ฝ้าย Am fine พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
สาวคนนี้เธอเป็นเจ้าของฉายานักร้องเสียงทรงพลัง ที่มีสไตล์การร้องเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เรารู้จักกันดีในฐานะ ฝ้าย วง Am fine หรือ ณัฐหทัย แสงเพชร ล่าสุดกับอัลบั้ม เด๊าต์ แปลตรงตัวคือ สงสัย ฝ้ายบอกว่า เพราะแนวเพลงเนื้อหาจากที่เพื่อน ๆ แฟนเพลงได้ฟังกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งคำถาม และไม่พลาดกับซิงเกิลใหม่ ฉันดีไม่พอ หรือเธอไม่พอสักที ก็ถามอีกเหมือนกัน ไม่เชื่อลองไปหาฟังกันนะจ๊ะ
เห็นเธอในมาดของร็อกเกอร์สาว บุคลิกแข็งแรงและหนักแน่นแต่ตัวตนที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร วันนี้พี่ oakky ขอพาน้องฝ้ายมานั่งคุยกันแบบละเอียดยิบในทุกเรื่อง ทั้งการทำงานและเรื่องเรียนค่ะ กว่าจะได้เป็นนักร้อง ฝ้ายเข้ามาเซ็นสัญญากับทางอาร์เอสจากการประกวดร้องเพลงค่ะ คือฝ้ายชอบร้องเพลงมาตั้งแต่สมัยตอนเรียนประถม ได้ประกวดร้องเพลงที่โรงเรียน และมีโอกาสได้เรียนร้องเพลงกับครูกานต์ ซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลงคนเดียวที่ฝ้ายเรียนมาจนถึงทุกวันนี้ พอครูกานต์ได้ยินเสียงฝ้ายเขาก็ชอบและสนับสนุนให้ฝ้ายเข้าประกวดร้องเพลงมาตั้งแต่วันนั้น ตอนแรก ๆ เกือบจะไม่ได้เรียนร้องเพลงแล้วเหมือนกัน เพราะคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าฝ้ายจะเสียการเรียน ตอนนั้นอายุ 11-12 ปี เรียนอยู่ประมาณ ป.6 แต่เรียนไปนาน ๆ เข้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เห็นว่าฝ้ายชอบทางด้านนี้มากจึงอนุญาตให้มาเรียน ประกอบกับคุณพ่อเป็นนักดนตรีมาก่อนด้วย ก่อนหน้านี้คุณพ่อมีโอกาสได้ทำงานดนตรีแต่ว่าท่านตัดโอกาสตรงนั้นไป พอมาถึงลูก คุณพ่อกลัวว่าฝ้ายจะเสียโอกาสตรงนี้เหมือนพ่อ พ่อเลยตัดสินใจให้ฝ้ายทำค่ะ ที่มาของร็อกเกอร์สาว ในนามของวง Am fine พอฝ้ายมาเรียนร้องเพลงได้สักระยะ ก็เริ่มขึ้นเวทีประกวดบ้างเล็กน้อย แรก ๆ ที่ประกวดฝ้ายรู้สึกว่าตัวเองยังร้องไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยังใช้เสียงตะโกน แต่พอเรได้เรียน ได้ปรับไปเรื่อย ๆ เริ่มประกวดใหม่อีกรอบ คราวนี้ได้รางวัลชนะเลิศบ้าง รองชนะเลิศบ้าง แล้วแต่ค่ะ แต่ว่าเวทีที่ทำให้ฝ้ายได้มาเป็นฝ้ายอย่างทุกวันนี้คือ พานาโซนิค สตาร์ ชาเลนจ์ ปี 2002 เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเซ็นสัญญาแล้วยังไม่ได้ทำเพลงช่วงนั้นยังเด็ก และดัดฟันด้วย และเป็นจังหวะเดียวกับที่พี่ต้น โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Am fine เขามาได้ยินเสียงฝ้าย และบอกว่าสนใจเสียงแบบนี้ ช่วงนั้นมีนักร้องเดี่ยวออกมาเยอะมาก ประกอบกับเวลาที่ฝ้ายร้องเพลงจะใช้เพลงของพี่ปาน-ธนพร เป็นส่วนใหญ่ ชอบร้องเพลงห้าว ๆ หนัก ๆ ฝ้ายว่ามันได้โชว์พลังเสียงดี (หัวเราะ) พี่เขาได้ฟังฝ้ายร้องเพลง เลยคิดว่าถ้าฝ้ายออกอัลบั้มเป็นวงน่าจะดี ลุคจะได้ดูเท่และดูแข็งแรงขึ้น
(คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
กำเนิดวงร็อกหน้าใหม่ในวงการดนตรี ช่วงนั้นกำลังทำอะไรอยู่เรื่อย ๆ มีเรียนด้วย ยังไม่ได้ทำงานที่เป็นโปรเจกต์อะไร พอพี่ต้นเขาชวนไปซ้อมร้องเพลงที่ห้องอัดของแจ๊คมือกลองวง Am fine ตอนนั้นยังไม่รู้จักกันเลยค่ะ ได้ไปเจอมือกีตาร์ กับมือเบส ซึ่งเขา 3 คนรู้จักกันหมดแล้ว ด้วยความที่ฝ้ายเรียนโรงเรียนหญิงล้วนเลยไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ ทำให้แรก ๆ ไม่กล้าพูดคุย จากนั้นเราได้เจอกันบ่อยมากขึ้น ทำให้สนิทกัน และ 1 ปีหลังจากนั้น พวกเราเลยได้มารวมตัวกันเป็นวง Am fine นี่แหละค่ะ จากวันนั้นถึงวันนี้รวมแล้ว 4 อัลบั้ม เรียกว่าทุกชุดมีเพลงที่ฮิตติดหู อาทิ มารักทำไมตอนนี้ หรือ รักฉันประชดใคร ฝ้ายถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วค่ะ กับการที่ได้เข้ามาทำงานเป็นนักร้องอยู่ตรงนี้ เพราะตั้งแต่เด็กเราชอบทางด้านนี้แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ทำงานจริง ๆ เหมือนกับว่าฝ้ายเป็นเด็กที่ประกวดร้องเพลงมาตลอด พอมีวันนี้มาถึง แน่นอนความดีใจมันเป็นเท่าตัว เพราะเราได้เข้ามาเป็นนักร้องด้วยความสามารถของตัวเองจริง ๆ ฝ้ายในบทบาทของนักร้อง กับคำว่าได้อย่างเสียอย่าง พอฝ้ายได้มาทำงานจริง ๆ ทุกอย่างมันยากนะคะ เหนื่อยด้วย ซึ่งเราอาจจะเสียช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่นไปบ้าง แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์ที่มากกว่าคนอื่น ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่ในห้องเรียนไม่มี ได้เจอโลกใหม่ ๆ ที่น้อยคนไม่มีโอกาสได้เข้ามายืนอยู่ตรงนี้ สมัยก่อนอย่างฝ้ายเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ไปดูคอนเสิร์ตกับเพื่อน ๆ เราก็จะกรี๊ดกร๊าดกันตามประสา แต่พอเรามาเป็นคนที่ยืนอยู่บนนั้น มีน้อง ๆ เพื่อน ๆ มาให้กำลังใจ มันเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งเลยค่ะ ดีใจ ประทับใจ ไม่รู้จะบรรยายยังไงเลย ได้เป็นนักร้องอย่างที่ใจฝันไว้ แล้วเรื่องเรียนของฝ้าย สาวน้อยคนนี้เธอบริหารเวลาเรียนอย่างไร และการทำงานมีผลกระทบอะไรต่อชีวิตนักเรียนอีกบ้าง นอกจากเธอต้องเรียนช้าไป 1 ปี แต่เป็นเพราะอะไร แล้วสาเหตุเกิดจากไหน ฝ้ายชี้แจงรายละเอียดว่า ฝ้ายเรียนช้าไป 1 ปีค่ะ เพราะปีที่แล้วงานเยอะมาก ต้องทัวร์ต่างจังหวัดตลอด ช่วงม.6 ย้อนกลับไป ฝ้ายต้องทำงานส่งอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ท่านใจดีมาก ท่านช่วยเหลือตลอด ตอนแรกฝ้ายคิดจะลาออกแล้วไปเรียนกศน.แทน แต่อาจารย์ท่านห้ามไว้ค่ะ ท่านกลัวว่าฝ้ายจะเรียนช้าไปอีก เหตุผลหนึ่งเพราะฝ้ายได้รับความช่วยเหลือจากท่านอาจารย์ เพราะฝ้ายไม่เคยทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง ฝ้ายแต่งกายถูกต้องตามกฎระเบียบทุกอย่าง ช่วงม.6 ถือเป็นช่วงที่วิฤกตที่สุดแล้ว ซึ่งเพื่อนคนอื่นเขาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หาที่เรียนพิเศษ แต่ฝ้ายเสียโอกาสช่วงนั้นไป แต่ไม่ถึงกับเสียใจมากนะคะ เพราะฝ้ายได้เข้ามาทำในตรงนี้ เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง เหตุการณ์ช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่เข้าใจค่ะว่าการทำงานตรงนี้มันต้องเป็นแบบนี้ อย่างหนึ่งอาจจะดี แต่อีกอย่างอาจจะดร็อปลงมาหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เรียนหนังสือเลยนะคะ เพราะอนาคตฝ้ายไม่รู้ว่าเราจะได้อยู่ตรงนี้ ทำงานตรงนี้ไปอีกนานแค่ไหน ทั้งที่ใจเราอยากทำ แต่ข้างหน้าไม่รู้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ฉะนั้น การเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงฝ้ายจะเรียนช้าไปกว่าเพื่อน 1 ปี แต่ดีกว่าไม่ได้เรียนเลยค่ะ แม้จะไม่ได้มีช่วงเวลาที่สำคัญของเด็กม.6 กับการสอบเอ็นทรานซ์เหมือนเพื่อน ๆ แต่ฝ้ายยังได้เรียนในสถาบันที่ดี ได้เรียนในคณะที่ตัวเองอยากจะเรียน ฝ้ายเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ ม.รังสิตค่ะ แต่กว่าจะลงตัวที่คณะนี้ ฝ้ายเปลี่ยนมาเยอะมากค่ะ ด้วยความที่ฝ้ายรู้ตัวเองว่าเรียนไหวมากน้อยแค่ไหน ฝ้ายชอบเรื่องของการออกแบบ ฝ้ายเล็งไว้เลยว่าจะต้องเรียนแฟชั่นดีไซน์ แต่เมื่อฝ้ายเข้าไปคุยกับอาจารย์แล้วฝ้ายร้องไห้เลยค่ะ (ยิ้ม) หนึ่ง ถ้าฝ้ายเข้าไปเรียนด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานอะไรมากมายเหมือนคนอื่น สอง การเรียนในคณะแฟชั่นดีไซน์ค่อนข้างกดดันมากเพราะทุกคนมีหัวมีพรสวรรค์ในเรื่องของการออกแบบ ความคิดเป็นส่วนตัวเยอะมาก มีดาราหลายคนที่เรียนคณะนี้ เขาต้องมีความพยายามสูง ซึ่งดาราเขาสามารถเลือกเวลาได้ แต่การเป็นนักร้อง ฝ้ายไม่สามารถทำได้แบบนั้น ต้องไปซาวนด์เช็ก ต้องไปทัวร์คอนเสิร์ต แล้วงานต้องส่งอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ถ้าทำไม่ดีเขาฉีกรายงานทิ้งเลยนะ อาจารย์ถามว่ารับได้หรือเปล่าตรงนี้ คืออาจารย์ไม่อยากให้เราเสียเวาะหลาย ๆ คนที่มาเรียนแล้วไม่ไหวต้องออกไปเยอะมาก(คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
