เป็นไปได้ - ไม่ได้ ประเทศไทย 'หิมะตก'
สมิทธ ธรรมสโรช - '...ในอดีตไม่ทราบว่าเคยมีหิมะตกหรือไม่ แต่ทางอุตุนิยมวิทยา ทางหลักการของฟิสิกส์ มันสามารถเป็นไปได้ อย่างในต่างประเทศ รัฐเทกซัสก็เคยเกิดหิมะตกมาแล้ว ประเทศไทยตอนนี้อากาศไม่แน่นอน อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้...' '...สยามประเทศ ปีชวด 2551 นี้ จะเป็นปีแห่งความอาเพศ ในปลายปีชวด 2551 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าแปลกมหัศจรรย์ จะเกิด 'หิมะตก' ในเมืองไทยไปทั่วทางภาคเหนือและอีสานบางส่วน ประชาชนทั้งคนไทยและทั่วโลกตื่นตกใจแทบช็อค เพราะไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย...' โหร 'โสรัจจะ' ได้ทำนายไว้ใน 'ศาสตร์แห่งโหร ปี 2551' หนังสือของสำนักพิมพ์ 'มติชน' นั่นคือคำทำนายตามหลักโหราศาสตร์ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามนี้ บางคนอาจกระดี้กระด้า เนื้อตัวเต้นระริก เตรียมรับมือกับความหนาวเย็นที่จะมาเยือนอย่างใจจดจ่อ จินตนาการถึงการวิ่งย่ำไปบนพื้นสีขาวโพลน ปั้นตุ๊กตาหิมะตัวกลมๆ มี หู ตา จมูก สวมหมวกและมีผ้าพันคอยืนเด่นเป็นสง่า คู่รักบางคู่อาจคิดภาพตอนที่กำลังหยอกล้อ ขว้างปาก้อนหิมะใส่กันอย่างสนุกสนาน...ซึ่งก็อาจมีบ้าง สำหรับคนที่ 'ขี้หนาว' และเกลียดความเยือกเย็น จนอยากที่จะขดตัวอยู่แต่ใต้ผ้าห่มผืนอุ่น เช่นกัน ย่อมมีคนที่คิดว่าปรากฏการณ์นี้เป็นวิกฤตที่ร้ายแรง ก่อนจะมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้สำหรับสถานการณ์ 'หิมะตกในประเทศไทย' ลองข้ามไปอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบูเอโนสไอเรส เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา ได้เกิดหิมะตกลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ตามถนนหนทาง ชาวอาเจนไตน์นับพันคน ส่งเสียงร้องแสดงความยินดี และเล่นขว้างปาหิมะกันอย่างสนุกสนาน หญิงวัย 82 ปีคนหนึ่ง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นหิมะในกรุงบูเอโนสไอเรส นั่นเป็นหิมะตกครั้งใหญ่ครั้งแรกในเมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา นับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน ปี 2461 แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยมี ฝนลูกเห็บ และฝนที่มีความเย็นจัด ตกลงมาอยู่บ้าง สำหรับประเทศไทย... กระแส 'หิมะตก' ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมากมายในโลกไซเบอร์เหมือนกัน ลองเอาบางความเห็นมาให้อ่านเล่นสนุกๆ Park_Jong_air : หิมะตกจริงๆ ก็ดีนะ จะได้เหมือนเกาหลี และที่สำคัญ เผื่อจะขาวขึ้นบ้าง ~HeeNim~ : ถ้าหิมะตกจริงๆ คนไทยอยู่ไม่ได้หรอก เพราะไม่คุ้นกับสภาพอากาศหนาวๆ เหมือนบ้านเมืองเขาที่ร้อนแบบบ้านเราตอนนี้ก็อยู่ไม่ได้ คิระจากยมโลก : ก็ดีใจอยู่ที่จะได้เห็นหิมะตกในไทย แต่แบบนี้ก็แสดงถึงความปั่นป่วนจากสภาวะโลกร้อน แสดงว่าโลกของเรากำลังจะแตกแล้วละสิเนี่ย ก็ต่างคิด ต่างจินตนาการกันไป... แต่!!! ในทางวิทยาศาสตร์ มันจะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่โหรทำนายไว้ได้จริงหรือ? ลองค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เพื่อที่จะหาว่าเคยมีครั้งใดหรือไม่ที่ประเทศไทยมีหิมะตก พบภาพถ่ายชุดหนึ่งเก่าเหลืองซีด เดาว่าน่าจะเป็นจากหนังสือพิมพ์เล่มใดสักฉบับ (ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด) ใต้ภาพนั้นมีคำบรรยาย ว่า...
