สมบัติพระศุลีอยู่ที่ใด?
หลายท่านคงเคยได้ยินชื่ออมตะนิยาย สมบัติพระศุลี ซึ่งเป็นเรื่องแปลจาก King Solomon' s Mines ของ เอช.ไรเดอร์ แฮกการ์ด เรื่องนี้แหละครับเป็นที่มาของ ล่องไพร ที่ น้อย อินทนนท์ ประพันธ์ รวมทั้งยอดนวนิยายขนาดยาว เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน แม้จะเป็นนิยาย แต่พระศุลีหรือกษัตริย์โซโลมอนนั้นมีตัวตนจริง อีกทั้งพระคลังมหาสมบัติของพระองค์ ก็เป็นที่เลื่องลือ มีผู้ตามล่าค้นหากันมาแต่โบราณกาลจนกระทั่งบัดนี้ หากทว่า ขุมทรัพย์นี้อยู่ที่ใด เป็นปริศนาที่เราจะนำมาไขสู่กันฟังในหนนี้ครับ แต่ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลัง ของคิงโซโลมอนกันก่อน ซึ่งต้องเท้าความกันไปถึงเมื่อครั้งที่ โมเสส (พระเอกในหนัง บัญญัติ 10 ประการ) พาชนชาวยิวอพยพออกจากอียิปต์และร่อนเร่ไปในทะเลทราย โน่นแน่ะครับ
โดยหลังจากยิวแตกฉานซ่านเซ็นอยู่นาน พระเจ้าก็ได้ส่ง ซาอูล มาเป็นกษัตริย์ปกครองยิว หากทว่ากษัตริย์ องค์นี้ประชาชนต่อต้าน เนื่องจากเบียดบังเอาสมบัติทาง ศาสนามาเป็นประโยชน์สำหรับพระองค์เองเสียนี่ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงได้ส่ง เดวิด เด็กเลี้ยงแกะให้มาเป็นกษัตริย์ องค์ใหม่ เดวิดองค์นี้แหละครับที่มีตำนานว่าได้ต่อสู้กับยักษ์ โกไลแอธ (หรือที่จริงคือผู้นำของชาวฟิลิสติน ศัตรู ตัวฉกาจของยิว) และได้ใช้เชือกหนังเหวี่ยงก้อนหินฆ่าโกไลแอธตาย กษัตริย์เดวิดทรงสามารถรวบรวมยิวให้เป็นหนึ่งเดียว ขยายดินแดนจากทะเลแดงไปจนจดแม่น้ำยูเฟรติส และที่สำคัญคือ ทรงสร้างนครเยรูซาเลมอันเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลกขึ้นเป็นราชธานี รัชสมัยของพระเจ้า เดวิดอยู่ในช่วงปีที่ 1002-962 ปีก่อน ค.ศ. พระองค์ทรงมีสัมพันธ์สวาทลับๆกับ บาธชีบา ซึ่งเป็นภริยาของ ยูริอาห์ ซึ่งเป็นขุนนางคนหนึ่งของพระองค์ ต่อมาจึง ทรงสังหารยูริอาห์และเสกสมรสกับบาธชีบาและมีโอรสด้วยกัน ซึ่งก็คือ โซโลมอน นั่นเองครับ
โซโลมอนขึ้นครองบัลลังก์ในปีที่ 972 ก่อน ค.ศ. และดำรงอยู่จวบจนสิ้นพระชนม์ในปีที่ 922 ก่อน ค.ศ. ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถสร้างชาติและประชาชนจนมั่งคั่งโดยทั่วกัน จัดเป็นสมัยที่ยิวหรืออิสราเอลเจริญรุ่งเรืองที่สุด ในช่วงที่ครองราชย์นั้นมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ นั่นคือ พระราชินีแห่งชีบา ได้ทรง ทราบข่าวเล่าลือถึงพระอัจฉริยภาพขอโลมอน จึงได้ทรงเดินทางมาเยี่ยมเยือนถึงนครเยรูซาเลม โดยได้ทรงนำเอาทองคำและสรรพสิ่งมีค่ามาถวายด้วยเป็นจำนวนมาก และนี่ก็เป็นหนึ่งในจำนวนขุมทรัพย์ของกษัตริย์ โซโลมอนครับ ชีบา (Sheba) นั้น เป็นชื่อที่ชนชาวยิวเรียกเมือง โบราณหนึ่งของอาหรับ ซึ่งทุกวันนี้ก็คือประเทศเยเมน สมัยนั้นชีบาทำการค้าอย่างกว้างขวางทั่วดินแดนอาหรับตลอดจนย่านมหาสมุทรอินเดีย จัดว่าเป็นเมืองที่มีฐานะดีเยี่ยม ทำให้บรรดานักโบราณคดีพากันสันนิษฐานว่า ขุมทรัพย์แท้จริงของโซโลมอนนั้น น่าจะไปทรงขนถ่ายจากที่นี้ ในแต่ละปีต่อมา และ ลายแทง สำคัญนั้น มีปรากฏอยู่ ในคัมภีร์ไบเบิลครับ โดยไบเบิลระบุว่า ทองคำของกษัตริย์โซโลมอนนั้นทรงนำมาจากดินแดนอันไกลโพ้น นามว่า โอเฟอร์ (Ophir) ทว่า ที่ยากลำบากก็คือ พระคัมภีร์มิได้แจ้งว่าดินแดน นี้อยู่ที่ตำแหน่งใดในโลกเลยครับ หนึ่งในบรรดาผู้สืบเสาะหาเมืองโอเฟอร์ ได้แก่ หนุ่มเยอรมันนาม คาร์ล เมาช์ (Carl Mauch) เขาใช้ความมานะพยายามค้นหาโอเฟอร์ นานกว่าหกปี ตระเวนทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา จนกระทั่งมาถึง มหาซิมบับเว (Great Zim babwe) ในปี ค.