น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณี และขนบธรรมเนียมอันล้าสมัย รวมทั้งระบอบวิธีการปกครองแผ่นดินตามแบบโบราณ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ เรียกว่า แบบจตุสดมภ์ ในการปกครองประเทศตามแบบจตุสดมภ์นี้ มีกระทรวงใหญ่อยู่ 4 กระทรวง เรียกว่า เมือง หรือ เวียง, วัง, คลัง, นา มีเสนาบดีอยู่ 6 ตำแหน่ง คือ

- สมุหนายกกรมมหาดไทย มีหน้าที่บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง

- สมุหพระกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาการหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง และการทหารบก เนื่องจากขณะนั้น ยังไม่มีทหารอากาศ ซึ่งทั้งสองตำแหน่งนี้ เรียกว่า อัครมหาเสนาธิบดี และคำว่า กรม คือ กระทรวง ทุกวันนี้ รองลงมาจากตำแหน่งอัครมหาเสนาธิบดีทั้ง 2 ก็มีอีก 4 ตำแหน่ง คือ เสนาบดีกรมเมือง, เสนาบดีกรมวัง, เสนาบดีกรมคลัง และเสนาบดีกรมนา ผู้เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาการใน 4 ตำแหน่งนี้ เรียกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์

 - เสนาบดีกรมเมือง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาพระนคร และความนครบาล

- เสนาบดีกรมวัง มีหน้าที่บังคับบัญชาในพระบรมมหาราชวัง และความแพ่ง

- เสนาบดีกรมคลังหรือกรมพระคลัง มีหน้าที่บังคับบัญชาการกรมท่า และกรมพระคลังต่าง ๆ กรมท่าก็เหมือนกรมเจ้าท่าทุกวันนี้ แต่มี 2 ฝ่าย คือ กรมท่าขวา เป็นเจ้าท่าเรือแขกฝรั่ง กรมท่าซ้ายเป็นเจ้าท่าเรือจีน ซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงรัชกาลที่ 2 การค้าขายของชาวต่างประเทศมาเกี่ยวข้องทางกรมท่ามากขึ้น เสนาบดีกรมพระคลังจึงต้องย้ายมาว่าการต่างประเทศ (คือกรมท่า) ต่อมาจึงเรียกว่า เสนาบดีกรมท่า บังคับบัญชาการต่างประเทศ และกรมพระคลังต่อมา

- เสนาบดีกรมนา มีหน้าที่บังคับบัญชาการไร่นาทั้งปวง หน้าที่ราชการทั้ง 6 ตำแหน่งนี้ ถ้าท่านผู้ใดได้เป็นหัวหน้า หรือเสนาบดี อัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่บังคับบัญชาการ ต้องนับว่าเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญของชาติบ้านเมือง กล่าวคือ ถ้ามีราชการศึกสงครามเกิดขึ้นครั้งใด ท่านที่อยู่ในตำแน่งสำคัญดังกล่าวมานี้ จักต้องเป็นแม่ทัพนายกอง คุมกองทัพออกต่อสู้ราชศัตรู เพื่อป้องกันพระราชอาณาจักร และรักษาพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน หากมีราชการอันใด ที่ควรจักต้องหารือกัน ก็จะต้องปรึกษาหารือกัน ณ ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งในที่ประชุมเสนาบดีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นประธาน กับมีพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่บางพระองค์บางท่าน อยู่ในที่ประชุมดังกล่าวมานี้ด้วย ที่ประชุมนี้ เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา คำใดที่เป็นคำตกลงกันในลูกขุน ณ ศาลา คำนั้น เรียกว่า คำลูกขุนปรึกษา

ส่วนระเบียบวิธีปฏิบัติราชการในสมัยโบราณนั้น พระเจ้าแผ่นดิน ย่อมทรงถือพระราชอำนาจสิทธิขาดแต่พระองค์เดียว เมื่อมีราชการอันใดเกิดขึ้นในทางราชการ พระเจ้าแผ่นดินก็มีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งลงมายังพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชก็ดำรัสสั่งอัครมหาเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นชั้นๆ ลงมา ในเรื่อง ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีกระทรวงใหญ่ ให้ประชุมกันปรึกษาราชการตามหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกันเป็นที่ประชุมเสนาบดี 12 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีสภาลูกขุน ณ ศาลา อันจะมีหน้าที่รวมกันและต่างกันโดยแผนก ซึ่งมีพระราชบัญญัติต่างหาก แลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าให้บรรดาเสนาบดีทั้งปวงนี้ ให้มียศเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่ให้ถือว่าเป็นอัครมหาเสนาบดี หรือเป็นจตุสดมภ์ หรือเป็นเสนาบดี ตำแหน่งใหม่ และพนักงานหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ 5) ในชั้นต้นยังทรงพระเยาว์พระชนมายุ 15 พรรษา จึงต้องมีสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ ในวันที่ 20 กันยายน 2416 ทรงว่าราชการโดยพระองค์เองแล้ว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองแผ่นดินตลอดมา เพื่อให้เหมาะสมแก่กาละสมัย โดยวิธียกเลิกกองต่างๆ ไปบ้าง เพิ่มกองต่างๆ ขึ้นบ้าง ปรับปรุงโยกย้ายกองต่างๆ บ้าง ตามความเหมาะสม แยกหน่วยราชการออกจากจตุสดมภ์ กรมบางกรมออกไปตั้งเป็นกรมหมู่บ้าง รวมกองต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วตั้งชื่อกองใหม่บ้าง เป็นกรมใหม่บ้าง เช่น กรมยุทธนาธิการ เป็นต้น