ลงตัวกับการเป็นเฟรชชี่ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุและโทรทัศน์ หลังจากไปคุยกับแฟชั่นดีไซน์ ฝ้ายกลับมานั่งคิดอีกว่าในเมื่อเราเป็นนักร้อง ถ้าอย่างนั้นเราเรียนทางด้านดนตรีดีกว่า จึงไปคุยกับอาจารย์ที่วิทยาลัยดนตรีของม.รังสิต เขาถามว่าเรามีพื้นฐานแค่ไหน ฝ้ายไปออดิชั่นให้ดูด้วยการร้องเพลง เขาบอกว่าฝ้ายเป็นคนมีพรสวรรค์แต่ฝ้ายเล่นดนตรีไม่เป็น อ่านโน้ตไม่เป็น จะเสียเปรียบเพื่อน ๆ ที่เขาอ่านโน้ตเป็นและเล่นดนตรีได้ ถ้าร้องเป็นอย่างเดียวแต่อ่านโน้ตไม่ได้ และเวลาเรียนอาจจะไม่ได้มาเรียนทุกครั้ง อีกอย่างเรียนดนตรีไม่มีการบ้าน เป็นวิชาที่ปฏิบัติซึ่งยากค่ะ จนสุดท้ายฝ้ายเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุโทรทัศน์ ฝ้ายได้ปรึกษาเพื่อน ๆ แล้ว สาขานี้ตรงมากที่สุด แล้วม.รังสิตค่อนข้างมีศิลปินเยอะ เขาจะเข้าใจตรงนี้ มีการแนะนำให้ฝ้ายควรลงวิชาไหนบ้าง ซึ่งเทอมนี้ลง 4 วิชา เรียนทุกวันจันทร์ อังคาร วันอื่นทำงาน แต่ถ้ามีงานจริง ๆ ฝ้ายถึงค่อยไปตามงานทีหลัง รุ่นพี่ช่วยเต็มที่มาก ๆ ค่ะ พิธีกรคืองานที่อยากทำ รองจากการเป็นนักร้อง โดยส่วนตัวของฝ้าย นอกจากเรื่องร้องเพลงแล้ว อีกอย่างที่ฝ้ายอยากทำคือการเป็นพิธีกร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ทำนะคะ (หัวเราะ) เพราะได้เรียนในเรื่องของวิทยุโทรทัศน์ ฝ้ายอาจจะได้ลองทำหน้าที่เป็นพิธีกร ได้ทดลองทดสอบตัวเองว่าเราสามารถทำงานตรงนี้ได้แค่ไหน ส่วนด้านเพลงอยากทำไปอีกนาน ๆ ทำให้ดีที่สุด และจะตั้งใจทำทุกคอนเสิร์ตให้ดีค่ะ สุดท้ายสาวฝ้ายนักร้องเสียงคุณภาพฝากเรื่องเรียนถึงเพื่อน ๆ ที่กำลังจะเข้าในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างแรกที่เราจะได้คือการเรียนรู้ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากโรงเรียนค่อนข้างมาก การที่เราอยู่โรงเรียนเราจะมีครูประจำชั้น ยังสามารถพูดคุยกันได้แบบส่วนตัว แต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัย เราต้องดูแลตัวเอง การหาเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตั้งใจเรียนด้วย รุ่นพี่ก็สำคัญด้วย เขาสามารถให้คำปรึกษาเรื่องเรียน สำหรับฝ้ายคิดว่าช่วงรับน้องเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้นิสัยกันและกัน มีความสามัคคี ทำให้ด้วยกันเพื่อสิ่งดี ๆ ที่จะตามมาค่ะ ที่มา " เรียนรอบโลก " ผู้เขียน : oakky วิไลรัตน์ ต่ายประยูร ช่างภาพ : นายหรั่ง