สมัครงานขั้นเทพ หนทางสว่างของเด็กจบใหม่
ไม่ง่ายเสียแล้ว สำหรับบัณฑิตจบใหม่ปีนี้ เพราะไม่ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยดัง-ไม่ดัง มหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน ต่างก็พบชะตากรรมคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ ไม่มีงานทำ! เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ "งาน" หายากจริงๆ
เป็นภาวะคับขันที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางาน นางสาวธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท อเด็คโก้ สาขาประจำประเทศไทย บริษัทให้คำปรึกษาทางด้านทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับการจัดหาและจัดจ้าง ออกมา "ฟันธง" ว่า ปีนี้เป็นปีที่งานหายาก หากใครอยากมีงานทำ "ไม่ควรเลือกงาน" อย่างยิ่ง! "จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้ธุรกิจบางประเภทปิดตัวลง หรือลดอัตรากำลังการจ้างงานลงเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการจ้างงานเลย ยังพอมีรับใหม่อยู่บ้าง แต่จะรับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่จะสมัครเข้าทำงานในปีนี้ อาจต้องเจอกับการแข่งขันสูง เพราะคู่แข่งไม่ได้มีเพียงนักศึกษาจบใหม่ด้วยกัน แต่ยังมีคนว่างงานจากปีที่แล้ว และคนที่ถูกปลดออกจากงานด้วย" แค่นี้ก็เป็นเรื่องหินสุดสุดแล้ว ทว่า...ธิดารัตน์กลับบอกว่า คู่แข่งเป็นเพียงปัจจัยย่อย ที่ทำให้ไม่ได้งานทำ ปัจจัยหลักคือ ทัศนคติผิดๆ ที่ยังคงเลือกงาน เลือกองค์กร เลือกค่าจ้าง และเลือกเงื่อนไขการจ้างงาน "คนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมเลือกงาน เรียนจบมาแล้วต้องเข้าทำงานในองค์กรมีชื่อเสียงเท่านั้น รับไม่ได้กับที่ทำงานเล็กๆ โนเนม ซึ่งนี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ไม่มีงานทำ" ธิดารัตน์จี้จุด และแนะว่า ถ้าอยากมีงานทำ ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ สำคัญที่สุดตรงหัวใจ ต้องขยายให้กว้างขึ้น "เปิดใจกว้าง คิดเรื่ององค์กร ค่าจ้าง และลักษณะการจ้างงานให้น้อยลง แล้วโอกาสได้งานจะสูงขึ้นทันที" แต่ข่าวดี!! ยังมีอยู่บ้าง สำหรับนักศึกษาที่เรียนจบด้านบัญชีและไอที จะมีโอกาสได้งานสูงกว่าสาขาวิชาอื่นๆ (ถ้าไม่เลือกงาน) เพราะสองสาขาวิชานี้เป็นหัวใจสำคัญของบริษัท
หากก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ...ธิดารัตน์เตือนว่า "ไม่ใช่ว่าคนจบบัญชีกับไอทีจะได้งานทุกคน แต่ที่ได้งานแน่ๆ คือ คนที่ได้ภาษาอังกฤษ หรือทักษะพิเศษกว่าคนอื่น ปีนี้การแข่งขันสูงมาก นักศึกษาจบใหม่ต้องแข่งขันกับทุกอย่าง ความสามารถด้านภาษา เป็นตัวตัดมากๆ ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดอัตราของเงินเดือนให้สูงขึ้นด้วย มาตรฐานเงินเดือนของนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี 8,000-10,000 บาท แต่ถ้ามีทักษะด้านภาษา จะเพิ่มขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12,000-18,000 บาท" ส่วนใครที่ไม่ได้เรียน 2 สาขาวิชานี้ ก็อย่างเพิ่ง "กุมขมับ" ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางาน มีเทคนิคการสมัครงานให้ "งานเข้า" มาแนะนำ อั
นดับแรกให้ทำการวิเคราะห์ตนเองว่า มีจุดแข็งอะไร ทั้งการศึกษา ความสามารถพิเศษ บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ทัศนคติบางอย่างที่เป็นเชิงบวกต่องานที่จะไปสมัคร จากนั้นเริ่มต้นสมัครงานด้วยการเขียนประวัติตัวเอง ประวัติการทำงาน (เรซูเม่) พัฒนาบุคลิกภาพ และศึกษาข้อมูลองค์กรที่ไปสมัครงาน "สำคัญที่สุด ต้องไม่เลือกงาน มีอะไรเข้ามาให้ทำไปก่อน ส่วนการเขียนเรซูเม่ รูปแบบการเขียนต้องน่าสนใจ ต้องมีข้อมูลชัดเจนมีความเป็นมืออาชีพ เพราะเรซูเม่เปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่สร้างความประทับใจให้กับนายจ้าง ดังนั้นต้องอ่านง่าย กระชับ และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงานไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม โครงงานที่เคยทำตอนเรียนมหาวิทยาลัย หรือความสำเร็จของในด้านต่างๆ และระมัดระวังเป็นพิเศษเรื่องการสะกดคำ อย่าให้ผิด และไม่เขียนข้อมูลมากเกินความจำเป็น" "ถ้าโชคดีผ่านเข้าไปสัมภาษณ์งาน ควรหาข้อมูลขององค์กรที่ไปสัมภาษณ์ด้วย คนที่ได้เปรียบคือคนที่รู้ข้อมูลของบริษัทที่ไปสัมภาษณ์ สุดท้าย ชีวิตการทำงานของแต่ละคนมีประมาณ 30 ปี ระยะเวลาอีกยาวไกลมาก อย่าเพิ่งไปหวังกับงานแรกว่าต้องมั่นคงเลย ค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวอย่างมั่นคงจะดีกว่า" ธิดารัตน์ปิดท้าย ด้าน "เบิร์ด" นายประศม อิทะกนก อายุ 22 ปี หลังจากเรียนจบคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา
แม้จะยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง แต่ก็ใช่ว่าจะว่างงานเสียทีเดียว เขาใช้ความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นมารับทำงานฟรีแลนซ์ งานล่าสุด เป็นผู้ช่วยตากล้องญี่ปุ่น ช่วยถือกล้อง อุปกรณ์กล้อง "ยุคนี้งานดีๆ หายากครับ แต่ก็ใช่ว่าจะหางานทำไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เลือกงานก็ไม่มีวันตกงานแน่นอนครับ ตอนนี้ผมไม่มีงานทำ ก็พยายามหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำไปก่อน โชคดีมีทักษะภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้าง จึงมีงานที่ต้องใช้ความสามารถนี้เข้ามาบ่อยๆ ในเมื่อตอนนี้เป็นแบบนี้ ก็ต้องทำใจยอมรับ ไม่ยอมแพ้ และหวังว่าต่อไปถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น อะไรคงดีขึ้นกว่านี้" เบิร์ดบอก