เกร็ดเล็กๆ ของคำว่า 'น้ำ'
น้ำ ตามหลักวิทยาศาสตร์ คือ สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็น ธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน ในอัตราส่วน 1:8 โดยน้ำหนัก เป็นของเหลวบริสุทธิ์ ใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส โบราณถือเป็น 1 ใน 4 ธาตุคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ทางภูมิศาสตร์โลก มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 2 ใน 3 ส่วน แม้แต่ในร่างกายของคนเรา ก็มีน้ำเป็นสิ่งหล่อหลอมชีวิตที่สำคัญยิ่ง น้ำ เป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรก และมลทิน ถือกันว่าเป็นเครื่องหมาย แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อมีน้ำการเพาะปลูกต่างๆ ก็ได้ผล เป็นที่สังเกตว่านับแต่โบราณกาลมา แหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง ล้วนอยู่มีบ่อเกิดอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ น้ำ จึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ ทั้งพิธีมงคลและอวมงคล โดยเฉพาะการอาบน้ำในพิธี ก็มีกันในหลายชาติหลายภาษา พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์สำคัญของบ้านเรา ได้กล่าวถึงการ อาบน้ำว่าหากจะแปลกันตรงๆ ก็คือ การชำระมลทินของร่างกายด้วยน้ำ ซึ่งการอาบน้ำในพิธีของชาวไทยแต่ก่อน มีด้วยกัน 4 กาละคือ
1. อาบเมื่อปลงผมไฟ เพื่อล้างผมโกนที่ติดตัว
2. อาบเมื่อโกนจุก เพื่อล้างผมที่ติดตัวเช่นกัน
3. อาบเมื่อแต่งงานสมรส เพื่อทำตัวให้สะอาดเตรียมเข้าหอ
4. อาบเมื่อตาย เพื่อทำศพให้สะอาด เตรียมขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งส่วนใหญ่ ท่านว่าการอาบน้ำดังกล่าว จะมีญาติมิตรมาช่วยรดน้ำอาบน้ำ ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ ยกเว้นโกนผมไฟ เพราะเด็กยังอ่อนอาบมากไม่ได้ และการช่วยอาบน้ำที่ว่า ก็เลยลามไปถึงกาลปกติอย่างในฤดูร้อนช่วงสงกรานต์ ที่ลูกหลานไปช่วยกันอาบน้ำให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พระสงฆ์องค์เจ้า และสาดน้ำกันเอง ซึ่งนอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้ว คงจะมีนัยให้เกิดความสมบูรณ์ของฟ้าฝน เพื่อประโยชน์ในการทำไร่ไถนาด้วย และได้กลายมาเป็นพิธีประจำปีขึ้นมา การอาบน้ำเมื่อแรกๆ ก็คงจะอาบแบบทั้งตัว แต่ครั้นภายหลังคงเห็นเป็นเรื่องเอิกเกริกยุ่งยาก จึงย่นย่อลงเพียงการพรมที่หัว รดตัว และรดมือพอควรแก่เหตุ เสมือนว่าได้รดน้ำอาบน้ำให้แล้ว
คนเราโดยทั่วไป แม้จะไม่ได้ทำพิธีใดๆ ก็ต้องอาบน้ำอาบท่า ชำระร่างกายให้สะอาดเป็นปกติอยู่แล้ว และเมื่อทำพิธี ก็ยิ่งต้องทำร่างกายให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ดังเช่นลัทธิพราหมณ์ ก่อนจะเริ่มพิธีใด ก็ต้องมีพิธีสนาน คืออาบน้ำเสียก่อน เพื่อให้เข้าพิธีด้วยความบริสุทธิ์ ประเพณีของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการบวชนาค ที่ต้องมีการอาบน้ำนาคก่อนบวชในวันรุ่งขึ้น หรือพิธีแต่งงานที่สมัยก่อน มีการซัดน้ำจนเปียกปอนจริงๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรดมือพอเป็นพิธีเท่านั้น ท่านว่าก็ล้วนเป็นการทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ เป็นการล้างมลทิน เพื่อเตรียมเข้าพิธีต่างๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการรดน้ำ สรงน้ำ หรืออาบน้ำวันสงกรานต์ ก็เพื่อชำระล้างมลทิน หรือสิ่งไม่ดีไม่งามออกจากตัวเรา เพื่อให้มีความบริสุทธิ์รับปีใหม่ที่จะมาถึง จากที่กล่าวมาแล้วว่า น้ำ เป็นเครื่องชำระล้างมลทิน และยังเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ทำให้สัญลักษณ์และความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ จึงมีปรากฏอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเราจะเห็น น้ำ เกี่ยวข้องกับเราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรม ประเพณี การละเล่นทางน้ำ ประติมากรรม งานช่างฝีมือต่างๆ เป็นต้น
สำหรับสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ ได้แก่พญานาค และมังกร อันเป็นคติความเชื่อทางแถบเอเซีย เช่น ไทย ลาว เขมร และจีน เป็นต้น มีตำนานกล่าวว่า ราชวงศ์เซียของจีน เกิดจากการเลื้อยพันกันระหว่างมังกรตัวผู้ และตัวเมีย ดังนั้นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินจีนจึงเป็นมังกร ส่วนคำว่า นาค ภาษาสันสฤตแปลว่า งู ในทางพุทธศาสนา เราอาจจะคุ้นเคยกับพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเป็นพระประจำวันเสาร์ นั่นคือ พญานาคมุจลินทร์ ที่แผ่เบี้ยปกคลุมเศียรพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับสมาธิอยู่บนขนดนั้น และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะตรัสรู้ พระแม่ธรณีก็มาบีบมวยผม ปล่อยน้ำมาท่วมเหล่าพญามาร ที่มาผจญพระพุทธองค์จนหมดสิ้นไป นอกจากยังมีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพญานาค ได้กลืนกินน้ำจนแห้งไปหมดทั้งโลก แล้วไปขดตัวนอนหลับ กลายเป็นเมฆอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ร้อนถึงพระอินทร์ที่ต้องใช้สายฟ้าฟาดกลางขดพญานาค จนขาดเป็นท่อนๆ เพื่อให้มีน้ำไหลออกมาหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์