'นี่เป็นภาพถ่ายในฤดูหนาวที่จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ วันนั้นเป็นวันที่ ๗ มกราคม เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ หลังจากฝนตกเล็กน้อย ลูกเห็บขนาดเล็กและเกล็ดน้ำแข็งบางๆ สีขาวคล้ายปุยหิมะ ก็ตกลงมาอย่างมากมายดูขาวโพลนไปทั่วแผ่นดิน' และอีกภาพหนึ่ง 'ถ่ายในวันรุ่งขึ้น หลังหิมะตก ๑๔ ชั่วโมง ที่เห็นเป็นพื้นขาวคือหิมะ อีก ๓๘ ชั่วโมงต่อมาจึงละลายหมดไป' สอบถามเอาความจริงจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ รวมถึงความเป็นไปได้ที่ในปีหน้าจะมีหิมะตกตามคำทำนาย คำตอบที่ได้รับจากบรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการเหล่านี้น่าฟัง ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ รวมถึงรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ บอกว่า ไม่เคยได้ข้อมูลและรู้ว่าเคยมีหิมะตกที่ จ.เชียงราย ส่วนคำทำนายของโหรที่ว่า ปี พ.ศ.2551 นั้นหิมะจะตก คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสน้อยมากที่มีหิมะตกในประเทศไทย คงเป็นได้แค่ลูกเห็บ หรือไม่ก็แม่คะนิ้งมากกว่า 'ในถิ่นที่มีหิมะตก จะเป็นเขตที่มีความหนาวอย่างต่อเนื่องมายาวนาน สภาพอากาศหนาวมากๆ ซึ่งพอเมฆแข็งตัว หนาวสุดสุด ก็จะโปรยมาเป็นละอองหิมะ เพราะหลังจากหิมะตก อุณหภูมิก็จะสูงขึ้น ไม่หนาวเท่าตอนแรก แต่สำหรับในประเทศไทย เราไม่ได้หนาวต่อเนื่องเหมือนบ้านเขา หากเกิดหิมะตก ก็คงจะเป็นแบบที่พายุที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ พัดมาชั่ววูบ แล้วก็หายไป' ยงยุทธกล่าว แต่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติท่านนี้ก็ยังบอกว่า ไม่น่าจะใช่หิมะเหมือนในเมืองหนาว
ทางด้าน ศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงค์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เคยให้สัมภาษณ์กับ 'มติชน' ว่า การที่จะมีหิมะตกในประเทศไทย คงเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าในภูมิภาคเดียวกันก็เคยเกิดที่ทางเหนือของประเทศพม่า ใกล้กับประเทศจีน เคยมีหิมะตกบ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่อยนัก สำหรับบ้านเราอย่างมากก็มีแค่แม่คะนิ้ง 'แม่คะนิ้ง' คือ ปรากฏการณ์ที่น้ำค้างแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็ง เกิดจากไอน้ำในอากาศใกล้พื้นดิน ลดอุณหภูมิลงจนถึงจุดน้ำค้าง ก่อนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ในขณะที่อุณหภูมิยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงจุดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (0 องศาเซลเซียส) น้ำค้างก็จะเกิดการแข็งตัวกลายเป็นน้ำค้างแข็ง 'กรณีที่จะเกิดหิมะตกได้ จะต้องมีอุณหภูมิติดลบต่ำกว่าศูนย์องศามากๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดเป็นลักษณะของเกล็ดหิมะได้ แต่ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์เมืองไทยไม่เคยปรากฏ แต่ถ้าหากจะมี ก็ยังไม่เรียกได้ว่าวิกฤต เป็นเพียงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น' ศุภฤกษ์กล่าว และทันทีที่โยนคำถาม 'เป็นไปได้ไหมที่ปีหน้า ประเทศไทยจะมีหิมะตก' กัณฑรีย์ บุญประกอบ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ถามกลับมาทันทีว่า 'ไปเอาข้อมูลนี้มาจากไหน?' 