ตา กลม ... อมพิษ?
ผมยาว ผิวขาว ตาโต ปากนิดจมูกหน่อย เป็นอีกเสปคที่จะเรียกหนุ่มๆ มองตามจนเหลียวหลัง สาวๆ หลายคนจึงรักที่จะ เมกโอเวอร์ ตามสูตรนี้
ยิ่งปัจจุบัน ดำก็ทำเป็นขาว แบนก็เสริมให้โด่ง(หรือตู้ม)ได้ หรือบานนักก็เหลา(กราม)มันซะ... แต่นานาวิธีข้างต้นอาจเรียกร้อง "ค่าทำสวย" สูงลิบลิ่ว เทียบไม่ได้กับ "ศัลยกรรมตาโตในพริบตา" กับราคาแค่ไม่กี่ร้อย เพียงสอย "บิ๊กอายส์" มาไว้ในครอบครอง อย่ามาว่า "ตาปลาหมึก" (นะ) บางคนอาจมองว่าเป็น "ตาปลาหมึกสด" มากกว่า เมื่อมองผ่านสายตาแบบผู้หลักผู้ใหญ่และเว้นช่องว่างระหว่างวัยไว้พอสมควร นั่นเป็นปัญหาระดับคลาสสิกไปแล้ว สำคัญกว่าคือ "เรามีความรู้กับสิ่งนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ก่อนจะยอมให้สิ่งแปลกปลอมเล็กๆ มาแปะดวงตาของเราเกือบทั้งวันทั้งคืน" เทคโนโลยีการนำพลาสติกใส ใส่เข้าตาเพื่อแก้ปัญหาทางจักษุไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมเป็นเรื่องเก่ากว่ากึ่งศตวรรษ จุดเริ่มจริงๆ อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะเวชภัณฑ์เฉพาะทาง ที่มีการพัฒนาจากเลนส์แข็งสู่เลนส์อ่อน จากเลนส์แก้ปัญหาทางสายตามาจนถึงใส่เพื่อความงาม กระทั่งได้รับความนิยมไปทั่วโลก หลายรูปแบบ หลากสี หลายสไตล์ ขยายลูกเล่น รวมถึงราคาและระยะเวลาการใช้ที่มีให้เลือกมากมาย จนมาถึงเลนส์รุ่น "บิ๊กอายส์" สนนราคาไม่กี่ร้อยบาท ช่วยให้สาวหมวย สวยตากลมใสได้ทั้งเดือน เหมือนสาวปลาดิบและกิมจิ โดยมียี่ห้อยอดนิยมอย่าง Maxim ที่ความกว้างของเลนส์ที่จะใส่ครอบตาดำประมาณ 14 มิลลิเมตร วางขายตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งซอยประเภทลงไปเป็น "ตาหวาน ตาสวย และตาโต" แบบรายเดือนหรือรายสองเดือน ราคาราว 500-600 บาท ส่วนอีกแหล่งซื้อยอดนิยมอยู่ที่เว็บไซต์ แตกต่างกันตรงเลนส์ที่วางขายในเว็บมีขนาดใหญ่กว่าคือ 14.0-15.5 มิลลิเมตร มีลวดลายข้างในเลนส์ตั้งแต่ลายประกายดำ ล้อมกรอบสามสี กระทั่งถึงลายธงชาติ แถมยังใส่ได้รายปี และราคาเขยิบสูงขึ้นมาเหยียบหลักพัน
คนขายเขาว่า... คงยากที่จะสรุปลงไปให้ชัดเจนว่า เลนส์สี เลนส์ตาโต ได้รับความนิยมตั้งแต่เมื่อไหร่ ขนาด ศรัญญา สุ่มสวัสดิ์ ผู้จัดการจักษุแพทย์คลินิก ร้านขายแว่นตาคอนแทคเลนส์ และคลินิกหมอตาแบบทูอินวัน ย่านใจกลางเซ็นเตอร์พ็อยต์ ก็บอกสั้นๆ ว่า "จำไม่ได้" พัดมาตามกระแสสังคม แต่ที่รู้แน่ๆ คือ คนซื้อกลุ่มใหญ่ไม่เคยเปลี่ยนไป ได้แก่ วัยทำงาน วัยเรียน จะเน้นใส่สีดำ สีน้ำตาล ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยช่วงแรกที่คอนแทคเลนส์สี ออกวางจำหน่ายจะไม่มีค่าสายตา ภายหลังจึงมีแบบสำหรับสายตาสั้น แต่สำหรับผู้ที่สายตายาว หรือเอียงเกินมาตรฐาน มีเฉพาะบางรุ่นบางสี บางยี่ห้อเท่านั้น และโดยส่วนตัว เธอเห็นว่า การใส่เลนส์ครอบสายตาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะใส่อะไรครอบดวงตาย่อมเป็นสิ่งที่เสี่ยงอยู่พอสมควร ฉะนั้นต้องระวังให้มากก่อนจะใส่ และคิดว่าคอนแทคเลนส์รายเดือนดีกว่าคอนแทคเลนส์รายปี เพราะง่ายต่อการทำความสะอาดมากกว่า “เหมือนเสื้อผ้า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน การใส่แบบรายปีต้องดูแลอย่างดีมากกว่า เพราะมีโอกาสที่จะมีคราบโปรตีน หรือฝุ่นจะมาเกาะหากทำความสะอาดไม่ดี เหมือนฟองน้ำที่ดูดซึมความสกปรก แต่หากเป็นรายเดือน ถ้ามันเสียแล้วก็ทิ้งไม่ต้องคิดมาก ราคาก็ไม่แพง” ศรัญญาแนะ
ศรัญญายกตัวอย่างประสบการณ์อันโชคร้ายของคนใกล้ตัว(ลูกเพื่อน)ว่า ที่ใส่แล้วตาเสียก็มี ปัจจุบันมองเห็นเหมือนทะลุหมอก มองอะไรไม่ชัด เพราะใส่คอนแทคเลนส์ผิดวิธี เช่นเดียวกับคนไข้ที่มาพบจักษุแพทย์ที่ร้าน ซึ่งบางส่วนมาเพราะใส่คอนแทคเลนส์แล้วเกิดปฏิกิริยาต่างๆ กับตา เช่น เคืองตา ตาแดง แต่ไม่ค่อยมีใครเป็นอะไรร้ายแรง สอดคล้องกับผู้ขายคอนแทคเลนส์ของอีกร้านหนึ่ง ตั้งอยู่ ณ ห้างเซ็นทรัลสาขาสีลม ซึ่ง สมชาย (นามสมมุติ) บอกว่า ผู้ซื้อกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน และนักเรียน ทั้งนี้มีทั้งผู้ที่มีปัญหาสายตา และไม่มีปัญหาสายตา เช่น สาวพริตตี้ ส่วนปัญหาที่พบมากคือ เคืองตา ซึ่งวิธีแก้ปัญหา ได้แก่ การดูแลล้างเลนส์ให้ดีที่สุด ต้องดูแลรักษาอย่างดี และไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเลนส์ที่เริ่มเสื่อมแล้ว จะใส่ได้น้อยชั่วโมงลงบ้าง เช่น จากเคยใส่ได้วันละ 12 ชั่วโมง อาจลดลงเหลือแค่ 7 ชั่วโมง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ทางร้านได้ป้องกันการเกิดปัญหาการใช้อย่างไม่ถูกวิธีเบื้องต้น โดยการอบรมพนักงาน ด้วยวิธีสอนต่อ ๆ กัน โดยเมื่อคนหนึ่งไปอบรมเสร็จแล้วก็จะมาจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนพนักงานด้วยกัน สอนวิธีที่ถูกต้องแบบ "ปากต่อปาก" ต่อไป เพื่อพนักงานจะได้สอนคนซื้อให้ใส่เลนส์อย่างถูกวิธี เขายังอธิบายเสริมว่า