จุฬาฯคทากร คทากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯคทากร ที่มาที่ไป
จุฬาฯคทากร คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ถือคทาเดินนำขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในอดีตหน้าที่เดินถือคทาจะทำโดยดรัมเมเยอร์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์เป็นอย่างมาก แต่ต่อมาในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้ต้องมีการงดจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไปหลายปี และดรัมเมเยอร์ของมหาวิทยาลัยทั้งสองก็หายไปในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย กระทั่งปี 2550 มีนิสิตคณะนิติศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 64 ได้มีแนวคิดที่จะสร้างวัฒนธรรมการคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ เพื่อทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์เดินนำขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่นี้ อีกทั้งเพื่อให้นิสิตจุฬาฯ ในยุคปัจจุบัน ได้มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้มีการวางรากฐานเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกไว้เป็นครั้งแรก
จนกระทั่งได้นิสิตจุฬาฯ เพื่อทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์ในงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนั้นเป็นรุ่นแรกจำนวน 5 คน แต่ต่อมาปรากฏว่ามีการเลื่อนจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 64 ออกไป ทำให้นิสิตจุฬาฯ ที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้วเป็นรุ่นแรก ยังไม่ได้ทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์เดินนำขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนั้น ในปี 2551 ได้มีการคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ เพื่อทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์อีกครั้ง จำนวน 5 คน ด้วยเหตุผลคือเพื่อเป็นการดำรงวัฒนธรรมการคัดเลือกดรัมเมเยอร์ไว้ให้มีความต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 65 ที่ผ่านมามีนิสิตจุฬาฯ ที่ไดับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์เดินนำขบวนพาเหรดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสิ้น 10 คน ที่ได้จากการคัดเลือกเป็นรุ่นแรกไว้แล้วในปี 2550ร่วมกับรุ่นที่ 2 ที่ได้คัดเลือกในปี 2551 และในโอกาสนั้นถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรก (Grand Opening) ในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ภายใต้ชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า จุฬาฯคทากร โดยมีการนำรูปแบบการเดินเป็นขบวนซึ่งดัดแปลงมาจาก กองทัพดรัมเมเยอร์ ที่โด่งดังในอดีตกลับมาอีกครั้ง และนอกจากนั้น จุฬาฯคทากร ยังมีการแสดงควงคทาประกอบเพลง มหาจุฬาลงกรณ์ และเพลงต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งฝึกซ้อมควงคทา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในเพลงชั่วดินฟ้า ร่วมกับดรัมเมเยอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย
กระบวนการคัดเลือก
สำหรับการคัดเลือกจุฬาฯคทากร จะเริ่มจากการให้แต่ละคณะส่งตัวแทนมาคณะละ 2 คนโดยเป็นนิสิตชาย 1 คน และนิสิตหญิง 1 คน ขั้นตอนแรกนี้เป็นการกระจายโอกาสและการมีส่วนร่วมของแต่ละคณะในการคัดเลือกนิสิตในคณะตนเองที่มีความเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้แต่ละคณะจะมีวิธีการสรรหานิสิตในคณะตนเองที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นนายกสโมสรนิสิตแต่ละคณะจะเป็นผู้ส่งรายชื่อนิสิตในสังกัดคณะที่ได้ผ่านการสรรหาแล้วเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการต่อไปดังนี้ -รอบที่ 1 การสัมภาษณ์เพื่อวัดทัศนคติรวมทั้งความรู้รอบตัวของแต่ละคน -รอบที่ 2 การฝึกซ้อมเดินและถือคทา เพื่อทำให้แต่ละคนได้รู้ถึงทักษะเบื้องต้นของการเป็นคทากร -รอบสุดท้าย เป็นการให้แต่ละคนได้แสดงความสามารถและวิสัยทัศน์ต่อการเป็นจุฬาฯคทากร รวมถึงการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานต่างๆ
ทำเนียบจุฬาฯคทากร
รุ่นที่ 1 (2550) นายจารุพงษ์ วงศ์โฆษวรรณ (นิค) คณะเภสัชศาสตร์ นางสาวพิมพ์พลอย วิเชียรปราการ (ฝ้าย) คณะวิศวกรรมศาสตร์ นางสาวภานรินทร์ จันทร์แจ่มจรูญ (นุ้ย) คณะวิทยาศาสตร์ นางสาวณัฐธยาน์ สุวรรณโรจน์ (เอ๋ย) คณะศิลปกรรมศาสตร์ นางสาวกวิสรา ยุ่นประยงค์ (ก้อย) คณะอักษรศาสตร์
รุ่นที่ 2 (2551) นายอัครวินท์ อัคราวณิชย์ (วิน) คณะทันตแพทยศาสตร์ นายภัทรศักดิ์ มโนรมย์ภัทรสาร (ภัทร) คณะวิศวกรรมศาสตร์ นางสาวทิตา ปทุมเทวาภิบาล (ทิตา) คณะเศรษฐศาสตร์ นางสาวภัทริน ลาภกิตติกุล (เบลล์) คณะเภสัชศาสตร์ นางสาวภณิตา ศิลปวิทยาดิลก (มิ้นท์) คณะอักษรศาสตร์
รุ่นที่ 3 (2552) รุ่นปัจจุบัน นายณัฐพงศ์ ชินโสภณทรัพย์ (โบ๊ท) คณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 นายปเนต พฤฒิกุล (บิ๊ท) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 นายปณต สายน้ำทิพย์ (บูม) คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 นายพิสุทธิ์ อารมณ์ดี (แก๊ป) คณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 นางสาวหทัยวรรณ งามสุคนธภูษิต (ผึ้ง) คณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 นางสาวภัณฑิลา ปัญญามีเสมอ (แอน) คณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 นางสาววริษฐา นาครทรรพ (ออม) คณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 นางสาวอภิศรา ทัตติ (กุ๊กกิ๊ก) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 1
ภาพน้องๆ จุฬาฯคทากร ปีนี้ น่ารักมากๆ
(คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)