'อ่านมาจากคำทำนายของโหร' 'ไม่มีทาง ไม่น่าเป็นไปได้' อาจารย์ย้ำเสียงหนักแน่น 'ถ้าจะเกิด ก็คงเป็นแม่คะนิ้งทั่วไป ที่เกิดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว ตามเทือกเขาสูงๆ ไม่น่าจะเป็นหิมะที่โปรยปรายลงมาเหมือนในต่างประเทศ หรือหากคิดว่าจะมีหิมะตกในกรุงเทพฯนั้น ย่อมไม่ใช่แน่ๆ' การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นส่วนประกอบของบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน อาจารย์จากรั้วพ่อขุนยืนยัน 'หิมะตกในประเทศไทย คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก' ก่อนจะบอกว่า หากเป็นความวิกฤตแปรปรวน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์) ก็สามารถเกิดเหตุการณ์อย่างน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด วันร้อนยาวนานกว่าวันเย็น พืชผัก ผลผลิตทางการเกษตรล้มตายเสียหาย เกิดการขาดแคลนอาหาร อย่างนี้สามารถที่จะเป็นไปได้มากกว่าหิมะตก
ในบทความทางวิชาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาจารย์กัณฑรีย์ตอนหนึ่ง รายงานถึงผลกระทบที่จะเกิดจากวิกฤตนี้ไว้ว่า '..โลกร้อนจะส่งผลกระทบนานัปการต่อวิถีชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อความแปรปรวนของภูมิอากาศ ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝน รวมถึงระดับน้ำทะเล การไหลและหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจทำให้ระบบนิเวศบางแห่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้' สำหรับเรื่องที่ว่าหิมะเคยตกในประเทศไทย ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2498 อาจารย์กัณฑรีย์บอกว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ และก็บอกว่าคงเป็นแค่แม่คะนิ้ง หรือน้ำค้างแข็งตัวเท่านั้น ไม่น่าจะใช่การที่มีหิมะโปรยปรายลงมาจากท้องฟ้า จนทำให้พื้นขาวโพลน อ่านถึงตรงนี้ ภาพในจินตนาการของใครบางคนอาจหายไปพลัน เสียดาย!!! แต่ใช่หรือ เพราะในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายท่าน การที่ไม่มีหิมะตกนี่แหละเป็นสัญญาณที่ดี นั่นหมายถึง สภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปกติ แต่หากทุกอย่างมันกลับตาลปัตรไปหมด ประเทศไทยเกิดหิมะตก เทือกเขาสูงในประเทศทิเบตร้อนตับแตก... นั่น! อาจเป็นสัญญาณอันตราย และลองทบทวนดู การปรับตัวเพื่อคืนสู่สภาวะสมดุลของโลกแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับมวลมนุษยชาติมากมายขนาดไหน
สัมภาษณ์ สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา 'จากที่โหรทำนายว่าหิมะตกในประเทศไทยนั้น ก็มีความเป็นไปได้ หากมีพายุเข้ามาในฤดูหนาว ซึ่งก็เคยมีกรณีหิมะตกแล้วในต่างประเทศ ในภาคเหนือของประเทศไทยตอนนี้ก็ใกล้เคียง ถ้าอากาศหนาวใกล้ศูนย์องศาเซียลเซียส คือไม่จำเป็นต้องถึงศูนย์ อาจจะทำให้มีหิมะตกได้' 'แม่คะนิ้งนั้นก็ใกล้เคียงกับหิมะ สภาพอากาศที่เกิดแม่คะนิ้งได้ หากมีพายุเข้ามาก็เป็นหิมะตก เป็นไปได้' 'สำหรับในอดีตไม่ทราบว่าเคยมีหิมะตกหรือไม่ ทางประวัติศาสตร์ผมไม่รู้ แต่ทางอุตุนิยมวิทยา ทางหลักการของฟิสิกส์ มันสามารถเป็นไปได้ อย่างในต่างประเทศ รัฐเทกซัสก็เคยเกิดหิมะตกมาแล้ว ประเทศไทยตอนนี้อากาศไม่แน่นอน อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ตอนนี้ผมประชุมอยู่ที่เวียดนามเรื่องน้ำท่วม ซึ่งกรุงเทพฯน้ำกำลังจะท่วมเหมือนกัน' เรื่องประกอบ เพื่อนบ้านกับเรื่องของ'หิมะ'
