู้จักกันบ้างว่า คนที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกันนั้น หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูแค่ไหน ชื่อเสียงเรียงนามอะไร ไอจะให้แนะนำทักทายกันธรรมดา อาจจะไม่ทันได้จดได้จำ ก็ต้องมีวิธีเล่นสนุกร่วมกันหน่อย ไหนจะได้รู้จักกัน ยังได้เฮฮา ได้สามัคคี น้องๆ บางคนค้นพบเพื่อนแท้ที่คบกันยืดยาวไปจนจบทำงานมีครอบครัว จากกิจกรรมรับน้องนี่ก็หาได้ถมไป ส่วนเหตุผลรองๆ ลงมานั้น ก็จะประมาณว่า โดนมายังไง ก็อยากให้น้องๆ ได้ลิ้มลองความมันส์อย่างนั้นกันบ้าง อาจจะออกแนวทีเอ็งข้าไม่ว่า แต่ทีข้า รุ่นน้องมารับไป ประมาณนั้น พอวันนึงเราได้เป็นรุ่นพี่กับเขาบ้าง ก็คงไม่พ้นอาการหมันเคี้ยว อยากจะหยิก แกม หยอก หลอกๆ ล้อๆ เล่นกันบ้าง พอให้สมวัยน่ารักสดใสของน้องๆ ครั้นจะให้พี่ๆ ปะแป้ง ร้องเล่น เต้นแล้งเต้นกา ยังไง๊ยังไงก็คงไม่น่ารักน่าหยิก อย่างน้องๆ หน้าใสสักนิดหรอกจ้ะ อันนี้ต้องเข้าใจกันหน่อย แต่ทุกอย่างนั้นก็ยังต้องเป็นไปภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม ช่วงหลังๆ มักมีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการรับน้องที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ที่รุนแรงถึงชีวิตก็มีให้เห็นกัน แต่ทั้งฝ่ายที่สูญเสียเองและผู้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียนั้น คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น

น้องๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นน้องใหม่นั้น ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองในระดับหนึ่งด้วย สิ่งไหนที่รุ่นพี่สั่งให้ทำแล้วเราเห็นว่าเกินกำลังของตัวเรา ประเภท ลงทะเล ดำน้ำ หรือว่าอะไรก็ตามที่เห็นจะเสี่ยงกับตัวเรา ก็ออกปากไปเลย ว่าไม่ค่ะ/ครับพี่ ด้วยเหตุผลนู้นนี้ก็ว่าไป อย่างมากเจ้าพี่ๆ ก็คงแค่อิดออดแต่ถ้าเรายืนยันเพื่อความปลอดภัยของตัวเรา ก็ไม่มีใครเข้ามาก้าวก่ายได้หรอกจ้ะ

จริงไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ฆ่าได้หยามไม่ได้ เพื่อนยังทำได้ ทำไมเราไม่ทำ ละก็ จงท่องจำไว้ว่า “มันไม่คุ้มกัน” อย่าเสี่ยงเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง อย่าลืมคิดถึงคนที่บ้านด้วยนะจ๊ะ

การรับน้องก็เป็นเพียงกิจกรรมเริ่มต้น กิจกรรมแรกของการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย พออยู่ๆ ไป ก็จะรู้เองว่าทุกกิจกรรมนั้นจะอาศัยความสมัครใจมากกว่าการบังคับ เรียกว่าเอาใจมาเจอกัน จึงไม่ถือเป็นกฎตายตัวที่ทุกคนต้องเข้าร่วม การรับน้องจึงเป็นเหมือนประสบการณ์หนึ่งซึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตมหาลัย ที่วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเราผ่านจุดหนึ่งของชีวิตไป อาจจะเป็นความทรงจำดีๆ ที่ทำให้เราหวนกลับมาอมยิ้มได้ไม่ว่านานแค่ไหน อย่าลืมว่า เรื่องของความทรงจำนั้น หาซื้อกันไม่ได้

ต่อให้ใครมาเล่ารอบแล้วรอบเล่า ถ่ายทอดให้เราฟัง ยังไงก็เทียบไม่ได้กับการที่เราได้ผ่านหรือประสบกับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่ดีก็เก็บไว้ อันไหนไม่ดีก็เปิดรับพร้อมแก้ไข ยังไงก็ไม่เสียหายหรอกจ้ะ ถ้าตราบใดที่เรารู้จักแยกแยะ เรื่องดีๆ มีให้เราเลือกเก็บเกี่ยวไว้มากมาย อยู่ที่ใครจะกอบโกยและค้นหาสิ่งที่ดีสำหรับตัวเองได้มากกว่ากัน เท่านั้นแหละจ้า

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ ประเพณีการรับน้อง

ประเพณีการรับน้อง
ประเพณีการรับน้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook