Thai Masked Dance… โขน (KHON)
สองมือไม่เสียสตางค์ รีบจ้ำสองเท้าก้าวเข้ามา!!! Lets it begin ล้อมวงเข้ามา วันนี้พี่ไจแอนท์มีเรื่องเล่าชาวโขน จะมาเล่าให้ฟัง พร้อมรับความรู้กันได้แล้ว
โขน คือ การแสดงนาฏศิลป์ไทย (การแสดงประกอบดนตรี คล้ายกับการฟ้อน รำ ระบำ) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เกิดจากการรวมการละเล่นโบราณ 3 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ การเล่นกระบี่กระบอง และการเล่นหนังใหญ่ โดยแต่เดิมการแสดงโขนในสมัยโบราณผู้แสดงต้องสวมหัวโขนเป็นหน้ากากปิดหน้าทั้งหมด เวลาแสดงจะมี”คนพากย์เสียง”ส่วนตัวผู้แสดงจะต้องรำทำท่าเต้นและแสดงอิริยาบถไปตามเสียงพากย์ เวลาต่อมาจึงให้ผู้แสดงเป็นมนุษย์ทั้งชายและหญิง รวมทั้งเทวดา นางฟ้า ไม่ต้องใส่หัวโขนเหมือนยักษ์และลิง เรื่องที่นิยมใช้แสดงโขนคือ “รามเกียรติ์” ซึ่งได้นำมาใช้แสดงโขนให้ชมในพระราชวังตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และรุ่งเรืองที่สุดที่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์ดูแลทั้งการฝึกหัดเล่นโขนและเหล่าศิลปินโขน ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนต่อเนื่องตลอดรัชกาล
นักแสดงโขนส่วนใหญ่มักจะฝึกฝนตั้งแต่วัยเด็ก เพราะในช่วงอายุน้อยๆ เด็กๆ จะสามารถปรับร่างกายเข้ากับโครงสร้างของตัวละครได้เป็นอย่างดี ผศ.ไตรรัตน์ พิพัฒโภค อาจารย์ผู้ชำนาญด้านโขนเด็ก ได้กล่าวว่าเด็กๆ ที่มาเรียนและฝึกฝนโขนจะเกิดสุขและสนุก เป็นส่วนหนึ่งที่ให้พวกเขาอยากมาโรงเรียน และยังเป็นการเริ่มต้นฝึกความมีระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลา การรู้จักรับฟังผู้อื่น พร้อมทั้งทำให้ผู้เรียนรู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง นอกจากนี้จุดเด่นและเสน่ห์ของศิลปะการแสดงโขน คือ ผู้ฝึกเกิดความหลงใหลในท่าทาง ตัวหัวโขน เสื้อผ้า ความแวววับ การเข้าจังหวะของดนตรี ภาษา เนื้อเรื่อง และยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับน้องๆ นักแสดงวัยเยาว์อีกด้วย