หิมะตกในเวียดนาม ข่าวจาก 'เวียดนามนิวส์' เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ตีพิมพ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์หิมะตกในเวียดนาม ว่า-- 'ร่องความกดอากาศสูงที่พาดผ่านภาคเหนือของเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อุณหภูมิในเขตภูเขาภาคเหนือหนาวเย็นลงระดับ 2-4 องศาเซลเซียส ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์เวียดนามแจ้งว่า จังหวัดทางตอนบนสุดของประเทศอาจจะเผชิญอากาศที่หนาวเย็นลงอีก เวลาประมาณบ่าย 2 โมง วันศุกร์ (2 ก.พ.) ได้เกิดหิมะตกลงในเขตนิคมซาปา ของเมืองซาปา (Sa Pa) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศยอดนิยมใน จ.ล่าวกาย (Lao Cai) หิมะตกนานติดต่อกันราวครึ่งชั่วโมง แผ่ปกคลุมพื้นดินเป็นมวลบางๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หาดูได้ยากในเมืองนี้ หลังข่าวแพร่สะพัดออกไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปที่นั่น ทุกคนหวังอยากจะเห็นหิมะตกลงอีกสักครั้ง นักท่องเที่ยวนั่งมองทิวทัศน์จากห้องพักของเขาในซาปา ที่นั่นเป็นเมืองแห่งขุนเขา หิมะอาจจะเป็นข่าวดีสำหรับการท่องเที่ยว แต่สำหรับเกษตรกรในนิคมต่างๆ แถบนั้น มันเป็นข่าวร้าย เพราะหิมะได้ทำลายพืชผลของพวกเขา รวมทั้งไม้ดอกชนิดต่างๆ ที่เตรียมจะนำออกจำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษอีกด้วย ซาปาเป็นอีกท้องถิ่นหนึ่งที่มีการปลูกดอกไม้สวยงามและพืชเมืองหนาวต่างๆ ป้อนตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หิมะตกในพม่า มีหิมะตกที่รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับทิเบต จีน อินเดีย พื้นที่เต็มไปด้วยภูเขา โดยเฉพาะรอบเมืองปูเตาทางตอนเหนือสุด สำหรับยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมเป็นส่วนปลายของเทือกเขาหิมาลัย พรมแดนธรรมชาติกั้นพม่าจากจีน ชื่อ 'ยอดเขาพนกานราสี' (Phon Kan Razi) เมืองหลวงของรัฐชื่อ มิตจินา ประชากรส่วนใหญ่เป็นคะฉิ่น มีจำนวนประมาณ 1-1.5 ล้านคน กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่าคะฉิ่น ประกอบด้วยชนเผ่ากลุ่มย่อยๆ ที่สำคัญ 4 กลุ่ม ได้แก่ จิงเป่า ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด รองลงไปคือ อัตซิ ลาชิ และมารู
หิมะตกในอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์สูตร ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ระยะทางยาวจากตะวันตกถึงตะวันออกของประเทศประมาณ 3,000 ไมล์ ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ แต่มีคนครอบครองประมาณ 6,000 เกาะ เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 575,000 ตารางไมล์ แบ่งได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมู่เกาะซุนดาใหญ่, หมู่เกาะซุนดาน้อย, หมู่เกาะโมลุกกะหรือหมู่เกาะเครื่องเทศ และแคว้นอีเรียนตะวันตก บรรดาเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย ส่วนมากมีสันเขาอยู่ตอนกลางของเกาะ อุดมด้วยทรัพยากรป่าไม้ในเขตร้อน รอบๆ เกาะเป็นที่ราบแคบๆ ใช้ทำการเพาะปลูกได้ ฝั่งทะเลมักเป็นที่แฉะ มีพืชพรรณไม้ชายเลนขึ้นงอกงาม ภูเขาส่วนมากเป็นภูเขาไฟ บางยอดเป็นกรวยสูงมากจนมีหิมะปกคลุม มักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ในหมู่เกาะนี้ และในบรรดาเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย เกาะชวามีความสำคัญมากที่สุด เพราะมีดินอุดมสมบูรณ์มาก เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เรื่องโดย เชตวัน เตือประโคน