มีสำนวนเก๋ๆ เกี่ยวกับ ช. ช้าง มาฝาก
เมื่อเอ่ยถึง ช.ช้าง เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก และคุ้นเคยกับสัตว์ใหญ่ชนิดนี้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันช้างบ้านเรา ไม่ได้อาศัยอยู่แต่ในป่าเท่านั้น แต่ต้องเดินทางเร่ร่อนออกจากถิ่นเดิม มาทำมาหากินในเมือง เช่นเดียวกับคนท้องถิ่นอีกจำนวนไม่น้อย ทำให้เราได้พบเห็นช้างตัวจริงกันอยู่เสมอ
ช.ช้าง เป็นพยัญชนะตัวที่ 10 ในอักษรไทย 44 ตัว ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้แนะนำให้ได้รู้จักคำ และความหมายที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวนี้ต่อไป
แน่นอนว่า ช. ตัวแรกที่แนะนำ ก็ต้องเป็น ช.ช้าง สัตว์ที่แสนจะน่ารัก และผูกพันกับคนไทยมาช้านาน เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทย อันประกอบด้วย ช้าง ศาลาไทย และต้นราชพฤกษ์ ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีถิ่นกำเนิดใน 2 ทวีป คือ ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย ช้างแอฟริกาจะดุร้าย เลี้ยงให้เชื่องไม่ได้ ตรงกันข้ามกับช้างเอเชียที่มีนิสัยไม่ดุร้าย เลี้ยงง่าย ฉลาด อยู่กับมนุษย์ได้
ช้างตัวผู้ถ้ามีงายาวจะเรียก ช้างพลาย ถ้างาสั้นหรือไม่มีงา จะเรียก ช้างสีดอ ส่วนตัวเมียเรียกว่า ช้างพัง มักจะไม่มีงาปรากฏให้เห็น แต่ถ้าบางตัวมีงาสั้นๆ จะเรียกว่า ช้างขนาย ช้างเป็นสัตว์กินพืช มักอยู่รวมกันเป็นโขลง มีช้างพังอายุมากเป็นจ่าโขลง เรียก แม่แปรก (ปะ-แหรฺก) ถ้าพูดถึง ช้างเผือก จะหมายถึง ช้างที่มีลักษณะต่างจากช้างทั่วไป เป็นช้างมงคล ที่ต้องตามตำราคชลักษณ์ ถือเป็นสัตว์คู่บุญบารมีพระมหากษัตริย์ และคำว่า ช้างเผือก นี้ ยังหมายถึง คนดีมีวิชา ที่เกิดในชนบท แล้วมามีชื่อเสียงโด่งดังในเมือง แต่ถ้าพูดถึง ทางช้างเผือก จะหมายถึง แสงของกลุ่มดาวที่แผ่เห็นสว่างเป็นพืดในท้องฟ้า ที่ซึ่งอังศุมาลิน นัดแนะโกโบริ ให้ไปเจอกันหลังตายในเรื่อง คู่กรรม ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีช้างที่คนมักกล่าวถึงอยู่เสมอๆ เช่น พญาฉันทันต์ เป็นช้างพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก สมัยที่พระพุทธองค์ เสวยชาติเป็นพญาช้างชื่อ ฉัททันต์ มีงาเปล่งรัศมี 6 สี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ช้างปัจจัยนาเคนทร์ เป็นช้างคู่บุญบารมีพระเวสสันดร ช้างนี้ไปอยู่ที่ใด ก็จะทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ช้างปาลิไลยกะ เป็นช้างที่ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ขณะเสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่า ในกรุงโกสัมพี ที่เรามักเห็นพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ที่มีช้างและลิงคู่กัน ส่วน ช้างเอราวัณ ก็คือ ช้างทรงของพระอินทร์ มี 33 เศียร เศียรหนึ่งมี 7 งา งาหนึ่งมี 7 สระ สระหนึ่งมีกอบัว 7 กอ กอหนึ่งมี 7 ดอก ดอกหนึ่งมี 7 กลีบ กลีบหนึ่งมีเทพธิดา 7 องค์ เรียกว่าใหญ่โตมาก