คอนแทคเลนส์ยังมีปัญหาอยู่บ้าง คือ แม้ช่องเลนส์ของบิ๊กอายส์จะกว้างมากแค่ไหน ก็ให้ภาพไม่ค่อยคมชัดอยู่ดี เพราะผู้ใส่ยังคงมองเห็นขอบสี หรือลายที่ติดอยู่กับเลนส์อยู่นั่นเอง “ขนาดฝุ่นเข้าตายังแสบตา แต่นี้เป็นการนำแผ่นใหญ่ ๆ ไปแปะที่ตาจะไม่รู้สึกอะไรเลยได้ยังไง” สมชาย เปรียบเทียบ ไม่ใส่ ไม่ได้แล้ว บางคนสายตาไม่เป็นใจ ทำให้ต้องใส่คอนแทคเลนส์ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม กระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมระยะเวลาทั้งสิ้นกว่า 6 ปี
อดิศักดิ์ สท้านภพ บอกว่า ใส่เพราะความจำเป็น เนื่องจากสายตาสั้นมาก เห็นไม่ชัดเมื่อต้องมองกระดานดำสมัยเรียนหนังสือ จึงเลือกใส่คอนแทคเลนส์เพราะสะดวกดี แต่ที่ใส่เป็นสีด้วยเพื่อความสวยงาม “ปกติซื้อแบบตาหวาน ใส่รายเดือนเพราะเป็นคนไม่ค่อยทำความสะอาดมากนัก กลัวคอนแทคเสียถ้าใส่แบบรายปี” อดิศักดิ์ เจียดเวลามานั่งคุย ขณะนี้หนุ่มตาโต ใส่รุ่นสีเทาตาหวานอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อมีของออกใหม่ เป็นบิ๊กอายส์ยี่ห้ออื่น ที่ตาโตได้ใจกว่า อดิศักดิ์กลับบอกว่าไม่อยากลอง เพราะใหญ่กว่าเนื้อที่เลนส์ที่ครอบเลยพื้นที่ตาดำ "มันอันตรายมากกว่า และสำคัญที่ส่วนเว้าเลนส์จะต้องแนบกับตาด้วย เพื่อการใส่ที่ไม่เคือง และไม่กลัวหลุด" ข้อมูลที่ชายหนุ่มตุนไว้
ส่วน ฐาปนีย์ ตันติเสวี นักศึกษา วัย 22 ปี ใส่บิ๊กอายส์ เพราะเห็นคนรอบตัว โดยเฉพาะดาราเกาหลีคนโปรดใส่แล้วเก๋จึงอยากลองบ้าง เธอเริ่มใส่เมื่อ 2 ปีก่อน โดยซื้อจากร้านขายแว่นใกล้บ้าน ซึ่งให้ผลสวยสมใจนึกและลูกตากลมโตกว่าของธรรมชาติ พร้อมแก้ปัญหาสายตาสั้น แม้ครั้งแรกที่ใส่จะยังไม่ชิน และมีอาการแพ้บ้าง ได้แก่ เคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง มีขี้ตาเยอะกว่าปกติ ซึ่งไปพบหมอก็ได้หยอดน้ำตาเทียม ยาค่าเชื้อ และรักษาตามอาการ จึงใส่คอนแทคเลนส์ที่ให้ตาคู่สวยสมใจจนถึงทุกวันนี้ “ใส่เพราะดูสวยดี " ฐาปนีย์ยอมรับว่าได้อิทธิพลมาจากนักร้องญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้าง จากการดูหนัง ฟังเพลงบ่อย ตอนนี้เธอจึงงดซื้อคอนแทคเลนส์ตามร้านทั่วไป เพราะถูกใจคอนแทคเลนส์เกาหลีที่มีลวดลายดึงดูดใจกว่า ลึกๆ แล้ว ฐาปนีย์เชื่อว่าใน Made in Korea ทำดีมีมาตรฐาน และอาจเป็นเพราะนิยม "เคป็อป" เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งพึ่งกลับมาจากการไปช็อปปิ้ง ณ แดนกิมจิด้วย ยิ่งทำให้เชื่อใจว่า "ของเขาดีจริงๆ" เธอทิ้งท้ายว่า แม้จะชอบลองของอย่างใด แต่ไม่อยากใส่เลนส์ที่มีความกว้างมากกว่า 14.5 มิลลิเมตรแน่ๆ เพราะขนาดนางแบบตามหน้าเว็บใส่ยังตาแดง เส้นเลือดในตาปูด แล้วจะเอามาใส่เพื่อเพิ่มความลำบากให้ชีวิตมากขึ้นอีกทำไม
