ประวัติ "ดินสอ"
เคยสงสัยกันบ้างไหม ดินสอ ที่เราหยิบจับใช้กันอยู่ทุกวัน จริงๆมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นผู้คิดค้น ฯลฯ ถ้าใครยังสงสัยวันนี้ S!Campus ขออาสาพาไปไขข้อข้องใจ
ในสมัยอดีต การเขียนเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม ตำรา หรือการวาดรูป มนุษย์ในสมัยก่อนใช้อุปกรณ์ที่เป็นแปรงหรือกิ่งไม้เล็กๆ และเหล็กที่มีปลายแหลม นำไปเผาไฟจุ่มลงในน้ำหมึกเพื่อใช้ในการขีดเขียน ( ภาษาโรมันเรียกแปรงหรือเหล็กแหลมนี้ว่า " Pencillus " หรือ " Little tail " ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า " Pencil " มีความหมายว่า " หางน้อย " ) ส่วน " ปากไก่ หรือ ปากกาขนห่าน " เริ่มมีการประดิษฐ์ขึ้นใช้ในทวีปยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 6
ดินสอ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้แท่งเล็กๆ ยาวประมาณ 7 นิ้ว บรรจุภายในด้วยแกรไฟต์ นับว่าเป็นเครื่องมือของการขีดเขียนที่มีราคาถูกที่สุด ในการทำงานด้านการเขียนต่างๆ ที่ยังไม่แน่ใจในความถูกต้อง และอาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผลงานต่างๆ อาทิเช่น งานวาดรูป งานออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ ไปจนถึงสูตรทำระเบิดนิวเคลียร์ ต่างก็เกิดขึ้นจากดินสอทั้งนั้น
กำเนิดและประวัติของดินสอ เมื่อประมาณ 400 กว่าปีก่อน บาทหลวงชาวสวิสเซอร์แลนด์ได้เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องเขียนที่ทำจากขนนกขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงและไส้ดินสอมีความเปราะเกินกว่าจะใช้ในงานเขียนปกติได้ ทำให้งานเขียนช้ามาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1564 ได้มีการค้นพบวัสดุที่ใช้ทำไส้ดินสอได้ดีโดยบังเอิญ เนื่องจากเกิดพายุใหญ่ในทุ่งเลี้ยงแกะ ใกล้กับหมู่บ้านบอร์โรว์เดล ตำบลคัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ต้นไม้ใหญ่ถูกพายุพัดถอนรากถอนโคนเป็นจำนวนมาก หลังจากพายุสงบชาวบ้านได้พบหินสีดำอยู่ใต้ดิน ณ บริเวณรากของต้นไม้ที่โค่นล้ม เมื่อทดลองนำมาขีดเขียน ปรากฏว่ามีความคมชัดดีมาก คนเลี้ยงแกะจึงนำมาเขียนสัญลักษณ์ลงบนตัวแกะของตนเอง หินสีดำที่ค้นพบในครั้งนั้นคือ แกรไฟต์ ( Graphite เป็นคาร์บอนชนิดหนึ่ง )
หลังจากนั้นไม่นานมีผู้นำหินนี้มาทำเป็นแท่งและนำไปขายโดยโฆษณาว่าเป็น " หินสี " สามารถนำไปเขียนบนสิ่งใดก็ติดทั้งนั้น พ่อค้านิยมซื้อไปเขียนตราสัญลักษณ์และทำเครื่องหมายบนสินค้า หรือหีบห่อที่บรรจุสินค้าของตน เพื่อเป็นการบอกชนิด จำนวน และราคาของสินค้านั้นๆ ต่อมาพระเจ้าจอร์ช ที่ 2 ได้ยึดเหมืองแร่แกรไฟต์แห่งบอร์โรว์เดลให้เป็นของรัฐ โดยเข้าไปดำเนินการแบบผูกขาด (แกรไฟต์ เป็นวัตถุสำหรับทำกระสุนปืนใหญ่) ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง เกรงจะถูกแย่งชิง โดยเปิดดำเนินการปีละ 2 - 3 เดือน เท่านั้น เพื่อเป็นการสงวนทรัพยากรธรรมชาติและลดต้นทุนในการผลิต ขณะหยุดดำเนินการจะห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้ามาภายในเหมืองแร่อย่างเด็ดขาด ครั้งแรกที่ผลิตแท่งแกรไฟต์ออกจำหน่ายได้พบว่ามีข้อบกพร่องอยู่ 2 ประการ คือ เวลาเขียนจะมีสีดำสกปรกติดมือ และเปราะแตกหักง่าย จึงทำการแก้ไขด้วยการนำเชือกเส้นเล็กๆพันไว้รอบจนแน่นตลอดแท่ง แล้วคลายออกทีละน้อยเวลาใช้ขีดเขียนเพื่อไม่ให้สีดำติดมือ ส่วนการเปราะและแตกหักง่ายได้รับการแก้ไขให้ใช้งานได้ดีขึ้น ในปี ค.ศ. 1761 คาสปาร์ เปเปอร์ (ช่างงานฝีมือชาวบาวาเรีย) ซึ่งอดีตเป็นนักเคมี ได้นำแท่งแกรไฟต์ไปบดให้ละเอียดแล้วผสมด้วย กำมะถัน พลวง และยางสน จากนั้นจึงนำไปใส่ในพิมพ์ทำเป็นแท่ง
เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ปี ค.ศ. 1795 พระเจ้านโปเลียนที่ 1 มีรับสั่งให้ นิโคลาส แจ๊ค ดังเต้ ซึ่งเป็นหัวหน้านักเคมีและนักประดิษฐ์ชั้นแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส นำแกรไฟต์ที่สามารถหาได้ทั้งหมดในฝรั่งเศสมาทำเป็นดินสอ แต่เมื่อนานเข้าทำให้เกิดการขาดแคลนแกรไฟต์ นิโคลาสจึงได้นำเอาแกรไฟต์มาบดเป็นผงแล้วผสมเข้ากับดินเหนียวชนิดหนึ่ง (Clay) ในสัดส่วนที่แตกต่างกันเพื่อหาส่วนผสมที่ดีที่สุด แล้วจึงนำไปเข้าเตาเผา จนกลายเป็นต้นตำรับของการทำดินสอ คือ เนื้อเหนียวขึ้น ไม่หักเปราะง่าย และด้วยการเพิ่มดินเหนียวเข้าไปตามอัตราส่วนนี้เองทำให้สามารถผลิตไส้ดินสอออกมาได้หลายขนาด คือ แข็ง ( Hard ) หรือ H ลงมาจนอ่อนสามารถเขียนได้ติดดำสนิท ( Black ) หรือ B ซึ่งในปัจจุบันมีตั้งแต่ 5 H และ 6 B เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ต่อมาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลียม มอนโร ซึ่งเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ ได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับผลิตดินสอขนาดมาตรฐานได้สำเร็จ สามารถตัดไม้ออกเป็นแผ่นบางๆ ยาวประมาณ 6-7 นิ้ว เซาะเป็นร่องเล็กๆตลอดความยาวของแผ่นไม้ เพื่อบรรจุแท่งแกรไฟต์ และใช้ไม้อีกแผ่นหนึ่งเซาะร่องไว้อย่างชิ้นแรก นำมาทากาวแล้วประกบลงไป ซึ่งเป็นดินสอที่มีไม้หุ้มและเป็นดินสอที่ทันสมัยแท่งแรกของโลก เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการขีด - เขียน ที่มีราคาถูกและ สะดวก รูปร่างกระทัดรัดและสวยงาม เป็นที่ยอมรับในทุกวงการ ทำให้ปากกาขนห่านจุ่มน้ำหมึกในสมัยนั้นเสื่อมความนิยมไป