จนในที่สุดทรงเลิกจตุสดมภ์แล้ว ทรงตั้งกระทรวงเสนาบดีขึ้น 12 กระทรวง เมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2435 คือ

1. กระทรวงกลาโหม เจ้าพระยารัตนธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เป็นเสนาบดี

2. กระทรวงการต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นเสนาบดี

3. กระทรวงคลัง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นเสนาบดี

4. กระทรวงวัง กรมหลวงประจักษศิลปาคม เป็นเสนาบดี

5. กระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดี

6. กระทรวงพระนครบาล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเสนาบดี

7. กระทรวงโยธาธิการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานุริศรานุวัติวงศ์ เป็นเสนาบดี

8. กระทรวงธรรมการและศึกษาธิการ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดี

9. กระทรวงเกษตรพาณิชการ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดี

10. กระทรวงยุติธรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฐ์ เป็นเสนาบดี

11. กระทรวงมุรธาธาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เป็นเสนาบดี

12. กระทรวงยุทธนาธิการ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยา ภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดี

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากแบบจตุสดมภ์มาเป็นการจัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวง นี้ต้องนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า พลิกแผ่นดิน ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษก็ต้องเรียกว่า Revolution ไม่ใช่ Evolution การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ มีน้อยประเทศนัก ที่จะสำเร็จไปได้โดยราบคาบปราศจากการจลาจล หรือจะว่าไม่มีปัญหาเลยก็ว่าได้ ประเทศญี่ปุ่นไ ด้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่าง พลิกแผ่นดิน เหมือนประเทศสยาม แต่หาได้ดำเนินการไปได้โดยสงบราบคาบ เหมือนอย่างประเทศสยามไม่ ยังต้องมีการจลาจลในบ้านเมือง เช่น มีขบถสัตสุมา (Sutsuma Rebellion) เป็นต้น

การที่ประเทศสยาม ได้เปลี่ยนแปลงวิธีปกครองอย่าง Revolution ได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียวดังนี้ ต้องนับว่าเป็นมหัศจรรย์ เป็นโชคดีของประเทศสยามเป็นอย่างยิ่ง ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ย่อมขัดกับประโยชน์ของคนบางจำพวก จึงยากนักที่จะสำเร็จไปได้โดยสงบราบคาบ ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่าง Revolution ของคนไทยในประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มประกอบกับพระองค์พระปรีชาสามารถ ทั้งทรงมีพระราชอัธยาศัยละมุนละม่อน ทรงสามารถปลุกความจงรักภักดีในชนทุกชั้นที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน และทรงทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดี ทรงพระราชดำริตริตรองรอบคอบ โดยทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทย และของต่างประเทศประกอบกัน ด้วยพระปรีชาญาณอันยอดยิ่ง และทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองเป็นลำดับมาล้วนเหมาะสมกับเวลาและเหตุการณ์ ไม่ช้าเกินไปไม่เร็วเกินไป ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลในการเมืองการปกครองของประเทศไทย ทรงปรับเปลี่ยนระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์ เป็นการปกครองระดับกระทรวง ซึ่งในสมัยนั้นมี 12 กระทรวงดังกล่าวข้างต้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปตามยุคสมัย จนถึงต่อมาในปีพุทธศักราช 2545

- ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองโดยแบ่งออกเป็น 20 กระทรวง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงแรงงานและพัฒนาอาชีพ, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ละครั้งของประเทศ ย่อมนำมาซึ่งความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หากผู้นำดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยการศึกษาการล่วงหน้า และหลักการที่ล่วงไปแล้ว เพื่อนำมาพิจารณาวิเคราะห์ เลือกเวลาที่เหมาะสม ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข เทียบนานาอารยประเทศอย่างสง่างาม ***เอกสารอ้างอิง พระราชประวัติ 42 ปี แห่งการครองราชย์ สมเด็จพระปิยมหาราช โดยณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : กฤษณา พันธุ์มวานิช กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook