ฤาจะหมดยุค กาพย์ โคลง กลอน?
ท่ามกลางกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ที่ฟูฟ่องลอยล่องในชั้นบรรยากาศ ปกคลุมกุมหัวใจเยาวชนไทย ส่วนทางอย่างสิ้นเชิงกับความนิยมในกาพย์ โคลง กลอน เอกลักษณ์ไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ คำถามตามมา ณ ห้วงเวลาที่ “วันสุนทรภู่” เวียนมาบรรจบอีกครั้ง... เราพูดได้เต็มปากหรือยังว่า “กาพย์ โคลง กลอน” กำลังกลายเป็นตำนาน คือวัฒนธรรมบันเทิงที่หลงยุค ผิดสมัยในตอนนี้ เราเลือกส่งคำถามที่ว่า ให้หนึ่งในติวเตอร์ภาษาไทยที่ สอนได้ สนุก มัน ฮา ที่สุดแห่งยุค ครูลิลลี่-กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ แห่งสถาบันกวดวิชา Pinnacle เป็นผู้ให้คำตอบ “วิถีชีวิตและโลกเปลี่ยนไป สมัยนี้กับสมัยก่อนมันต่างกัน” ครูลิลลี่ ชี้แจงและเริ่มอธิบาย
“ยุคก่อนนี้คนไทยอนุรักษ์นิยมกันมาก แล้วสื่อที่สร้างความบันเทิงมีให้เลือกน้อย ไม่ร้องรำทำเพลง ก็แต่งกาพย์ โคลง กลอน ทำให้ยังคงได้รับความนิยม ผิดกับสมัยนี้ที่มีละคร ภาพยนตร์ ดนตรี อินเตอร์เน็ต หรือ hi5 (เว็บไซด์) ให้เสพเป็นทางเลือก ความนิยมในกาพย์ โคลง กลอน จึงลดน้อย ส่วนอีกเหตุผลคือรูปแบบการศึกษาที่สมัยก่อนเป็นแบบท่องจำ ท่องอาขยาน ต่างจากสมัยนี้พอสมควร”
กับเหตุการณ์ที่เกิด หลายฝ่ายชี้ไปที่การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ เข้ามามีอิทธิพลต่อเยาวชนจนหลงลืมความเป็นไทย ซึ่ง กาพย์ โคลง กลอน คือตัวอย่าง “เด็กแต่ละคน ใช่ว่าจะชอบแต่งกลอนหรือมีความสามารถด้านการแต่งกลอนเหมือนกัน คนที่ชอบก็มี ไม่ชอบก็มี การไปโทษเด็กว่าเอาแต่สนใจวัฒนธรรมอื่นจนหลงลืมความเป็นไทยอย่างนี้ก็ไม่ถูก ต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไป โลกก็เปลี่ยนไป ในยุคหนึ่งคนอาจมีความชอบอย่างหนึ่ง พอเปลี่ยนอีกยุคก็มีอีกสิ่งหนึ่งเข้ามาแทน ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าต้องชอบเหมือนกัน อย่างไรก็ตามนี่คือหนึ่งในมรดกของชาติ เป็นเอกลักษณ์ไทย คือสิ่งที่ปู่ย่าตายายสืบต่อกันมา ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ต้องอนุรักษ์ไว้ จึงมีการบรรจุการแต่งกาพย์ โคลง กลอน ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย แล้วไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ การแต่งกลอนช่วยพัฒนาทักษะ ความคิด ขัดเกลาให้เป็นคนมีอารมณ์สุนทรี เพราะการแต่งกลอนต้องใช้จินตนาการ และสมาธิสูง” และกับขับกล่าวที่ว่า “กาพย์ โคลง กลอน เชยไปแล้วกับยุคนี้” ครูลิลลี่มีความเห็นเช่นไร
“จริงๆ แล้วเราสามารถทำให้ร่วมสมัยได้ วงดนตรีหลายวงนำเอาคำไทย หรือบทร้อยกรองไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา ก็ฟังดูเพราะดี คือถ้าไม่ประยุกต์ก็ต้องเชยอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะนำมาผสมอย่างไรให้ลงตัว” เห็นจะจริงอย่างที่ครูลิลลีว่าดูอย่าง “แร็พเปอร์” ชื่อดัง โจอี้ บอย ที่ชอบอ่านกาพย์ โคลง กลอน ตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นสามารถนำทักษะความชอบมาใช้ประโยชน์ในการแต่งเพลงแร็ป จนโด่งดัง หรือหากสังเกตเพลงดัง หลายๆ เพลงพอถึงท่อนฮุกก็จะมีคำร้องที่คล้องจอง จดจำง่าย ซึ่งคำคล้องจองก็คือ พื้นฐานของการแต่งกลอนนี่เอง เพราะฉะนั้น จึงสามารถฟันธง (หรือคอนเฟิร์ม) ได้เลยว่า แท้จริงแล้วการแต่งกาพย์ โคลง กลอน ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยไม่หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของเพลง ภาพยนตร์ หรือรายการเกมโชว์แทน เพียงแต่เราไม่รู้ตัว