ศ. 1871 เขาได้เห็นกำแพงใหญ่ล้อม รอบเมือง กำแพงนี้สูงถึง 11 เมตร สร้างขึ้นด้วยก้อนหินล้วนๆ ซ้อนกันอยู่โดยมิได้มีปูนเกาะยึดแต่อย่างใด จัดเป็นโครงสร้างหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนอกทะเลทราย ซาฮาราในยุคก่อนสมัยอาณานิคม ดังนั้น เมื่อเมาช์แลเห็นกำแพงมหึมานี้เข้า เขาก็มั่นใจ ว่าได้ค้นพบสิ่งที่มองหาแล้ว และก็เช่นเดียวกับคนยุโรปทั่วไป เขาไม่เชื่อว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตนี้เกิดจากฝีมือของชนผิวดำป่าเถื่อน แต่จะต้องเกี่ยวพันไปถึงกษัตริย์โซโลมอนกับราชินีแห่งชีบา อา...นี่แหละ
เมืองโอเฟอร์ที่พระคัมภีร์ไบเบิลเอ่ยถึง ยิ่งกว่านั้น เมื่อเขาพบชิ้นส่วนของคานที่ทำจากไม้ประเภทไม้สน เขาก็ถึงกับสรุปว่ามันคือไม้ซีดาร์ ไม้ชนิดเดียวกับที่โซโลมอนทรงใช้สร้างวิหารในนครเยรูซาเลม ดังที่ไบเบิลกล่าวว่าคิงโซโลมอนได้ใช้ไม้ซีดาร์ที่นำมาจากเลบานอน ฉะนั้นไซร้ ก่อสร้างบริเวณนี้ย่อมเกิดจากโซโลมอนแน่นอน ข่าวนี้สร้างความตื่นเต้นให้ชนยุโรป เกิดอาการตื่นทอง แห่ กันมาขุดค้นหาทองในบริเวณนี้ จนเกิดเป็นร่องคูทั่วทุกหนแห่ง กำแพงหลายจุดพังพินาศ พวกเขาพบเครื่องประดับล้ำค่าเหมือนกั่มันก็ถูกหลอมละลายเพื่อเอาแต่ทองคำในทันที หลักฐานที่อาจบอกถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่นี้จึงถูกทำลายเกือบหมด จน 60 ปีต่อมา เกอร์ทรูด คาตันธอมพ์สัน นักโบราณคดีอังกฤษได้มาสำรวจซิมบับเวอย่างจริงจัง และเมื่อตรวจสอบอายุด้วยวิธีคาร์บอน ก็พบว่าสถานที่นี้สร้างขึ้นหลังสมัยโซโลมอนเกือบ 2,000 ปี ดังนั้นแม้ว่าวิธีการทำเหมืองทองในซิมบับเวจะละม้ายคล้ายคลึง กับการทำเหมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล แต่ที่นี่ย่อมมิใช่เมืองโอเฟอร์เสียแล้ว ตั้งต้นกันใหม่ คราวนี้เอาลึกเข้าไปในแอฟริกายิ่งขึ้น นั่นคือ เอธิโอเปีย ซึ่งเดิมเป็นดินแดนที่สวยงาม ทางตอนเหนือนั้นมีเมืองอัคซัม (Aksum) ซึ่งตำนานระบุว่าเป็นที่ประสูติของราชินีแห่งชีบา และยังมีซากวังของพระนางหลงเหลืออยู่ แต่เมืองที่น่าสนใจกว่าได้แก่ อะฟาร์ (Afar) ซึ่งเป็นเมืองท่าอยู่ห่างจากกรุงแอดดิสอาบาบา นครหลวง ของเอธิโอเปียราว 300 ไมล์
ทั้งนี้ เพราะคำว่า อะฟาร์ นั้น เพี้ยนมาจาก โอเฟอร์ นั่นเอง เป็นไปได้ไหมว่า คิงโซโลมอนทรงส่งเรือมาขนสมบัติที่เมืองท่าอะฟาร์นี้ เอธิโอเปียนั้นเป็นดินแดนที่มั่งคั่งทองคำมาตั้งแต่ อดีต แม้กระทั่งทุกวันนี้สองฝั่งถนนในกรุงแอดดิส อาบาบา ก็ยังจอแจด้วยพ่อค้าที่วางขายอัญมณีและทองคำ ซึ่งวิธีทำเครื่องประดับทองคำเป็นแบบเดียวกับสมัยชีบา เมื่อ 3,000 ปีก่อนโน้น ส่วนการทำเหมืองทองคำของที่นี่ก็ทำด้วยแรงงานจากมือมนุษย์ล้วนๆ เหมือนกับที่พวกเขาทำติดต่อกันมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนโน้น อันเป็นยุคสมัยของกษัตริย์โซโลมอนกับราชินีแห่งชีบา จึงน่าเป็นไปได้ว่า ขุมทรัพย์ของคิงโซโลมอนนั้น อาจมาจากเอธิโอเปียนี่เอง
ทีมงาน ต่วยตูน