พิธีกรรมสำคัญๆ ที่ต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบก็มีหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องมีการอัญเชิญน้ำมูรธาภิเษก (น้ำที่จะใช้รดพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน) ที่จะสรง จากสถานที่ต่างๆ อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ในราชอาณาจักรมาทำพิธี ซึ่งเมื่อทรงสรงด้วยน้ำนี้แล้ว ก็ถือว่าได้แปรสภาพองค์ เข้าสู่ความเป็นกษัตริย์เป็นขั้นแรก ก่อนจะมีพิธีอื่นๆ ต่อไป การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งในสมัยก่อน ที่จะป้องกันข้าราชการมิให้ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยทำพิธีในวัดพระแก้ว ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ โดยให้ข้าราชการถวายสัตย์สาบาน ด้วยการดื่มน้ำที่ผ่านการปลุกเสก จากการที่พระมหาราชครูชุบพระแสง 3 องค์ลงในน้ำแล้วอ่านโองการแช่งไว้ นอกจากนี้ ยังมีพิธีที่เกี่ยวกับน้ำ ในทางเกษตรกรรม ที่พระเจ้าแผ่นดิน ต้องทรงทำหน้าที่เหมือนพระอินทร์ มาปราบนาคดังตำนานข้างต้น อย่าง พระราชพิธีไล่เรือ และพระราชพิธีไล่น้ำ จะทำต่อเมื่อปีไหนน้ำหลากท่วมไร่นามากเกินไป พระมหากษัตริย์พร้อมพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอ และพระสนมก็จะแต่งองค์เต็มยศ ลงเรือพระที่นั่ง เสด็จออกไปประทับยืนทรงพัชนีบังคับให้น้ำลด ซึ่งพระราชพิธีดังกล่าวนี้ เคยทำในสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งหนึ่ง และรัชกาลที่ 3 อีกครั้งหนึ่ง แต่หากปีไหนฝนแล้ง ก็เป็นพระราชภาระ ที่ต้องทำพิธีที่เรียกว่า พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อขอฝนอีกเช่นกัน ส่วนพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นความอลังการของขบวนเรือที่งดงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมกรรม ที่ปรากฏบนเรือสำคัญๆ แต่ละลำด้วย ในส่วนของชาวบ้านชาวเมือง เราก็มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำหลายประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง งานบุญบั้งไฟ หรือแห่นางแมวเพื่อขอฝน รวมไปถึงการละเล่นทางน้ำต่างๆ อาทิ การพายเรือเล่นสักวา การแข่งเรือ หรือแม้แต่เทศกาลชักพระ โยนบัว ที่เป็นงานประจำปีที่สำคัญของบางจังหวัด
อนึ่ง ในตำนานสร้างเมืองทั้งของไทย และเขมรก็มีนิยายเล่าต่อๆ กันมาว่า ที่มีบ้านเมืองขึ้นมาได้ เพราะเจ้าครองนครคนแรก ซึ่งมีนามว่า พระทอง ได้อภิเษกสมรสกับธิดาพญานาค ทำให้พญานาคกลืนน้ำ ซึ่งท่วมดินแดนนั้นอยู่ จนแผ่นดินแห้งกลายเป็นประเทศขึ้นมา ชื่อว่า กัมพูชา และเรื่องนี้ ยังได้ถ่ายทอดต่อมาในรูปแบบวรรณกรรม นาฏศิลป์และศิลปกรรม แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์และนาค อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำด้วย ที่ว่ามาข้างต้นคือ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ น้ำ ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำข้อมูลบางส่วนจากหนังสือน้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทยของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ มาเสนอเพื่อเป็นความรู้ ซึ่งนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว
น้ำ โดยตัวมันเองในสถานะของเหลวอันไปรวมกับสิ่งอื่นๆ ก็มีทั้งคุณและโทษไม่น้อย เช่น น้ำกรด น้ำเมา น้ำจัณฑ์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อสิ่งของ และร่างกายหากดื่มเข้าไป ในขณะที่น้ำเกลือ น้ำนม น้ำกระสาย น้ำมนต์ กลับช่วยรักษาทั้งร่างกายและจิตใจได้ เป็นต้น กล่าวได้ว่า น้ำ มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ อย่างไรก็ตาม น้ำ ในปัจจุบัน ที่จะทำให้บ้านเมือง และสังคมเกิดความสงบสุข น่าจะเป็น น้ำคำ ที่หมายถึง การพูดดี พูดมีประโยชน์และถูกต้องตามกาละเทศะ รวมไปถึง น้ำใจ ที่พร้อมจะช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกันมากกว่าอย่างอื่น
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม