อย่าปล่อยให้โรคนอนไม่หลับคุกคาม
DO
งดกาแฟ บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด อย่างที่รู้กันดีว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนกระตุ้นสมอง ทำให้สมองตื่นตัวเกินระดับปกติ หลายคนคงจะชินกับอาการตาค้าง ที่แม้ว่าจะง่วงแสนง่วง แต่ก็ข่มตาหลับไม่ได้สักที เพราะฉะนั้นจงหยุดซะ เพราะนอกจากจะทำให้นอนไม่หลับแล้ว ยังทำให้แก่เร็วอีกต่างหาก หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ท้าทายหรือใช้ความคิดก่อนเข้านอน เพราะการใช้ความคิดมากๆ จะทำให้สมองตื่นตัว ยิ่งคิดมากเท่าไร สมองยิ่งทำงานหนักมากเท่านั้น เผลอๆ คิดไม่ตกดันเอาขึ้นเตียงนอนไปซะด้วยเลย คราวนี้ก็นอนตาแป๋วคิดไปทั้งคืนนั่นแหละ วิธีที่ดีที่สุดคือการทำสมาธิก่อนเข้านอน ทำสมองให้ว่างเปล่าที่สุด ทิ้งทุกอย่างลงไว้ข้างเตียง แล้วค่อยว่ากันใหม่ กินอาหารให้ตรงเวลา งดกินจุบจิบ ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนมักจะบอกว่า "พอหนังท้องตึง หนังตาก็เริ่มหย่อน" แต่นั่นใช้ไม่ได้กับเวลากลางคืนนะ เพราะยิ่งดึก ยิ่งกิน ตายิ่งสว่าง ทางที่ดีควรกินอาหารให้ตรงเวลา ถ้าก่อนอนรู้สึกหิวขึ้นมา ให้รองท้องด้วยนมอุ่นๆ หรือน้ำเย็นๆ สักแก้ว จะทำให้สดชื่นและนอนหลับสบาย ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน รวมทั้งจิตใจด้วยการทำโยคะอย่างง่าย ถือเป็นทางเลือกที่ดี การหายใจถูกต้องตามหลักอาสนะ จะช่วยทำให้เกิดความสมดุลทั้งภายในและภายนอก ส่งผลให้เกิดสมาธิและจิตที่สงบนิ่ง นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้วยังช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย สร้างบรรยากาศภายในห้องนอน บรรยากาศที่เหมาะกับการพักผ่อนมากที่สุดคือ ห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และที่สำคัญต้องสงบ ไม่มีเสียงรบกวน และไม่สว่างจ้าจนแสบตา
DONT
อย่าดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือบนเตียงนอน การอ่านหนังสือก่อนนอนทำให้ง่วงก็จริง แต่การอ่านบนที่นอนหรือบริเวณที่เราใช้นอนเป็นประจำจะทำให้เราเกิดความเคยชิน ยิ่งถ้าเราใช้เวลาบนเตียงปุ๊บ ก็จะนอนไม่หลับทันที ทางที่ดีควรนั่งอ่านบนเก้าอี้หรือโซฟาให้พอรู้สึกง่วงแล้วค่อยมานอนหลับบนเตียงจะดีกว่า ข้อเท็จจริง โรคนอนไม่หลับ (Insomniac) สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย รายงานจากการศึกษาค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้ได้กล่าวว่าเด็กจำนวน ๑ ใน ๕ คนมีอาการของโรคนอนไม่หลับ ๔๕% ของคนวัยทำงานมักจะเกิดอาการนอนหลับยากอันเนื่องมาจากความเครียด และมากกว่า ๑๔% เคยมีการใช้ยานอนหลับ อาการโดยทั่วไปของโรคนี้มักจะหลับยากหรือหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน บางรายก็จะตื่นขึ้นมาเร็วกว่าปกติทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
สาเหตุ ๑. เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดบางอย่าง ๒. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ๓. อาการเจ็บป่วย ๔. ความเศร้าโศก หรือไม่สบายใจ ๕. การถูกรบกวนจากสภาวะบางอย่าง เช่น เสียงดัง การไม่คุ้นเคยกับสถานที่ หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน
โดย: พี่ทิพ