พีราภรณ์ ตันติเสวี วัย 18 ปี น้องสาวของฐาปนีย์ ก็เพิ่งจะเริ่มใส่คอนอแทคเลนส์ตามพี่สาว เนื่องจากมีปัญหาทางสายตาที่สั้นกว่ามาตรฐาน 150 และอยากประเดิมด้วยการใส่บิ๊กอายส์ของเกาหลี พราะเห็นพี่ เห็นเพื่อน เห็นดาราใส่กันเป็นปกติ แม้ครอบครัวจะไม่สนับสนุนก็ตาม “ก็มีคนรอบตัวใส่เยอะนะ พี่ก็ใส่ เพื่อนก็ใส่ ดาราที่เห็นก็ใส่ เลยอยากใส่ขึ้นมาบ้าง แล้วก็เพิ่งมีปัญหาสายตาเลยลงตัวพอดี แต่แม่ไม่อยากให้ใส่ เพราะกลัวตาบอด” พีราภรณ์บอกตามตรง เมื่อถามว่าราคาสมเหตุสมผลกับรายได้ของกลุ่มลูกค้าอย่างเธอไหม พีราภาณ์ตอบว่า พอใช้ได้ คือไม่แพงไป และไม่ถูกไป แต่ถ้าแพงกว่านี้ก็อาจจะตัดสินใจซื้อช้ากว่านี้หน่อย แต่ก็ยังอยากได้อยู่ดี
คุณหมอเขาว่า... “การใช้คอนแทคเลนส์ทำให้ตาบอดได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากต้องใส่ ต้องดูแลเป็นอย่างดี เพราะสาเหตุที่ทำให้ตาบอดคือ การติดเชื้อที่กระจกตา” จักษุแพทย์หญิงนันทวรรณ ธรรมวรกุล ให้ความรู้ การใส่คอนแทคเลนส์ทำให้ออกซิเจนผ่านเข้าตาดำน้อยลง ฉะนั้นยิ่งใส่นาน โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีมากขึ้น เพราะดวงตาจะมีภูมิต้านทานที่น้อยลง ดังนั้น หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป หรือคอนแทคเลนส์โดนขีดข่วนเข้ามาสมทบอีก ทำให้การติดเชื้อยิ่งเกิดขึ้น และลุกลามได้ ที่สำคัญคอนแทคเลนส์ยิ่งกว้างก็จะมีโอกาสที่ออกซิเจนจะผ่านไม่ได้สูงขึ้น นอกจากนี้แพทย์หญิงนันทวรรณยังเผยเทคนิคดีๆ สำหรับคนอยากตาโตอีกว่า การเลือกคอนแทคเลนส์ให้ดี ต้องไม่คับไป เพราะอาจกดเส้นเลือดที่ตา แต่ถ้าหลวมไปก็จะทำให้เยื่อบุตาถูกกระตุ้น หรือมีโอกาสเกิดโปรตีนเกาะที่เลนส์ได้ง่ายขึ้น ทางที่ดีก่อนใส่ต้องประเมินก่อนว่าตาเป็นอย่างไร หรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้างที่ไม่เหมาะต่อการใส่คอนแทคเลนส์ “ก่อนใส่ต้องประเมินก่อนว่าตาแห้งไป ตาโปนเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดจากต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ทานยาที่ทำให้ตาแห้ง เป็นภูมิแพ้ เป็นต้น”
