ตัดแต่งพันธุกรรมให้ยุงบินไม่ได้
วอชิงตัน 23 ก.พ. - นักวิทยาศาสตร์อเมริกันและอังกฤษตัดแต่งพันธุกรรมยุงให้ออกลูกเป็นตัวเมียที่บินไม่ได้ คาดว่าหากปล่อยไปผสมพันธุ์กับยุงตามธรรมชาติจะช่วยลดจำนวนยุงที่เป็นพาหะนำโรคได้ภายใน 6-9 เดือน
นายแอนโธนี่ เจมส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์วินในสหรัฐ ร่วมกับบริษัท อ๊อกซิเทก ของอังกฤษ ตัดแต่งพันธุกรรมยุงให้ขัดขวางการพัฒนากล้ามเนื้อปีกหากเป็นยุงตัวเมียซึ่งเป็นพาหะนำโรค แต่ไม่มีผลหากเป็นยุงตัวผู้ พวกเขาจะกระจายไข่ยุงหลายหมื่นใบที่จะฟักเป็นตัวผู้ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียตามธรรมชาติ ยุงตัวเมียเกิดใหม่ก็จะกลายเป็นยุงที่บินไม่ได้ ส่วนยุงตัวผู้เกิดใหม่ที่ยังบินได้ก็จะไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียตามธรรมชาติต่อไป ในไม่ช้าจำนวนยุงที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรมจะมีมากกว่ายุงตามธรรมชาติ ช่วยลดจำนวนยุงที่เป็นพาหะนำโรคได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง เป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน ไม่เลือกฐานะหรือการศึกษา การทดลองนี้เน้นยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้เดงกี่ เป็นโรคที่มีคนป่วยปีละ 50 ล้านราย และเสี่ยงทำให้ 2 ใน 3 ของคนทั่วโลกป่วย ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา นักวิจัยเชื่อว่าเทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับยุงที่เป็นพาหะนำโรคอื่น ๆ เช่น มาลาเรีย ไข้เวสต์ไนล์. -สำนักข่าวไทย