เปิดกระเป๋า น.ร.-น.ศ. เด็กหิ้วอะไรไปนั่งเรียน
หลายคนคงมีภาพที่เห็นชินตา ในช่วงเปิดเทอม คือ บรรดาหนูน้อยนัก เรียน ทั้งหิ้ว ทั้งแบก กระเป๋าใบใหญ่ ที่ข้างในอัดไปด้วยอุปกรณ์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเรียน เครื่องเขียน ดินสอสี สมุด ของเล่น หรือน้ำ ขนมนมเนย เดินหลังแอ่นตัวเอียงเข้าโรงเรียน เด็กหลายคนที่ตัวใหญ่หน่อย คงไม่มีปัญหากับขนาดกระเป๋านักเรียนที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับรูปร่าง แต่สำหรับเด็กตัวน้อยๆ ที่ต้องแบกกระเป๋าใบมหึมาไปโรงเรียนทุกวัน กลายเป็นภัยอันตรายที่พ่อแม่ ผู้ปกครองคาดไม่ถึงเพราะอาจเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังของเด็กได้ เด็กโตอย่างนักศึกษาต่างก็จะมีกระเป๋าสะพาย หรือกระเป๋าถือไปมหาวิทยาลัย หน้าตากระเป๋าของแต่ละคนก็สวยงามเป็นไปตามแฟชั่น และรสนิยมของแต่ละคน จากเด็กเล็กที่ต้องหอบหิ้วกระเป๋าใบโต ไปจนถึงเด็กโตอย่างนักศึกษาที่หิ้วกระเป๋าใบเล็ก โดยเฉพาะในหน้าฝน และช่วงที่มี สถานการณ์ "หวัดใหม่ 2009" ระบาดอยู่อย่างนี้ จึงเกิดคำถามว่าในกระเป๋าของเด็กสองวัยมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เพื่อให้หายสงสัยจึงต้องไปแอบเปิดกระเป๋าน้องๆ นักเรียนโรงเรียนราชวินิตประถมดูว่ามีอะไรอยู่ในกระเป๋าบ้าง ด.ช.อภิชัย ชุมสงฆ์ อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า ในกระเป๋าจะมีหนังสือ สมุด เอกสารการเรียน ดินสอ ดินสอสี ยางลบ น้ำ 1 ขวด แต่กระเป๋านักเรียนไม่หนัก เพราะว่าคุณครูให้เอา หนังสือไว้ที่โรงเรียนเป็นบางส่วนถ้าวันไหนมีการบ้านกระเป๋าก็จะหนัก ส่วนร่มกันฝนหรือชุดกันฝนนั้นไม่จำเป็น เพราะมีผู้ปกครองมารับทุกวัน ด.ช.พงษ์ระพี พรหมสิทธิ์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เปิดกระเป๋าให้ดูพร้อมอธิบายว่า จะมีหนังสือ ดินสอ ปากกา ดินสอสี น้ำ 1 ขวด และเสื้อกัน ฝน แล้วก็มีโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อกับผู้ปกครองด้วย "กระเป๋าผมจะหนักมาก เพราะคุณ ครูไม่ให้นำหนังสือไว้ที่โรงเรียน แต่ก็ไม่ปวดหลัง เพราะเพิ่งเปลี่ยนกระเป๋าใบใหม่ จากเดิมที่เคยใช้กระเป๋าของโรงเรียน เพราะกระเป๋าของโรงเรียนจะมีน้ำหนักมากกว่ากระเป๋าเป้ธรรมดา" ด.ช.สารัช ชุณหะนันทน์ อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า กระเป๋าจะมีหนังสือ สมุด เอกสารการเรียน กระดาษรายงาน แฟ้ม ดินสอและชุดกันฝน สำหรับกระเป๋าจะหนักในวันที่มีการบ้านเป็นบางวันเท่านั้น
เพราะคุณครูไม่ให้นำหนังสือไว้ที่โรงเรียน สําหรับกระเป๋าใบเล็กของนักศึกษา เริ่มด้วย น.ส.อรวรรณ เผือกไธสง หรือ น้องตั๊ก อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) บอกว่า ไม่ว่าจะไปไหนก็จะสะพายกระเป๋าไปเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น เพราะคิดว่ามันสะดวก ไม่เกะกะ จึงมองหากระเป๋าใบที่มีลักษณะไม่ใหญ่มาก และไม่เล็กมากจนเกินไป โดยภายในกระเป๋าจะมีกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สำคัญที่สุด สมุดโน้ต ปากกา ชีส หน้ากากอนามัย ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู กระดาษซับมัน แป้ง หมากฝรั่ง และร่มกันฝน