การติดเชื้อที่ขนาดต้องควักลูกตาทิ้งหรือทำให้ตาเป็นฝ้านั้นพบได้ แต่ไม่บ่อยนัก พญ.นันทวรรณ ชี้ว่ากรณีนี้ อาจเกิดขึ้นเพราะติดเชื้ออะมีบา หรือติดเชื้อแทรกซ้อนหลายอย่าง ถ้าเป็นไม่มากก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่เมื่อเป็นแล้วตาจะเกิดแผลเป็นที่กระจกตาดำ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่กระจกตาดำต้องรับแสงพอดี ตาก็จะไม่ปรากฎภาพมัวดังกล่าว ทว่า ไม่ใช่จะเปลี่ยนแล้วหายง่าย ๆ เพราะสำหรับบางคน การเปลี่ยนกระจกตาดำอาจเกิดสภาพร่างกายไม่รับของที่เปลี่ยนใหม่ จึงตามมาด้วยการทานยาต้านภูมิคุ้มกันของตนเองบ้าง หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ไปเลยบ้าง ซึ่งอาการที่ร่างกายไม่รับกระจกตาใหม่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ตาบวม มองไม่เห็น สอดคล้องกับแพทย์หญิงฐิดานันท์ รัตนธรรม กล่าวว่า การเปลี่ยนกระจกตาดำไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะต้องรอคิวจากสภากาชาดไทยประมาณ 3-5 ปี ยกเว้นแต่เคสที่สาหัสจริง ๆ เช่น กระจกตาทะลุ เกิดอาการติดเชื้อ จึงจะสามารถลัดคิวได้ อีกทั้งยังแนะนำว่าก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรจะพบจักษุแพทย์ เพราะคอนแทคเลนส์แต่ละยี่ห้อมีความโค้งของเลนส์ต่างกัน เหมือนกับทุกคนที่มีความโค้งของลูกตาที่ต่างกัน ฉะนั้นควรพบแพทย์เพื่อหาสิ่งที่ใช่ก่อนจะสายเกินแก้ “การติดเชื้ออย่างรุนแรงต้องควักลูกตาออกมีสิทธิ์เป็นไปได้ แม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม ดังนั้น การใส่ครั้งแรกควรจะพบแพทย์ก่อน เพื่อให้ดูความเหมาะสมในการใส่ สอนวิธีที่ใส่อย่างถูกต้อง เพราะถ้าไม่ดีจะเกิดการอักเสบได้” แพทย์หญิงฐิดานันท์ เตือน สุดท้ายพญ.ฐิดานันท์ แสดงความคิดเห็นปนเป็นห่วงว่า การจะซื้อคอนแทคเลนส์สักคู่ ควรดูที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) "โดยส่วนตัวแล้ว ไม่คิดว่าแบบที่ขายตามเว็บไซต์จะมีอย.รับรอง และหากใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตาอาจเกิดการติดเชื้อได้ไม่ยาก เพราะวัสดุที่ไม่ดี หรือหมดอายุ อาจมีลักษณะอยู่ตัว ไม่คงทน ทำให้ตาเกิดปฏิกิริยา และเกิดอาการต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่ การอักเสบ เคืองตา กระทั่งติดเชื้อ"
"ดวงตา"...มีติดตัวกันมาคนละคู่ ดูแลให้ดีๆ เพราะหน้าต่างบานนี้ไม่มีสำรอง :
ภัทรดา ฤทธิ์แตง