- ช้าง นอกจากจะหมายถึง สัตว์ตัวโตที่ว่าแล้ว ยังเป็น ชื่อของกล้วยไม้ อย่างช้างดำ, ช้างกระ และช้างแดง ส่วนคำว่า ช้างน้ำ จริงๆ แล้ว หมายถึง สัตว์ในนิยาย มีรูปร่าง และงางวงเหมือนช้าง และมีหางเป็นปลา แต่ถ้าสาวใดถูกเรียกว่า ช้างน้ำ เมื่้รู้ไว้เถอะว่า เขาว่าเรามีหุ่นอวบอ้วน จ่ำม่ำคล้ายช้างนั่นแล
สำหรับคำขึ้นต้นด้วย ช.ที่เป็นสัตว์อื่น ยังมี ชวด ซึ่งเป็นปีแรกในรอบปีนักษัตร มีหนู เป็นเครื่องหมาย ถ้า ชวด เป็นคน จะหมายถึง พ่อหรือแม่ของปู่ย่า ตายาย บ้างทีก็เรียกว่า ทวด แต่เมื่อไรก็ตาม ที่เป็น ชวด เป็นกริยา จะหมายถึง ความผิดหวัง ไม่ได้ดังหวัง คล้ายๆ คำว่า แห้ว, ส่วน ช้อนหอย จะเป็นชื่อนกหลายชนิดในวงศ์หนึ่ง ซึ่งมีปากยาวโค้ง ปลายแหลม หากินในน้ำตื้น, ส่วน ชะนี ก็คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คล้ายลิง แต่มีแขนยาวมาก ไม่มีหาง เดินตัวตั้งตรง ร้องเสียงดัง ที่เรามักจะล้อกันว่า ร้องเรียก ผัววววๆ และกลายเป็นศัพท์สแลง ของกลุ่มรักร่วมเพศที่เรียกผู้หญิงว่า ชะนี ด้วย ซึ่งความจริงเสียงร้องนี้ จะแสดงอาณาเขตของแต่ละคู่ และแต่ละชนิดก็ร้องไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ชะนี ยังเป็นชื่อของทุเรียนพันธุ์หนึ่งที่กินอร่อย, ถ้าเป็น ชะมด จะหมายถึงสัตว์ตระกูลเดียวกับอีเห็น และพังพอน มีต่อมกลิ่นใกล้เครื่องเพศ มักหากินในเวลากลางคืน ในบ้านเรามีหลายชนิด แต่ที่ใช้น้ำมันจากต่อมกลิ่นมาทำ น้ำหอม ได้แก่ ชะมดเช็ด ส่วน ชะมดเชียง จะเป็นชื่อเครื่องหอม ที่ได้มาจากกวางชะมดตัวผู้ และ ชัลลุกา จะหมายถึง ปลิง
- ช.ที่เป็นอวัยวะของคนเรา ก็มี ชงฆ์ หมายถึง แข้ง คือ ส่วนหน้าของขา ใต้เข่าลงไปถึงข้อเท้า ราชาศัพท์เรียก พระชงฆ์ ชิวหา จะหมายถึง ลิ้น ส่วน ชานุ คือ เข่า
- ช. ที่เกี่ยวเนื่องกับอาการต่างๆ ได้แก่ ชา หมายถึง อาการที่รู้สึกน้อยกว่าปรกติ เนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกถูกกด ถูกตัดขาด หรือถูกสารพิษ เช่น มือเท้าชา, ส่วน ชาเย็น จะเป็นอาการเฉยเมย ไม่สนใจใยดี, ชัก คือ อาการที่กล้ามเนื้อกระตุกอย่างกะทันหัน และรุนแรง มักมีอาการมือเท้าเกร็ง, ช้ำ คือ ลักษณะน่วมระบม เพราะถูกกระทบกระแทกอย่างแรงหรือบ่อยๆ
- สำนวนที่ขึ้นด้วย ช. เช่น ชักตะพานแหงนถ่อ หมายถึง ตั้งใจทำอะไรแล้วไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องคอยค้างอยู่, ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน หมายถึง นำศัตรูเข้าบ้าน, ชักใบให้เรือเสีย คือ พูดหรือทำขวางๆ ให้การสนทนา หรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป, ชักแม่น้ำทั้งห้า คือ พูดจาหว่านล้อม ยกยอบุญคุณ เพื่อขอสิ่งที่ประสงค์, ชักหน้าไม่ถึงหลัง หมายถึง มีรายได้ไม่พอรายจ่าย, ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด หมายถึง