งานพาร์ตไทม์ ให้อะไรมากกว่าที่คิด
ปิดเทอมที่ผ่านมา นักเรียนนักศึกษาก็ได้หาอะไรที่มีประโยชน์และเพิ่มทักษะให้กับตนเอง งานพาร์ตไทม์ให้ทั้งรายได้พิเศษ และความรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ทำงานพาร์ตไทม์มาตลอดระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มจากการเป็นแคชเชียร์และเสิร์ฟๆอาหารร้านอาหารในมหาวิทยาลัย โดยเลือกวันและเวลาที่ไม่มีการเรียน เช่น เช้าวันอาทิตย์หรือตอนเย็น เทอมถัดมาเริ่มขยับมาทำงานในสำนักงาน เป็นนักศึกษาผู้ช่วยในการค้นฐานข้อมูลต่างๆ จากนั้นเริ่มเป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนและวิจัย ยืนยันได้อย่างดีว่า ได้เรียนรู้หลายอย่างที่ไม่มีสอนในห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมึคาวมรับผิดชอบต่อตัวเอง ผู้ร่วมงาน และการสื่อสาร ทำงานร่วมกับคนอื่น ผู้ปกครองของนักศึกษามีอันจะกินบางกลุ่มคิดว่า การทำงานพาร์ตไทม์เป็นเรื่องของนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเงิน หากลูกเราต้องไปทำงานเสิร์ฟอาหาร เป็นพนักงานตักไอศกรีมก็เป็นเรื่องน่าอับอาย หากเพื่อนฝูงไปพบเข้า หากปรับมุมมองใมห่จะเห็นได้ว่า การที่นักศึกษาได้ทำงาน แม้งานนั้นดูเหมือนใช้แรงงานไม่สมกันที่ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่การทำงานนั้นถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างดีเยี่ยม
งานพาร์ตไทม์ที่น่าสนใจ มีทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นงานในมหาวิทยาลัย เช่นงานคีย์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เป็นผู้ช่วยวิจัยในการเก็บข้อมูล เป็นผู้ช่วยในสำนักงานต่างๆ บริการห้องสมุด หรือถ้าเป็นงานนอกมหาวิทยาลัยก็มีให้เห็นมากมาย เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า พนักงาน Call Center
ทำงานพาร์ตไทม์ แล้วได้อะไร นอกจากได้รายได้เสริมทำให้เราไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ยังมีประสบการณ์การทำงานและทักษะเพิ่มเติม เช่น ได้เพื่อนใหม่ ที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัย มี Service Mind รู้จักวางแผน มีความรับผิดชอบ และรู้จักทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญ เมื่อก้าวไปสู่การทำงานจริงๆ และส่วนใหญ่ เมือมีการสอบสัมภาษณ์รับนักศึกษาใหม่ หรือเพื่อเข้าทำงาน การทำงานพาร์ตไทม์ระหว่างเรียนทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยเป็นตัวช่วยให้เราน่าสนใจกว่าคนอื่น ดิฉันได้พิสูจน์มาแล้วว่าเราสามารถเรียนและทำงานไปด้วยได้อย่างดี รวมทั้งสามารถวางแผนชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างมีสมดุล
จะเลือกทำงานพาร์ตไทม์อย่างไร
* ประเมินทักษะตัวเองก่อนว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร เป็นงานที่ต้องตัดสินใจหรือใช้แรงงาน
* เหมาะสมกับเวลา และตารางเรียน
* ตรงกับทักษะที่ต้องการพัฒนา
* ตรงกับความสนใจส่วนตัว
* จะให้ดี ควรเป็นงานที่เกี่ยวกับสาขาที่เรียน
ขอบคุณที่มา : นิตยสารแพรว เรื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์