สิ่งของเหล่านี้จะอยู่ในกระเป๋าทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมาก สามารถใช้งานได้ทันที ถึงแม้ว่ากระเป๋าจะหนัก น้องตั๊ก เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเคยรู้สึกปวดไหล่แต่ไม่มากนัก จึงเปลี่ยนข้างสะพาย และบางครั้งเคยคิดจะเอาของที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น หมากฝรั่ง แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถตัดสิ่งของเหล่านี้ออกไปได้ จึงต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา "สำหรับร่มกันฝนก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่น้อยไปกว่ากระเป๋าสตางค์ เพราะปัจจุบันฝนตกบ่อย จึงทำให้ต้องพกร่มกันฝนติดตัวไว้ ทั้งนี้การหาซื้อร่มกันฝนก็ไม่ยาก แถมราคาไม่แพง เพียงคันละ 99 บาทเท่านั้น หากเทียบกับถ้าเราต้องไม่สบาย ต้องหยุดเรียน จึงต้องพกติดตัวไว้ ที่ผ่านมาเคยมีชุดกันฝน แต่มีความรู้สึกว่ามันใช้ยาก เมื่อหยิบออกมาใช้แต่ละครั้งก็ลำบาก แถมยังเกะกะ จึงเอาออกจากกระเป๋า และใช้ร่มกันฝนเพียงคันเดียวเท่านั้น
" น.ส.วรัญญา ฉินจารุจินดา หรือ น้องแอน อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มรภ.สส. อธิบายว่า ปกติแล้วจะสะพายกระเป๋าเพียงใบเดียว แต่จะหากระเป๋าขนาดปานกลาง ภายในกระเป๋าประกอบไปด้วย กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ร่มกันฝน กุญแจบ้าน กุญแจรถ เครื่องสำอาง ยางรัดผม กิ๊บติดผม ซึ่งของเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และก็ยังเป็นสิ่งของที่ไม่ใหญ่มาก หยิบใช้ได้สะดวก สำหรับร่มกันฝนนั้นก็หาซื้อไม่ยาก เพียงแค่ราคา159บาท ไม่แพงมากนัก พอถูกถามถึงน้ำหนักของกระเป๋า น้องแอนถึงเริ่มรู้สึกว่า กระเป๋าที่หิ้วอยู่มีน้ำหนักไม่น้อย แต่ก็ยังถือได้ เพราะว่ามีความเคยชิน
น.ส.อุทุมพร มั่งประสิทธิ์ หรือ น้องดา อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มรภ.สส. บอกว่า วันนี้พกกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ เอ็มพี 3 กระเป๋าใส่เหรียญ สมุดจด ปากกา เครื่องสำอาง กิ๊บติดผม และขนม สาเหตุที่พกสิ่งของเหล่านี้เพราะว่าเป็นสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ทุกวัน ถึงแม้ว่ากระเป๋าจะหนัก แต่ถ้าหาสิ่งของเหล่านี้ไม่เจอก็จะหงุดหงิด จึงจำเป็นต้องพกติดตัวอยู่ตลอด นอกจากนี้สิ่งของเหล่านี้ขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง สะดวกในการหยิบใช้ เมื่อถูกถามถึงสภาพอากาศที่มีฝนตกบ่อย เตรียมตัวป้องกันอย่างไร น้องดาบอกว่า ไม่พกร่ม เพราะรู้สึกว่ามันหนัก เวลาฝนตกก็จะรอให้ฝนหยุด หรือฝนซาเสียก่อน และไม่รู้สึกกลัวโรคไข้หวัด เนื่องจากดูแลสุขภาพร่าง กายให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา
กระเป๋าของนักศึกษาหนุ่มๆ ก็น่าสนใจไม่น้อย นายพูนลาภ ศิริสุข หรือ น้องแก้ว อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย บอกว่า ปกติจะสะพายกระเป๋ากับถือถุงผ้า โดยภายในกระเป๋าจะบรรจุกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ปากกา เอ็มพี 3 กุญแจห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร ส่วนในถุงผ้าจะใส่หนังสือเรียนและเสื้อกาวน์ของคณะ สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นอก จากนี้กระเป๋าสะพายไม่หนัก เพราะได้แยกของใช้ส่วนตัวกับหนังสือออกจากกัน จึงทำให้ไม่มีปัญหาปวดไหล่ "ส่วนกระเป๋าในวันนี้ที่ไม่ได้พกร่มกันฝนมา เพราะว่าเอาร่มไปตากให้แห้ง แล้วลืมเก็บ ถ้าวันนี้ฝนตกก็จะรอให้ฝนหยุดตกเสียก่อน หรือไม่ก็หาทางออก โดยการติดรถไปกับเพื่อน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเองโดนฝน"