วัสดุที่ใช้ทำดินสอ ในปัจจุบันดินสอทำด้วยวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไปกว่า 40 ชนิด แต่ดินสอที่ดีที่สุด คือดินสอที่ใช้อุปกรณ์ในการทำดังนี้
Graphite จากประเทศศรีลังกา มาดากัสการ์ และเม็กซิโก
Clay จากประเทศเยอรมัน
ยาง (ใช้ทำยางลบ) จากประเทศมาเลเซีย
แร่พลวง (ใช้เป็นตัวเชื่อมของ Graphite กับ Clay) จากประเทศเบลเยี่ยม และตามบริเวณชายฝั่งของประเทศเดนมาร์กเท่านั้น ไม้ที่นำมาห่อหุ้มแท่งดินสอส่วนใหญ่จะทำจาก "ไม้ซีดา" ที่มีอายุ 200 ปีขึ้นไป เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม โดยนำมาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย จะพบบนเขาสูงๆเท่านั้น ( ไม้ซีดาเป็นไม้ที่มีเนื้ออ่อนและเหลาง่าย )
กระบวนการในการทำดินสอ นำไม้ที่ตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเล็กๆ ( ขนาด 3 X 3 นิ้ว ) ไปตากแดดหรืออบจนแห้งสนิทจากนั้นจึงนำมาตัดให้เป็นแผ่นบางๆ หนา 5 ม.ม. ( ครึ่งหนึ่งของความกว้างของดินสอ) แล้วจึงนำไปเข้าเครื่องเซาะร่องสำหรับบรรจุไส้ดินสอ หลังจากนั้นใช้ไม้อีกชิ้นหนึ่งมาประกบด้วยการติดกาว เข้าเครื่องตัดเป็นแท่ง พ่นสี ติดตรา และติดยางลบ ก่อนที่จะนำออกจำหน่ายต่อไป ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสามารถผลิตดินสอให้แตกต่างในการใช้งานได้กว่า 300 ชนิด รวมทั้งดินสอที่สำหรับใช้ในทางศัลยกรรมของแพทย์ เนื่องจากดินสอชนิดนี้สามารถนำมาขีดเขียนบนผิวหนังของคนไข้ได้
รูปร่างและขนาดของดินสอ ดินสอมาตรฐานมีความยาว 7 นิ้ว แท่งหนึ่งๆสามารถลากเส้นได้ยาวถึง 35 ไมล์ เขียนได้อย่างน้อย 45,000 คำ เหลาดินสอ 17 ครั้ง จะเหลือเศษความยาวเพียง 2 นิ้ว บางชนิดจะติดยางลบ ไว้ด้วยเพื่อให้สะดวกในการใช้งาน สีที่นิยมใช้มากที่สุด คือ สีเหลือง บริษัทผู้ผลิตได้พยายามทำออกจำหน่ายหลายสีด้วยกัน เช่น สีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับสีเหลือง
ชนิดของดินสอ ปัจจุบันดินสอแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ดินสอดำ ( Lead Pencil ) คือดินสอที่นิยมใช้กันทั่วๆไป ไส้ดินสอทำจากถ่านแกรไฟต์ผสมกับดินเหนียว ( Clay ) ใช้ตัวอักษร B ( Black ) และ H ( Hard ) กำหนดความแข็งและความเข้มของไส้ดินสอ ขนาด 6 B จะมี Clay ผสมน้อย ส่วนขนาด 6 H จะมี Clay ผสมมากที่สุด ดินสอที่มีความเข้มน้อยจะใช้ในการร่างภาพ ส่วนดินสอที่มีความเข้มมากจะใช้ในการแรเงา ดินสอคาร์บอน ( Carbon Pencil ) หรือดินสอถ่าน ทำจากส่วนผสมของถ่านไม้ (Charcoal) ไส้ดินสอดำคล้ายถ่านไม้ มีชนิดแข็งและอ่อน ลำดับจาก HH (แข็งมาก),HB(ปานกลาง ), B(ไส้อ่อนแต่ดำ),BB (ดำมาก),BBB (ดำที่สุด) บางบริษัทใช้ตัวอักษร E แทนตัวอักษร B
ข้อมูลประกอบจาก :หอสมุดกลาง ม.รามคำแหง