ความชั่วหรือความผิดร้ายแรง ที่คนรู้กันทั่วแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด, ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ หมายถึง ค่อยๆคิดค่อยๆ ทำ ดีกว่าด่วนทำ, ชุบมือเปิบ หมายถึง ฉวยประโยชน์จากคนอื่น โดยไม่ได้ลงทุนลงแรง, ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ หมายถึง ปล่อยไปตามเรื่องตามราว ไม่เอาเป็นธุระ, ชิงสุกก่อนห่าม คือ ทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัย หรือยังไม่ถึงเวลา
- ช. ขึ้นต้นที่คนรังเกียจ น่าจะได้แก่ ชรา คือ แก่ด้วยอายุ หรือหมายถึงชำรุดทรุดโทรม, ชู้ หมายถึง ชายที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา หรือหญิงามีสามีแล้ว ไปร่วมประเวณีชายอื่น ก็เรียกว่า มีชู้ ถ้าหญิงหรือชายที่ใฝ่ในทางชู้สาว ก็จะถูกเรียกว่า เจ้าชู้ นอกจากนี้ ในทางกฏหมายสมัยก่อน ยังมีคำว่า ชู้เหนือขันหมาก หมายถึง ชายที่ลอบได้เสียกับหญิงที่เป็นคู่หมั้นชายอื่น, ชู้เหนือผัว หมายถึง ชายที่ลักลอบได้เสียกับหญิง ที่สามียังมีชีวิตอยู่, ชู้เหนือผี คือ ชายที่ลักลอบได้เสียกับหญิงที่สามีตาย แต่ศพยังสามียังอยู่บนเรือน, เชย คือ ไม่ทันสมัย เปิ่น ชุ่ย คือ หวัดๆ มักง่าย ไม่ได้เรื่องได้ราว, ชุลมุน คือ อาการที่เป็นไปอย่างสับสนวุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบ, ช้ำรั่ว หมายถึง ชื่ออาการของโรคอย่างหนึ่ง เกิดจากความผิดปรกติของกระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้เหมือนคนปกติ, ช็อก คือสภาวะที่ร่างกายเสียเลือด จนความดันเลือดต่ำมาก หรือการถูกกระทบจิตใจอย่างรุนแรง หรือถูกกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน จนทำให้เป็นลมหมดสติในทันที, เชลย คือ ผู้ที่ข้าศึกจับตัวได้ และ ชั่ว คือ เลว ทราม ไม่ดีเพราะจงใจฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณี
- ส่วน ช.ที่คนนิยม คงจะได้แก่ เช้งวับ หมายถึง สวยเพราะตกแต่งให้งามเป็นพิเศษ, ชนะ คือ มีชัยเหนืออีกฝ่าย, ชม คือ การยกย่อง สรรเสริญ ชอบ คือ ความพอใจ, ชำนาญ หมายถึง เชี่ยวชาญจัดเจน, ชิ้น เป็นภาษาพูดโบราณ หมายถึง คู่รัก, ส่วน โชค หมายถึง สิ่งที่นำผลมาให้โดยคาดหมายได้ยาก มักนิยมใช้ในทางดี
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่ง ของพยัญชนะตัว ช. ซึ่ง เชื่อ ว่า หลายคนคงจะ ใช้ อย่าง เชี่ยวชาญ (สันทัดจัดเจน) อยู่แล้ว แม้จะไม่ โชกโชน (มีประสบการณ์มากมาย) แต่ก็คงมี ชั้นเชิง (ท่วงที อุบาย) ช่ำชอง (ชำนิชำนาญ) จน เชิดหน้าชูตา ได้ แต่ตอนนี้ต้องขอ ชุลี ( มาจากอัญชุลีแปลว่าไหว้) ไป เชื้อเชิญ พยัญชนะตัว ซ . โซ่ มา ชักนำ (โน้มน้าวให้เห็นคล้อยตาม) เพื่อเพิ่ม เชาวน์ (ปฏิภาณไหวพริบ) ท่านต่อไป ไชโย คือ คำที่เปล่งเสียงอวยชัยให้พร หรือแสดงความดีใจเมื่อได้รับชัยชนะ
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
อัพเดทโดย : ศศิวิมล