นายรัฐพล จันทกิจ หรือ น้องไอซ์ อายุ 19 นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปกติจะสะพายกระเป๋าใบเดียว ข้างในจะใส่เอกสารการเรียนและกระดาษ ปากกา เครื่องคิดเลข หนังสือการ์ตูน กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ เนกไท เสื้อกาวน์ กระเป๋าสะพายที่ใช้อยู่ไม่หนัก เพราะส่วนใหญ่จะมีเพียงแค่เอกสารการเรียน พอถูกถามถึงฝนที่ตกอยู่ทุกวัน น้องไอซ์อธิบายว่า ที่ไม่พกร่มกันฝน เพราะว่าเวลาเก็บใส่กระเป๋าแล้วจะทำให้กระเป๋าชื้น เอกสารการเรียนเปียก แต่ถ้าวันไหนที่ฝนตกก็อาจจะขอยืมเพื่อน หรือรอให้ฝนหยุดตกเสียก่อน ส่วนเสื้อกันฝนนั้นไม่อยู่ในความคิดที่จะซื้อหรือพกเลย และไม่กลัวเป็นโรคหวัดเพราะเป็นภูมิแพ้ จึงเป็นหวัดค่อนข้างบ่อยจนชิน กระเป๋าเรียนของเด็กประถมหรือนักศึกษา สุดท้ายก็ถูกกำหนดด้วยตารางเรียนและความเคยชินในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ได้แยกกันด้วยวัย กระเป๋านักเรียน ก่อนหน้านี้ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลน้ำหนักกระเป๋านักเรียนในกรุงเทพฯ พบว่า เด็กในระดับชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 ไม่ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว
แต่ปัจจุบันพบว่า กระเป๋ามีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว ประมาณร้อยละ 80 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาไปโรงเรียนโดยแบกสัมภาระที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ซึ่งไม่เหมาะสมกับวัยและร่างกาย เป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังของเด็ก นอกจากนี้พบว่า นักเรียนในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 ใช้กระเป๋าแบกหลังเป็นหลัก ทำให้น้ำหนักกดทับโดยตรงที่กล้ามเนื้อ ต้นคอ ไหล่ หลังและกระดูกสันหลัง ซึ่งพบว่าร้อยละ 29 ของกลุ่มตัวอย่างมีอาการปวดคอ ไหล่ หรือหลัง สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา ธิบดี ระบุว่า มีการศึกษาชัดเจนว่าถ้ามีอาการ "ปวดหลัง" ตั้งแต่ตอนเด็ก โตขึ้นไปอาการปวดหลังก็จะเกิดเรื้อรังได้ เทียบเคียงข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า คนในวัยแรงงานที่ปวดหลังเรื้อรังก็มีปัญหามาตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น และถ้าแบกกระเป๋าที่หนักมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว จะส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ตลอดจนความโค้งงอของกระดูกสันหลังก็จะผิดรูปร่างไป คณะแพทย ศาสตร์โรงพยาบาลรามา ธิบดี ยังระบุด้วยว่า เด็กๆ ไม่ควรแบกของหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวและถ้าแบกน้ำหนักเกินร้อยละ 20 ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต นอกจากนี้การแบกกระเป๋าที่ผิดวิธี เช่น แบกด้วยไหล่ข้างเดียว แบกต่ำกว่าเอว ก็มีโอกาสที่จะทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งกระเป๋าล้อลากเองที่แม้ว่าจะลดภาระการแบกของเด็กๆ แต่ก็พบว่ามีโอกาสที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เช่น การขึ้นรถเมล์ การขึ้นบันได หากล้อลากไปติด
โอกาสของการบาดเจ็บก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว ข้อมูลจาก จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ /รายงาน